น้ำตาลไทย : โอกาสและลู่ทางขยายตลาด…หลังอาเซียนปรับลดภาษีปี 2553

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ภายหลังจากที่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนกำหนดให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มต้องปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆรวมทั้งน้ำตาลลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ยกเว้นบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าใหม่อันได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนามที่ขอเวลาปรับตัว โดยจะทยอยปรับลดภาษีน้ำตาลลงเป็นลำดับ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยต่อการเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางด้านการส่งออกน้ำตาลของไทยไปยังตลาดอาเซียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มอาเซียนยกเว้นไทย ส่วนใหญ่จะผลิตน้ำตาลได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการและจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ ส่วนไทยนั้น นอกจากจะสามารถผลิตน้ำตาลเพื่อบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอต่อความต้องการแล้ว ยังมีน้ำตาลเหลือเพื่อการส่งออกถึงกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณผลิตทั้งหมด และในจำนวนนั้นกว่าร้อยละ 37 เป็นการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สินค้าน้ำตาลของไทยจะได้รับประโยชน์จากการปรับลดภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยก็ยังคงต้องพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ การเพิ่มค่าความหวานของอ้อย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของน้ำตาลไทยให้สูงขึ้น ทั้งนี้เพราะผลจากการปรับลดภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ทำให้เกิดตลาดผู้บริโภคน้ำตาลกว่า 500 ล้านคน จูงใจและสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อาทิ ลาว กัมพูชา พม่า ทั้งที่เป็นการลงทุนเพาะปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลโดยตรงของนักลงทุนท้องถิ่น หรือการลงทุนโดยนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยอาศัยศักยภาพด้านการมีพื้นที่และแรงงานราคาถูกที่ใช้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศเหล่านี้มีน้ำตาลเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศในอนาคต รวมทั้งมีส่วนเหลือเพื่อการส่งออกจนแข่งขันกับน้ำตาลของไทยในตลาดอาเซียนและตลาดอื่นๆได้

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก โดยผลผลิตที่ได้จะใช้บริโภคในประเทศประมาณร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 70 จะส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศอื่นๆอาทิ อินเดีย และจีน แม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตน้ำตาลมากกว่าไทย แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ 1 ใน 3 อันดับแรกของโลก โดยผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับหนึ่งได้แก่ บราซิล สำหรับผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับสองนั้นแข่งขันกันระหว่างไทยและออสเตรเลีย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของแต่ละประเทศว่าจะมีมากน้อยเพียงใด สำหรับในปี 2552 นี้ ไทยมีผลผลิตที่สูงกว่าออสเตรเลีย จึงส่งผลให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลกโดยมีการส่งออกประมาณ 5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออกประมาณ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลาดส่งออกที่สำคัญอยู่ในเอเชียคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 90 ที่สำคัญได้แก่ ตลาดประเทศในกลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย อิรัก จีน ศรีลังกา และเกาหลีใต้ โดยคู่แข่งที่สำคัญทางด้านการส่งออกน้ำตาลของไทยได้แก่ ออสเตรเลียซึ่งมีตลาดเป้าหมายที่ประเทศในเอเชียเช่นเดียวกันกับไทย

และภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมจะปรับลดภาษีนำเข้าน้ำตาลลงเหลือร้อยละ 0 ทันทีในปี 2553 ยกเว้นอินโดนีเซียที่จัดน้ำตาลเป็นสินค้าในกลุ่มอ่อนไหวสูง โดยกำหนดภาษีนำเข้าไว้ที่ร้อยละ 30-40 ในปี 2553 ก่อนที่จะลดลงเหลือร้อยละ 5-10 ในปี 2558 ส่วนฟิลิปปินส์จัดสินค้าไว้ในกลุ่มอ่อนไหวจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0-5 ในปี 2553 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่อันประกอบไปด้วยเวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่านั้นแม้ว่าจะไม่ปรับลดภาษีลงมาเหลือร้อยละ 0 แต่อัตราภาษีที่จัดเก็บ ก็อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0-5 ในปี 2553 เท่านั้น

หากจะพิจารณาถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยจากการปรับลดภาษีนำเข้าน้ำตาลตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน คาดว่าไทยจะได้รับผลดีจากการขยายการส่งออกน้ำตาลไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีจำนวนประชากรถึงกว่า 500 ล้านคนได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่จะผลิตน้ำตาลได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าน้ำตาลชดเชย ซึ่งแหล่งที่นิยมนำเข้าก็ได้แก่ไทยเพราะมีผลผลิตน้ำตาลส่วนเกินจากการบริโภคและเพื่อส่งออกถึงร้อยละ 70 ของปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด อีกทั้งด้วยระยะทางการขนส่งที่ใกล้ทำให้สะดวกและมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำเมื่อเทียบกับน้ำตาลจากคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลียหรือบราซิล ในขณะเดียวกัน ไทยเองก็มีการสะสมและพัฒนาความรู้ เทคนิคการปลูกอ้อยและการเก็บเกี่ยวอ้อยรวมทั้งการลงทุนทางด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิตในโรงงานน้ำตาลมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีกหลายประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นพัฒนาการผลิตน้ำตาลเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ประกอบกับที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นฐานอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็ง จึงเป็นข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันที่สำคัญของไทย

โดยจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2552 ไทยมีการส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดอาเซียนประมาณ 1.59 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 565.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 36.5 จากปริมาณการส่งออกน้ำตาลทั้งหมด 4.36 ล้านตันมูลค่า 1,545.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียในสัดส่วนสูงที่สุดร้อยละ 50.9 ของปริมาณการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน รองลงมาได้แก่กัมพูชา(สัดส่วนร้อยละ 24.5)เวียดนาม(สัดส่วนร้อยละ 6.9) สิงคโปร์(สัดส่วนร้อยละ 6.5) ฟิลิปปินส์(สัดส่วนร้อยละ 4.3) ลาว(สัดส่วนร้อยละ 3.5) มาเลเซีย(สัดส่วนร้อยละ 2.9) พม่า(สัดส่วนร้อยละ 0.3) และบรูไน(สัดส่วนร้อยละ 0.2)

เป็นที่น่าสังเกตว่า การปรับลดภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน แม้ว่าจะส่งผลดีต่อไทย เพราะทำให้ต้นทุนทางด้านภาษีนำเข้าน้ำตาลของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศอาเซียนปรับลดลง ทำให้น้ำตาลของไทยสามารถแข่งขันกับน้ำตาลที่ผลิตในประเทศสมาชิกอาเซียนเอง รวมทั้งที่ผลิตจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนอาทิ ออสเตรเลีย และบราซิลได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ประเทศในอาเซียนบางรายที่ไม่สามารถแข่งขันกับน้ำตาลนำเข้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีได้ บางส่วน อาจต้องปรับลดพื้นที่เพาะปลูกอ้อยลงและหันไปปลูกพืชประเภทอื่นๆที่ตนเองเห็นว่ามีศักยภาพแข่งขันที่ดีกว่า อาทิ ปาล์มน้ำมัน หรือยางพาราของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย หรือข้าวของพม่ากัมพูชา ลาวและเวียดนาม ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกน้ำตาลเข้าไปทดแทน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ประเทศไทยจะมีศักยภาพการผลิตและขีดความสามารถรองรับการแข่งขันสินค้าน้ำตาลจากการปรับลดภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่ยังคงมีปัจจัยพึงระวังบางประการที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

การเพิ่มผลผลิตน้ำตาลของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ปัจจุบัน แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่จะผลิตน้ำตาลได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ แต่ผลจากการปรับลดภาษีนำเข้าน้ำตาลของกลุ่มประเทศอาเซียนภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน อาจจะผลักดันให้ประเทศสมาชิกในอาเซียนขยายและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลมากขึ้น เพื่อแข่งขันและปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ และลดผลกระทบจากน้ำตาลที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอื่นๆ รวมไปถึงการหาโอกาสส่งออกน้ำตาลไปยังกลุ่มผู้บริโภคในอาเซียนที่มีประชากรถึงกว่า 500 ล้านคน ทั้งนี้ การเพิ่มผลผลิตน้ำตาลอาจจะกระทำโดยนักลงทุนในท้องถิ่นเอง รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติ ที่สนใจเข้าไปลงทุนเพาะปลูกอ้อยและสร้างโรงงานน้ำตาลในประเทศอาเซียนอาทิ ประเทศลาว พม่า กัมพูชา โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพทางด้านการมีพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก รวมทั้งมีแรงงานราคาถูกที่ใช้เพื่อการเพาะปลูกและตัดอ้อยเป็นจำนวนมาก โดยสินค้าน้ำตาลจากประเทศเหล่านี้นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากอาเซียนแล้ว ในขณะเดียวกัน ยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากประเทศพัฒนาต่างๆทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย โดยล่าสุดมีนักลงทุนจากหลายประเทศทั้งจีน เวียดนาม รวมทั้งไทยเองที่สนใจเข้าไปลงทุนเพาะปลูกพืชเกษตรทั้งยางพารา ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง รวมถึงอ้อย ที่มีการลงทุนก่อนสร้างโรงงานน้ำตาลเพื่อแปรรูปวัตถุดิบอีกด้วย

คู่แข่งจากประเทศนอกกลุ่มเข้ามาแย่งตลาด ปัจจุบัน แม้ว่าน้ำตาลของไทยจะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกน้ำตาลรายสำคัญของโลก ทั้งบราซิลและออสเตรเลีย ด้วยข้อได้เปรียบทางด้านระยะทางขนส่งที่ใกล้ แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศคู่แข่งดังกล่าวก็เริ่มจะเพิ่มบทบาททางด้านการส่งออกมายังตลาดน้ำตาลในเอเชีย โดยเฉพาะตลาดกลุ่มอาเซียนเพิ่มมากขึ้น โดยมีข้อได้เปรียบด้านผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อไร่ที่สูงกว่าไทย(บราซิลประมาณ 12.5 ตันต่อไร่ ออสเตรเลียประมาณ 13.7 ตันต่อไร่ ส่วนไทยประมาณ 10.2 ตันต่อไร่) ทำให้มีต้นทุนการผลิตน้ำตาลเฉลี่ยต่ำ ในขณะเดียวกัน ผลจากค่าเงินของบราซิลที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ช่วยชดเชยต้นทุนทางด้านค่าขนส่งได้พอสมควร ทำให้บราซิลสามารถส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดระยะไกลได้เพิ่มขึ้น

การนำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากประเทศนอกกลุ่มเข้ามาแปรรูป นอกเหนือจากน้ำตาลจากประเทศคู่แข่งจะเข้ามามีบทบาทในตลาดอาเซียนแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการน้ำตาลของไทยกังวลอีกประการก็คือ การที่ประเทศในอาเซียนที่มีปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศไม่เพียงพอต่อการผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อบริโภคในประเทศ จะหันมานำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากต่างประเทศเพื่อแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายขาว ดังตัวอย่างเช่นมาเลเซีย ซึ่งทำสัญญานำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากบราซิลและออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการบริโภคในประเทศ แต่จากการปรับลดภาษีนำเข้าในปี 2553 ของประเทศในอาเซียน อาจจูงใจให้เกิดการผลิตเพื่อส่งออกมายังตลาดอาเซียนรวมทั้งไทยด้วย ซึ่งในอนาคตอาจมีประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆใช้กลวิธีดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยได้

ฉะนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยสามารถคงสถานะการแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งในตลาดอาเซียนต่อไป ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อยควรมีการวางแผนเตรียมความพร้อมไว้รองรับปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบโดยมีแนวทาง ดังนี้

ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาศักยภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลให้สูงขึ้น
1.การเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ ปัจจุบันผลผลิตอ้อยต่อไร่ของไทยค่อนข้างต่ำประมาณ 10.2 ตันต่อไร่ ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียมีผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 13-14 ตันต่อไร่ และบราซิลทำได้ 12.5 ตันต่อไร่ ทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยของไทยอยู่ในระดับซึ่งหากสามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยให้เทียบเท่าคู่แข่งคือ 13-14 ตันต่อไร่ในพื้นที่เพาะปลูกเดิมแล้ว ก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังสามารถส่งออกน้ำตาลไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้

2.การเพิ่มคุณภาพของอ้อย ที่ผ่านมาอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานจะมีค่าความหวานต่ำเพียงประมาณ 11-12 ซี.ซี.เอส ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียและบราซิลนั้นค่าความหวานของน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 13-15 ซี.ซี.เอส.ซึ่งค่าความหวานที่สูงจะหมายถึงปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหากมีการเพิ่มคุณภาพของอ้อยให้สูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลของไทยต่ำลง

สำหรับแนวทางในการเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ รวมทั้งการเพิ่มคุณภาพของอ้อยให้สูงขึ้นนั้น ภาครัฐควรมีการส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาพันธ์อ้อยที่ให้ผลผลิตและมีคุณภาพสูง นอกจากนี้ควรพิจารณาจัดหาปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชในราคาต่ำให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ประการสำคัญควรมีการจัดหาแหล่งน้ำรวมถึงระบบชลประทานให้เข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกอย่างทั่วถึง ซึ่งมาตรการต่างๆเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ต้นทุนการผลิตอ้อยลดลง ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้อย่างมั่นคง

การดูแลทางด้านแหล่งกำเนิดสินค้า
เพื่อเป็นการดูแลและป้องกันไม่ให้น้ำตาลจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้า โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากออสเตรเลียและบราซิลเข้ามาแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายขาวส่งเข้ามาจำหน่ายในไทย ดังนั้น ภาครัฐของไทยจำเป็นต้องเข้ามาตรวจสอบว่าสินค้าเหล่านั้นมีขั้นตอนการผลิตในอาเซียนคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าสินค้าหรือไม่ โดยจะต้องมีการตรวจสอบใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า(role of origin) จากประเทศสมาชิกอย่างเข้มงวด

กล่าวโดยสรุปแล้ว ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีศักยภาพและความพร้อมที่จะแข่งขันภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งในระยะต่อไปตลาดน้ำตาลในอาเซียนจะเปิดกว้างและให้โอกาสกับน้ำตาลจากประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิตและการแข่งขันที่สูงกว่าโดยเฉพาะไทย เข้าไปมีบทบาทในตลาดน้ำตาลมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากที่ทุกประเทศในอาเซียนปรับลดภาษีนำเข้าน้ำตาลลงมาเหลือร้อยละ 0 พร้อมๆกันทั้งหมด แต่กระนั้นก็ตาม อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยก็ควรมีการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพราะในอนาคตไม่อาจคาดเดาได้ว่า ประเทศในอาเซียนจะพยายามพัฒนาการผลิตอ้อยและน้ำตาลเพื่อปกป้องและรักษาอุตสาหกรรมภายในประเทศไว้ รวมทั้งส่งออกเข้ามาในตลาดของไทยหรือไม่ ขณะเดียวกัน ประเทศนอกกลุ่มอาเซียน เช่น ออสเตรเลีย และบราซิลเองก็อาจสามารถปรับลดต้นทุนการผลิตน้ำตาลให้ต่ำลงเพื่อชดเชยกับต้นทุนค่าขนส่งน้ำตาลมายังตลาดอาเซียน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ศักยภาพการผลิตที่เข้มแข็งจะช่วยให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยสามาถแข่งขันกับประเทศอื่นๆทั่วโลกได้