ธนาคารกรุงเทพ สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวมจำนวน 7,779.58 ล้านบาท แก่ ‘CKTC Joint Venture’ บริษัทร่วมทุนระหว่าง ช.การช่าง ของไทย กับ Tokyu Construction ของญี่ปุ่น เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ ถึง บางซื่อ สัญญาที่ 1 มูลค่าโครงการ 14,292 ล้านบาท
นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู รองผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้อนุมัติสนับสนุนวงเงินสินเชื่อรวม จำนวน 7,779.58 ล้านบาท แก่ ‘CKTC Joint Venture’ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ของประเทศไทย ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 70% กับ Tokyu Construction Co.,Ltd ของประเทศญี่ปุ่น ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 30% เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ ถึง บางซื่อ สัญญาที่ 1 ที่ได้รับจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่าโครงการรวม 14,292 ล้านบาท
นายชาญศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ ถึง บางซื่อ สัญญาที่ 1 จะเป็นส่วนโครงสร้างยกระดับส่วนตะวันออก โดยงานก่อสร้างครอบคลุมโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า (Viaduct) แบบยกระดับ ประกอบด้วย ฐานราก ตอม่อ เสา และคานกล่อง คอนกรีตเสริมเหล็ก (Segmental Box Girder) ความสูงประมาณ 17-19 เมตร วางต่อม่อกลางถนน ระยะห่างระหว่างตอม่อไม่เกิน 40 เมตร ระยะทางก่อสร้างรวมประมาณ 12 กิโลเมตร (ทางยกระดับ 11.88 กิโลเมตร ส่วนเชื่อมต่อใต้ดิน 0.13 กิโลเมตร) ซึ่งโครงสร้างทางวิ่งจะเป็นลักษณะเดียวกับรถไฟฟ้าบีทีเอส นอกจากนี้ยังรวมถึงการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า จำนวน 8 สถานี เริ่มจากสถานีเตาปูน (ต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินปัจจุบันที่สถานีบางซื่อ) สถานีบางซ่อน สถานีวงศ์สว่าง สถานีแยกติวานนท์ สถานีกระทรวงสาธารณสุข สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีศรีพรสวรรค์ สถานีแยกนนทบุรี 1 สิ้นสุดที่สะพานพระนั่งเกล้า ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อกับสัญญาที่ 2 โดยแต่ละสถานีมีความยาวประมาณ 250 เมตร กว้างประมาณ 18 เมตร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก โดยทั่วไปแต่ละสถานีจะมี 3 ชั้น มีทั้งรูปแบบชานชลากลางและชานชลาด้านข้าง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 1,350 วัน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ ถึง บางซื่อ นับเป็นโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่ภาครัฐ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับแหล่งเงินโครงการจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC: Japan Bank for International Cooperation) เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล บริเวณสถานีบางซื่อ สำหรับนำผู้โดยสารจากพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เข้าสู่โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับระยะทาง 23 กิโลเมตร สถานียกระดับ 16 สถานี โดยมีแนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณแยกเตาปูน ซึ่งมีสถานีเตาปูนเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง จากนั้นเส้นทางจะวิ่งไปตามถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถนติวานนท์ ถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระนั่งเกล้า ผ่านแยกท่าอิฐ แยกบางพลู แยกบางใหญ่ และเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนกาญจนาภิเษก สิ้นสุดโครงการที่บริเวณคลองบางไผ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีและศูนย์ซ่อมบำรุง
‘ด้วยความสัมพันธ์และเกื้อหนุนอันดีระหว่างกันที่มีมาแต่ยาวนาน การสนับสนุนทางการเงินของธนาคารกรุงเทพในครั้งนี้ นอกจากผลทางด้านธุรกิจกับ ช.การช่าง แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐบาล โดยเฉพาะที่ผ่านมาด้วยผลงานและความมีชื่อเสียงของ ช.การช่าง บริษัทรับเหมาก่อสร้างระดับชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ในฐานะผู้นำด้านธุรกิจก่อสร้างที่มีความสามารถในการพัฒนาการลงทุน และการดำเนินกิจการบริหารโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในระดับภูมิภาคอย่างมีคุณภาพและครบวงจร โดยมีผลการดำเนินงานด้านการรับเหมาก่อสร้างรวมไปถึงการเข้าลงทุนในธุรกิจสัมปทานสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ของทางภาครัฐบาล ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ โครงการ MRTA ก่อสร้างอุโมงค์และสถานีรถไฟฟ้ามหานคร โครงการวางระบบรางรถไฟฟ้ามหานคร โครงการทางด่วนบางนา-บางพลี-บางปะกง โครงการก่อสร้างทางพิเศษ บางพลี-บางขุนเทียน (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) โครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด โครงการสะพานพระราม 9 เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถสร้างรายได้ที่แน่นอนจากการลงทุนให้แก่ ช.การช่าง ทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จครั้งสำคัญในระดับประเทศ’ นายชาญศักดิ์ กล่าว