ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2552 ที่ผ่านมา ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบมีอัตราการเติบโตจากไตรมาสสอง สาเหตุน่าจะมาจากจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จบางประเภทเริ่มทยอยสร้างเสร็จเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เช่น โครงการคอนโดมิเนียม ที่ในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา มีจำนวนมากกว่า 25,000 หน่วย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากมาตรการลดหย่อนภาษี สำหรับผู้ซื้อหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยภายในปี 2552 จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างในไตรมาส 3 นี้ ยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเป็นการเติบโตในทุกกลุ่มทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลักในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปภาพรวมธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และวิเคราะห์ถึงภาวะของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปี 2552 ดังนี้
ประเด็นสำคัญธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาส 3 ปี 2552 ดังนี้
ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบไตรมาส 3 ปี 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยทั้งระบบในไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 1,686,064 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสสอง แต่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 ในไตรมาส 1 ปี 2552
ทั้งนี้การขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่มีการเปิดโครงการไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มทยอยสร้างเสร็จเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก การจัดงานกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงิน รวมถึงผลจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ มาตรการหักลดหย่อนภาษี (โดยหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ที่จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ในกรณีโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2552 ให้ได้รับการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมิน เป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท) แต่มาตรการดังกล่าวนี้จะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2552 ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยในการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงนี้
ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2552 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 922,510 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากปีก่อนหน้า ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.7 ในไตรมาส 2 และที่ขยายตัวร้อยละ 13.6 ในไตรมาส 1 ปี 2552 อย่างไรก็ตามแม้ว่ายอดคงค้างสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงก็ตาม แต่ยังมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบที่อยู่ที่ร้อยละ 7.4 ส่วนสาเหตุของการชะลอตัวของยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวในไตรมาส 2 นั้นน่าจะมาจากการชะลอการทำตลาดในผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินบางแห่ง โดยที่ผ่านมาแคมเปญการตลาดกระตุ้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่โดดเด่นจะอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์รายใหญ่เท่านั้น
ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ไตรมาส 3 ปี 2552 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาพรวมยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 762,958 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.1 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาส 2 และที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาส 1 ปี 2552 ทั้งนี้สาเหตุของการขยายตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจส่วนหนึ่งน่าจะมาจากโครงการ Fast Track ซึ่งเป็นหนึ่งในปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งมีจุดเด่นที่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 7 วัน นอกจากนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐยังได้จัดแคมเปญการตลาดอัตราดอกเบี้ยพิเศษในการจูงใจลูกค้า เช่น ลูกค้าในโครงการสินเชื่อ Fast Track ให้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยใหม่จากผู้ประกอบการ หรือให้กู้เพื่อปลูกสร้างบ้านใน อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3 เดือนแรกร้อยละ 1.50 เดือนที่ 4 –12 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.99 ปีที่ 2 – 3 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 2.00 หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00 เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในระยะที่เหลือของปีนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวเป็นบวกมากขึ้น โดยมีปัจจัยมาจากภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองของรัฐบาล ที่น่าจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มการจ้างงานที่น่าจะดีขึ้นตาม ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคที่กำลังมีความลังเลใจอาจจะกลับมาตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้
นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่น่าจะช่วยทำให้ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้แล้ว ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังมีปัจจัยเฉพาะแวดล้อมธุรกิจที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโต ได้แก่ มาตรการหักลดหย่อนภาษี (โดยหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ที่จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ในกรณีโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2552 ให้ได้รับการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมิน เป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท) ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้จะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2552 ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์คงจะหันมาเร่งทำแคมเปญกระตุ้นให้ลูกค้าเร่งซื้อ และโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเร่งการตัดสินใจของผู้บริโภค อาทิ การลดราคา การแจกของสมนาคุณ เป็นต้น รวมถึงการทำการตลาดร่วมกับสถาบันการเงินในการเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ลูกค้าโครงการเช่นกัน ซึ่งน่าจะช่วยมีผลทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงน่าที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตาม และการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างสถาบันการเงิน โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา สถาบันการเงินได้มีการระดมแคมเปญการตลาดอย่างหนัก อาทิ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ฟรีค่าธรรมเนียมต่าง หรือการแจกของสมนาคุณ ในช่วงงาน Chiangmai Money Expo ซึ่งน่าจะเป็นแรงหนุนให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4 มีการเติบโตขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4 ปี 2552 น่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากจากไตรมาส 3 ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2552 เพิ่มขึ้น ภายใต้เศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้น ทำให้คาดว่า การขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยรวมของระบบในปี 2552 น่าจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 6.9 – 7.4 หรือมีมูลค่าประมาณ 1,727,460- 1,735,100 ล้านบาท แต่ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 ในปี 2551 สำหรับสาเหตุของการที่ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอลงในปีนี้ น่าจะมาจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรงผู้บริโภคบางกลุ่มได้รับผลกระทบอย่างหนัก และถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้นก็ตาม แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มก็ยังคงไม่ฟื้นตัวตาม ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้จึงชะลอตัวลงจากปีก่อน รวมถึงธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเปราะบางสูง อีกทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้การขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของสถาบันการเงินต่อไป