แนวโน้มธุรกิจสายการบิน.. หวังท่องเที่ยว-ส่งออกหนุนธุรกิจฟื้น

ธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ประกอบกับปัจจัยทางการเมืองของไทยตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ธุรกิจสายการบินเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มของธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีไปจนถึงปีหน้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายด้าน เช่น ราคาน้ำมันซึ่งมีทิศทางกลับสู่ช่วงขาขึ้น ขณะที่การแข่งขันของธุรกิจจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มของธุรกิจสายการบินในช่วงข้างหน้า ดังต่อไปนี้

ธุรกิจสายการบินทั่วโลกไตรมาส 3/2552 ปรับตัวดีขึ้นแต่รวมทั้งปีคาดส่วนใหญ่ขาดทุน
ความถดถอยของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อธุรกิจสายการบินทั่วโลก ทำให้อุปสงค์ทั้งในด้านของการเดินทางของผู้โดยสารและการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศหดตัวสูง โดยในด้านการเดินทางของผู้โดยสาร ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้บริษัทต่างๆ ตัดลดงบเดินทางลง ประกอบกับการที่ผู้โดยสารจำนวนหนึ่งที่เคยเดินทางในชั้นพรีเมี่ยม (ชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาส) เปลี่ยนมาเดินทางในชั้นประหยัด ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารโดยรวมลดลง สำหรับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) นั้นอาจกล่าวได้ว่ามีผลระยะสั้นต่อการเดินทางของผู้โดยสาร

ขณะที่ด้านการขนส่งสินค้านั้น การที่ธุรกิจต่างก็พากันลดระดับสต็อคสินค้าคงคลังเพื่อลดต้นทุน ทำให้การสั่งซื้อสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนจำพวกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งนี้ การหดตัวอย่างรุนแรงของอุปสงค์ทำให้สายการบินมี capacity เหลือ และการแข่งขันก็ทำให้อัตราผลตอบแทน (Freight yield) ของสายการบินลดลงโดยเฉลี่ยกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

อย่างไรก็ดี เมื่อล่วงเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของปี ภาวะของธุรกิจสายการบินก็เริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้น โดย ผู้โดยสารสายการบินเริ่มกลับมาในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของยุโรปและสหรัฐฯ ขณะที่ด้านปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศก็กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากผลของการลดสต็อคสินค้าในช่วงก่อน ซึ่งทำให้ภาคการผลิตเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ปริมาณการขนส่งสินค้ายังหดคงตัวอยู่ ดังนั้น แม้ว่าธุรกิจมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แต่สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ก็ประเมินว่าในปี 2552 ธุรกิจสายการบินทั่วโลกจะยังคงขาดทุนรวมกันเป็นมูลค่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ธุรกิจสายการบินของไทยในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง
เช่นเดียวกับสายการบินทั่วโลก ธุรกิจการบินในไทยก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจเช่นกัน ด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงร้อยละ 12.1 (YoY) ขณะที่จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศหดตัวลงร้อยละ 3.5 ส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารของสายการบินส่วนใหญ่ลดลง ส่วนในด้านคาร์โก้ การลดลงของการค้าระหว่างประเทศจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ปริมาณสินค้าขาเข้าและขาออกหดตัวสูง โดยในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2552 ปริมาณการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหดตัวไปร้อยละ 22.6 (YoY) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบกับการดำเนินธุรกิจ คือ ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนซึ่งทำให้หลายประเทศออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ามาในไทย รวมถึงการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

อย่างไรก็ดี เมื่อดูผลประกอบการของสายการบินของไทยที่ผ่านมาประจำไตรมาสที่ 2/2552 พบว่าได้รับผลบวกจากการที่ราคาน้ำมันลดต่ำลง ประกอบกับการที่สายการบินลดต้นทุนโดยการปรับโครงสร้างองค์กรและลดเส้นทางบินที่ไม่ก่อให้เกิดกำไร ทำให้สายการบินรูปแบบปกติที่ไม่ใช่สายการบินต้นทุนต่ำ บางสายการบินมีผลการขาดทุนที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าแม้ว่ารายได้จะลดต่ำลง ทำให้อาจกล่าวได้ว่า การบริหารจัดการด้านต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก ในด้านของการขาย หลายสายการบินได้ทำโปรโมชั่นราคาที่ค่อนข้างแรงในช่วง low-season ขณะที่บางสายการบินจัดการขายบัตรโดยสารล่วงหน้าในราคาพิเศษเพื่อดึงดูดผู้โดยสาร ด้านกลุ่มสายการบิน low-cost ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายการบินปกติ สายการบินโลว์คอสต์บางรายมีผลประกอบการที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปี 2551 เนื่องจากผู้โดยสารหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุนการเดินทาง และการเดินทางในประเทศและในระยะทางสั้นๆ ระหว่างประเทศหดตัวน้อยกว่าการเดินทางไกลข้ามทวีป อย่างไรก็ดี ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากการปรับโครงสร้างเพื่อลดต้นทุน สายการบินโลว์คอสต์หลายแห่งยังได้ปรับตัวโดยการเพิ่มการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ อาทิ ค่าธรรมเนียมสัมภาระ เป็นต้น

ในช่วงไตรมาสที่ 3/2552 ภาวะตลาดทั้งด้านผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3/2552 และอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไม่ถึงร้อยละ 70 ในไตรมาสที่ 2/2552 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 75 ในไตรมาสที่ 3/2552 และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยการท่องเที่ยวมีสัญญาณที่ดีขึ้นหลังสถานการณ์ด้านการเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดเริ่มทรงตัว ขณะที่ด้านการส่งออก เมื่อย่างเข้าไตรมาสที่ 2/2552 คำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เริ่มกลับมาโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแผงวงจร และการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกสินค้าอื่นๆ น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการหดตัวของปริมาณการขนส่งสินค้าขาออกทางอากาศในเดือนกันยายน ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนๆ มาอยู่ที่ร้อยละ 6.7 (YoY)

สถานการณ์ทางด้านการท่องเที่ยวและการค้าที่ปรากฎสัญญาณที่ฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าธุรกิจสายการบินในช่วงที่เหลือของปีจะทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามทิศทางการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยและชาวต่างชาติที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นรวมทั้งภาคการค้าระหว่างประเทศที่น่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในด้านของจำนวนผู้โดยสาร1ไตรมาสสุดท้ายจะมีจำนวนรวมประมาณ 13.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับจำนวน 11.1 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปี 2551 และทำให้จำนวนผู้โดยสารรวมทั้งปี 2552 อาจหดตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวภายในประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาในฤดูท่องเที่ยว ส่วนการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ คาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีอาจจะกลับมาเติบโตเป็นบวกที่ร้อยละ 22 (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวถึงร้อยละ 27) และทำให้อัตราการขยายตัวรวมทั้งปี 2552 อาจหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 13

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจสายการบินของไทยจะมีปัจจัยความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในอนาคตทั้งจากราคาน้ำมันและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อแนวโน้มของธุรกิจและผลประกอบการของสายการบินในระยะต่อไป ได้แก่

ในด้านการแข่งขัน แม้ว่าแนวโน้มตลาดโดยรวมอาจค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ธุรกิจสายการบินของไทยยังคงเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง สำหรับเส้นทางระหว่างประเทศ สายการบินรูปแบบปกติของไทยมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันทั้งในกลุ่มลูกค้าระดับบนและลูกค้าระดับกลาง โดยในตลาดลูกค้าระดับบน การที่คู่แข่งมีการปรับปรุงและยกระดับการบริการ เช่น การปรับที่นั่งและสิ่งอำนวยความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร จะสร้างแรงกดดันต่อสายการบินของไทยในการแย่งชิงลูกค้าระดับชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาส ขณะที่สายการบินใหม่จากตะวันออกกลางก็เป็นคู่แข่งที่ต้องจับตามอง สำหรับลูกค้าระดับกลางที่เน้นความประหยัด อาจหันไปใช้บริการสายการบินโลว์คอสต์ที่มีการขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ในด้านเส้นทางภายในประเทศ สายการบินโลว์คอสต์บางรายมีแนวโน้มที่จะขยายส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มเที่ยวบินและการทำแคมเปญส่งเสริมการขาย ขณะที่ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการขยายฐานลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางผลประกอบการของผู้ให้บริการแต่ละราย ทั้งนี้ จากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว ประกอบกับอุปทานส่วนเกินที่ยังคงมีอยู่ แม้ที่ผ่านมาสายการบินหลายแห่งได้มีการลดจำนวนเครื่องที่นำออกมาให้บริการหรือลดจำนวนเที่ยวบินลงแล้วก็ตาม ทำให้น่าจะเห็นการทำโปรโมชั่นราคาอย่างต่อเนื่องของสายการบินต่างๆ โดยปัจจัยทางด้านอุปทานจะเป็นปัจจัยที่อาจกดดันอัตราผลตอบแทน (Yield) โดยเฉพาะค่าบริการขนส่งสินค้าให้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำไปจนถึงช่วงกลางปีหน้า

ทางด้านต้นทุน ราคาน้ำมันเจ็ทซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของเครื่องบินมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขณะที่แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ คาดว่าจะส่งผลกดดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งความผันผวนของราคาน้ำมันในระยะข้างหน้าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยท้าทายในการบริหารจัดการของธุรกิจการบินในระยะต่อไป

นอกจากปัจจัยด้านอุปสงค์อุปทานและต้นทุน สถานการณ์ทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของธุรกิจสายการบินในระยะข้างหน้า จะเห็นได้จากตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2551 ที่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งนำไปสู่การปิดสนามบินที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ขนส่งและโลจิสติกส์ และเหตุการณ์ในช่วงเดือนเมษายนปี 2552 ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอีก และมีแผนการสำรองเพื่อรองรับหากเกิดกรณีฉุกเฉิน

สรุปและข้อเสนอแนะ
ในปี 2552 วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจการบินทั่วโลกต้องเผชิญกับการขาดทุนเป็นมูลค่ามหาศาลต่อเนื่องจากในปี 2551 โดยจากการประเมินของ IATA คาดว่าโดยรวมทั้งปี 2552 ธุรกิจสายการบินทั่วโลกจะขาดทุนเป็นมูลค่ากว่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในแง่ของธุรกิจการบินในไทย ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3/2552 แนวโน้มของธุรกิจมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีไปจนถึงต้นปีหน้า ขณะที่ปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการกระเตื้องขึ้นของการส่งออก อย่างไรก็ดี การเติบโตของรายรับอาจไม่กลับมาขยายตัวมากนักเนื่องจากอัตราค่าโดยสารและค่าขนส่งที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าสภาพตลาดของการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจำนวนผู้โดยสารในช่วงไตรมาสสุดท้ายอาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13.6 ล้านคน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551) ทำให้จำนวนผู้โดยสารรวมทั้งปีอาจหดตัวประมาณร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากในปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 4.6 ขณะที่ปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 4/2552 คาดว่าอาจกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 22 (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 27) อย่างไรก็ดี การตกต่ำของการส่งออกทำให้ปริมาณการขนส่งทางอากาศรวมทั้งปีจะยังคงติดลบที่ประมาณร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งหดตัวร้อยละ 4 ส่วนแนวโน้มในปีหน้า คาดว่าตลาดของธุรกิจการบินน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ(การส่งออกและการท่องเที่ยว) โดยทั้งจำนวนผู้โดยสารและปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศรวมทั้งปี 2553 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวก

แม้ว่าสภาพตลาดโดยรวมจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าธุรกิจสายการบินของไทยจะยังคงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านโดยเฉพาะการแข่งขันที่รุนแรงในเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ซึ่งคู่แข่งในตลาดสายการบินรูปแบบปกติมีการปรับปรุงบริการและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกในเครื่อง ทำให้คุณภาพการให้บริการดีขึ้น อีกทั้งยังต้องเผชิญคู่แข่งจากสายการบินโลว์คอสต์ที่หันมาขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศมากขึ้น ขณะที่การบริหารจัดการต้นทุนในภาวะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกด้านหนึ่งในการรักษาอัตรากำไรของธุรกิจ

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น สายการบินในไทยต้องมีการปรับโครงสร้างของธุรกิจและองค์กรเพื่อให้อยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน สำหรับสายการบินโลว์คอสต์ ซึ่งใช้จุดขายด้านราคาและมีการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศค่อนข้างสูงนั้น การปรับลดต้นทุนโดยการปรับปรุงระบบให้เป็นในลักษณะ Self Service ให้มากที่สุดโดยการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย การจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านทางตัวแทนการขายเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก การจับมือเป็นพันธมิตร เช่น กับสายการบินอื่นเพื่อให้สามารถครอบคลุมเส้นทางการบินให้มากขึ้น รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง น่าจะช่วยดึงดูดผู้โดยสารและช่วยเรื่องต้นทุนได้ เช่นเดียวกัน สายการบินทั่วไปที่ไม่ใช่โลว์คอสต์ อาจควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากระบบไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทั้งในด้านการลดต้นทุนบุคลากรและเวลา และการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาด เช่น การใช้ Social Network เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์ ขณะเดียวกัน สายการบินยังควรที่จะคงมาตรฐานและปรับปรุงคุณภาพของการให้บริการอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาชื่อเสียง การยอมรับ และทำให้ผู้โดยสารประทับใจ ทั้งนี้ สายการบินสามารถหารายได้เพิ่มจากบริการเสริม เช่น การจัดการบริการอาหาร ของว่าง และเครื่องดื่มพรีเมี่ยมให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางในชั้นประหยัดแต่ต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มพิเศษ เป็นต้น ทั้งนี้ ขณะที่ธุรกิจยังคงต้องมีความระมัดระวังในการจัดการเรื่องการบริหารต้นทุนและกระแสเงินสด สายการบินอาจพิจารณาโอกาสเพื่อทำธุรกิจเชิงรุกในการเปิดเส้นทางใหม่ในภูมิภาค เช่น ขยายเส้นทางบินระหว่างเมืองหลักๆของประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่มีความผันผวนและมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้นโดยเฉพาะในปีหน้าซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจสายการบินในระยะต่อไป ทำให้ธุรกิจต้องคอยติดตามสถานการณ์และแนวโน้มทางด้านราคาอย่างใกล้ชิด โดยสายการบินต่างๆ ควรมีการเตรียมพร้อมในด้านการบริหารต้นทุน รักษากระแสเงินสดและควบคุมภาระหนี้ให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เพื่อให้สามารถฟันผ่าความท้าทายต่างๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังจะเริ่มฟื้นตัวไปได้