จากตัวเลขยอดขายรถยนต์ล่าสุดของเดือนตุลาคมที่ได้มีการรายงานออกมานั้น พบว่าเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 8.9 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2552 ที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศได้พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ร้อยละ 1.6 ซึ่งนอกเหนือจากเป็นเดือนที่ปกติมีการยอดขายสูงแล้ว ปัจจัยสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อเริ่มฟื้นกลับคืนมาตามลำดับ ส่งผลให้ตัวเลขยอดขายในประเทศ 10 เดือนแรกเหลือหดตัวลงเพียงร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวที่ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก และจากปัจจัยบวกที่ยังคงทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า การจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของค่ายรถต่างๆที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทิศทางของยอดขายรถยนต์ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้มีโอกาสสูงที่จะขยายตัวต่อเนื่อง และคาดว่าด้วยปัจจัยเดียวกัน ประกอบกับฐานตัวเลขที่ต่ำในปีนี้น่าจะทำให้การขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศดำเนินต่อเนื่องไปในปี 2553 ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยง เช่น อัตราเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงจากราคาสินค้าต่างๆ ความไม่ต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมืองซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่อาจสะดุดลงได้ ทำให้ในปีหน้าตลาดรถยนต์ในประเทศยังคงต้องเผชิญกับภาวะที่ท้าทายต่างๆอยู่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์แนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2552 และปี 2553 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2552…ภาพรวมทั้งปีหดตัวสูงจากหลากปัจจัยลบรุมเร้า
สภาวะตลาดรถยนต์ในปี 2552 นับว่าต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ถดถอยรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ประกอบกับวิกฤตราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศหดตัวลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 เป็นต้นมา จนกระทั่งผลกระทบจากวิกฤตเริ่มทุเลาลงช่วงปลายไตรมาส 3 ปี 2552 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในเดือนกันยายนที่ร้อยละ 1.6 และขยายตัวต่อเนื่องในเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 8.9 โดยทั้งรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์ได้ขยายตัวเป็นบวกทั้งสองตลาดในเดือนนี้ โดยมีปัจจัยหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องทำให้ต้นทุนสำหรับสินเชื่อรถยนต์ต่ำลง ทำให้ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มฟื้นกลับคืนมา ประกอบกับราคาน้ำมันที่แม้จะขยับสูงขึ้นแต่ไม่ผันผวนมากเหมือนในอดีตส่งผลความต้องการรถยนต์นั่งที่ประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะ รถยนต์นั่งที่สามารถใช้พลังงานทางเลือกได้มากขึ้น เช่น รถไฮบริด และรถยนต์ที่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ อี 85 พร้อมกับการที่ค่ายรถและดีลเลอร์ต่างจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะรถยนต์นั่งกลับมาฟื้นตัวได้ก่อนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งแม้จะได้รับปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องพึ่งทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตด้วยที่เพิ่งจะเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีของทุกปีจะมีการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โปซึ่งจะเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในช่วงปลายปี โดยในปีนี้มีหลายค่ายที่เตรียมนำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่ๆ รวมถึงรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ยอดขายในช่วง 2 เดือนหลังของปีนี้ขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เนื่องจากการหดตัวสูงของยอดขายในช่วง 8 เดือนแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าทิศทางของยอดขายรถยนต์โดยรวมปีนี้จะหดตัวลง โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศตลอดปี 2552 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 532,000 คัน ลดลงประมาณร้อยละ 13 จากปี 2551 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่ปี 2549
แนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2553…พลิกกลับมาขยายตัวต่อเป็นบวก
แม้ในปี 2552 ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งสำคัญนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลให้ยอดขายโดยรวมทั้งปีหดตัวค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามเมื่อเข้ามาสู่ปี 2553 หลากปัจจัยสนับสนุนคาดว่าจะส่งผลกระตุ้นตลาดรถยนต์ในประเทศรวมทั้งปี 2553 ให้กลับมาขยายตัวเป็นบวก โดยปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ประกอบด้วย
ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านการเงินและการคลังของประเทศต่างๆ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลดีโดยเฉพาะต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคกลับฟื้นคืนขึ้นมา
อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไปจนถึงช่วงกลางปี 2553 ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อมีต้นทุนในการให้สินเชื่อที่ต่ำ จึงเป็นโอกาสให้สามารถผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้การให้สินเชื่อได้ต่อเนื่อง
ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2552 โดยเฉพาะ ข้าว น้ำตาล และยางพารา ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรไทยมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนยอดขายรถยนต์ในประเทศโดยเฉพาะรถปิกอัพ ซึ่งมีลูกค้าจากภาคเกษตรเป็นฐานลูกค้าหลัก
การเปิดตัวรถรุ่นใหม่ หรือรถเซกเมนต์ใหม่เข้าสู่ตลาด ซึ่งในปีหน้านอกเหนือจากรถยนต์รุ่นใหม่ที่ได้เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ เช่น รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ที่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ อี 85 รวมถึงรถรุ่นใหม่ๆของค่ายรถที่มีฐานการผลิตเดิมอยู่ในประเทศไทยแล้ว ในปี 2553 เนื่องจากอัตราภาษีสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ภายใต้กรอบการเปิดเสรีต่างๆจะลดลงเหลือร้อยละ 0 โดยเฉพาะกรอบอาฟต้า จึงเป็นโอกาสให้รถยนต์จากต่างประเทศมีโอกาสเข้ามาทำตลาดในไทยได้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นโอกาสให้ไทยผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะ รถอีโคคาร์ ซึ่งจะมีบางค่ายเริ่มนำออกมาทำตลาดในปี 2553 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลในการกระตุ้นตลาดได้พอสมควร
อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความไม่ต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการลงทุน และการบริโภคลดลง ทำให้รถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยชนิดหนึ่งอาจจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงจากราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาน้ำมัน ซึ่งยังคงมีโอกาสผันผวนสูงในปีหน้า หลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้การเข้ามาเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมต่างๆ และผู้บริโภคแล้ว ทว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้ทิศทางตลาดรถยนต์มุ่งไปสู่รถยนต์เล็กที่ใช้พลังงานทางเลือกและประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์โดยเฉพาะรถปิกอัพอาจต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าว ส่วนความเสี่ยงที่สำคัญของไทยอีกประการ คือ ปัญหาทางการเมืองซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และมีผลต่อเนื่องมายังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่อาจสะดุดลงได้ และส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนลดลง ปัจจัยต่างๆดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ในปี 2553 ตลาดรถยนต์ในประเทศจะยังคงต้องเผชิญกับภาวะที่ท้าทาย
โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2553 จะอยู่ระหว่าง 570,000 ถึง 590,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 7 ถึง 11 จากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 13 ในปี 2552 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน และเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่อาจฉุดให้ตลาดเติบโตต่ำกว่าที่คาดได้ อย่างไรก็ตามด้วยปัจจัยบวกต่างๆ โดยเฉพาะการเข้ามาของรถเซกเมนต์ใหม่ของตลาด เช่น รถอีโคคาร์ ในช่วงต้นปี ประกอบกับฐานที่ต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวค่อนข้างสูงต่อเนื่องจากที่ตลาดรถยนต์เริ่มขยายตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552
อนึ่ง ในระยะต่อจากนี้รถยนต์นั่งขนาดเล็กและประหยัดพลังงาน จะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และทิศทางราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การลงทุนในโครงการรถอีโคคาร์จะเริ่มมีบทบาทในไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่มีรถยนต์นั่งขนาดเล็กและรถอีโคคาร์ เข้ามาแข่งขันในตลาด จะทำให้ตลาดรถระดับราคา 4 ถึง 6 แสนบาท มีประเภทรถยนต์เข้ามาแข่งขันมากขึ้น จากเดิมที่มีรถปิกอัพเป็นประเภทหลักที่ทำตลาดรถระดับราคาดังกล่าว อย่างไรก็ตามในปีหน้า แม้ราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ตลาดรถปิกอัพจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันมากนัก เนื่องจากรัฐบาลน่าจะยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำมันประเภทอื่นๆยกเว้นแก๊สโซฮอล์ อี 85อย่างไรก็ตามรัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ตลอด ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศจึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีรถประหยัดพลังงานขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านพลังงานชีวภาพ ประกอบกับภาครัฐของไทยให้การสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล ทำให้โอกาสที่จะมีการพัฒนารถยนต์ที่สามารถใช้พลังงานทางเลือกได้หลากหลายนอกเหนือจากโครงการรถอีโคคาร์ มีโอกาสเป็นไปได้สูงในอนาคต