ในปี 2552 การส่งออกรถยนต์ของไทยได้หดตัวลงเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้มีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไทยเริ่มส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศในปี 2539 โดยมีสาเหตุหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างมากนับตั้งแต่สหรัฐฯประสบกับปัญหาวิกฤตทางการเงิน ซึ่งยังคงมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้กิจกรรมการผลิตและการบริโภคในเกือบทุกภูมิภาคซบเซาลง ภาคอุตสาหกรรมหลายชนิด รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ในหลายๆประเทศทั่วโลกต้องประสบกับปัญหายอดขายหดตัวอย่างหนัก ประเทศไทยซึ่งในปี 2550 และ 2551 ได้เริ่มมีปริมาณการส่งออกรถยนต์มากกว่ายอดขายในประเทศอย่างชัดเจน ทำให้ผลกระทบจากวิกฤตอันนำมาซึ่งการนำเข้าที่ลดลงของตลาดหลักหลายประเทศ จนต้องมีการปรับลดกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดในช่วงที่ผ่านมา ทว่าจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะทิศทางการขยายตัวของประเทศเศรษฐกิจใหม่ซึ่งนับวันยิ่งกลายมาเป็นตลาดที่มีความสำคัญสำหรับรถยนต์ไทย ประกอบกับการวางกลยุทธ์ของบริษัทผู้ผลิตรถที่มีแนวโน้มให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เพื่อป้อนตลาดในภูมิภาค หลังอุตสาหกรรมรถยนต์โลกประสบวิกฤต และการเปิดเสรีในภูมิภาคอาเซียนที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ส่งผลให้ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2553 มีโอกาสที่จะกลับมาขยายตัว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปัจจุบันและทิศทางการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2553 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ปี 2552 การส่งออกรถยนต์ไทยหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศ
จากสถิติการส่งออกรายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศเป็นมูลค่า 5,827.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการหดตัวที่รุนแรงถึงร้อยละ 36.0 จากที่ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเคยส่งออกได้เป็นมูลค่าสูงถึง 9,110.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าการส่งออกรถยนต์แต่ละประเภทของไทยยังคงหดตัวสูง โดยประเภทรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ 26.8 ประเภทรถบรรทุกหดตัวร้อยละ 22.3 ขณะที่ประเภทรถกระบะหดตัวสูงถึงร้อยละ 48.6 และในบรรดาประเทศที่ไทยส่งออกรถยนต์ไปโดยเฉพาะประเทศที่ไทยส่งออกรถยนต์ไป 10 อันดับต้นๆ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันประมาณร้อยละ 70 ของมูลค่าตลาดส่งออกรถยนต์ไทยรวมนั้น พบว่า ตลาดส่งออกหลักเดิมทั้งของรถยนต์นั่ง และรถบรรทุก เช่น ออสเตรเลีย และบางประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้หดตัวลงอย่างมากในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 นี้ ขณะที่บางประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง กลับมีการขยายตัวดีสวนทางกับทิศทางตลาดส่งออกรถยนต์รวมของไทย ส่วนตลาดส่งออกรถกระบะของไทยยังคงหดตัวสูงเกือบทุกประเทศ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังคงส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตต่างๆที่ยังคงไม่ฟื้นตัวดีนักทำให้ตลาดรถกระบะในต่างประเทศยังคงเผชิญกับการหดตัวที่สูงอยู่แม้แต่ในประเทศเกิดใหม่
สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2552 นี้ จากทิศทางการฟื้นตัวขึ้นตามลำดับของเศรษฐกิจประเทศต่างๆซึ่งส่งสัญญาณให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อน คาดว่าจะส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกรถยนต์โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมนี้มีโอกาสที่จะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกสูง และจะเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปริมาณการส่งออกรถยนต์ไทยเริ่มหดตัวต่อเนื่องหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2551 และด้วยทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้นดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะส่งผลทำให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์ไทยปี 2552 หดตัวประมาณร้อยละ 31 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 34 ถึง 37 โดยคิดเป็นจำนวนประมาณ 533,000 คัน เพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เดิมที่ 490,000 ถึง 510,000 คัน
ปี 2553 การส่งออกรถยนต์ไทยพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวก
ในปี 2553 นี้คาดว่าปัจจัยบวกต่างๆที่เริ่มมีการส่งสัญญาณให้เห็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 นี้ จะช่วยกระตุ้นการส่งออกรถยนต์ไทยให้มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปี 2552 ซึ่งปัจจัยบวกต่างๆประกอบไปด้วย
ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศส่งออกรถยนต์หลักของไทย เช่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมการผลิตในประเทศเหล่านั้น รวมถึงความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มากขึ้น
แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งประเทศที่เป็นตลาดหลักของการส่งออกรถยนต์ของไทยหลายแห่งพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สูง เช่น ออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็ก โลหะพื้นฐาน และถ่านหิน เป็นต้น ตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งส่งออกน้ำมันขนาดใหญ่ อาเซียนที่เป็นแหล่งเพาะปลูกและส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิดของโลก เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลทำให้รายได้ของประชากรในประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นด้วย
การลดภาษีภายใต้กรอบการเปิดเสรีการค้าต่างๆ โดยเฉพาะกรอบอาฟต้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 โดยรถยนต์เป็นหนึ่งในสินค้าที่จะมีการลดภาษีนำเข้าให้เหลือร้อยละ 0 ทั้งหมดจากเดิมที่ได้มีการลดอัตราภาษีนำเข้าเบื้องต้นไปก่อนหน้านี้แล้วเหลือประมาณร้อยละ 0 ถึง 5 ในกลุ่มประเทศก่อตั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน ซึ่งคาดว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มเหล่านี้ได้มากขึ้น
การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดโดยเฉพาะรถอีโคคาร์ ซึ่งค่ายรถบางค่ายในไทยมีกำหนดที่จะผลิตและเปิดตัวรถรุ่นนี้เข้าสู่ตลาดในปี 2553 โดยตั้งเป้าที่จะส่งออกบางส่วนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับตลาดมีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจกับรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้มีโอกาสที่การส่งออกรถอีโคคาร์ไปต่างประเทศเติบโตได้
ฐานตัวเลขการส่งออกที่ต่ำค่อนข้างมากในปี 2552 นี้ ซึ่งการส่งออกรถยนต์ไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2551 ก็หดตัวลงต่อเนื่อง และหดตัวในอัตราที่สูงมากมาตลอดจนเข้าไตรมาส 4 ของปี 2552 จึงเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้การส่งออกรถยนต์ไทยในปี 2553 มีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากเนื่องจากฐานที่ต่ำในปี 2552 แต่ถึงกระนั้นการที่จะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตคาดว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาถึงประมาณ 3 ปีนับจากนี้
แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ไทยหลายประการ ทว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น โอกาสที่จะเกิดความไม่ต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะหากรัฐบาลแต่ละประเทศยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางใดทางหนึ่งไปในสภาวะที่เศรษฐกิจแม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวแล้วแต่ก็ยังคงมีความอ่อนแออยู่ โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลทำให้การบริโภคลดลง ทำให้รถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยชนิดหนึ่งอาจจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้แนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯที่มีโอกาสจะแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าในอัตราที่มากกว่าการแข็งค่าของค่าเงินประเทศอื่นในภูมิภาคมาก อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การส่งออกรถยนต์จากไทยเสียเปรียบทางด้านราคากับประเทศคู่แข่งได้ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงจากราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาน้ำมัน ซึ่งยังคงมีโอกาสผันผวนสูงในปีหน้า จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนอุตสาหกรรม และผู้บริโภคแล้ว ซึ่งทำให้ความสามารถในการซื้อรถยนต์ลดลง แต่ในทางกลับกันราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้พลังงานทางเลือกและประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยที่เริ่มมีการพัฒนาและขยายตลาดรถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดพลังงานมาระยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตามทิศทางตลาดดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถกระบะจากไทยอยู่บ้าง โดยส่วนแบ่งตลาดการส่งออกอาจจะลดลงไปจากเดิม ซึ่งผู้ประกอบการก็จำเป็นจะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับทิศทางตลาดโลกดังกล่าว และจากปัจจัยต่างๆดังกล่าวข้างต้นคาดว่าจะทำให้ในปี 2553 การส่งออกรถยนต์ไทยแม้จะมีโอกาสขยายตัวได้แต่จะยังคงต้องเผชิญกับภาวะที่ท้าทายอยู่
โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2553 จะอยู่ระหว่าง 575,000 ถึง 595,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 8 ถึง 12 จากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 31 ในปี 2552 โดยยังคงเผชิญกับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่อาจจะยังคงฉุดรั้งการเติบโตของตลาดอยู่ อย่างไรก็ตามหากไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบอาฟต้าได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอุปสรรค เช่น การกีดกันการค้าโดยใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) รูปแบบต่างๆจากประเทศผู้นำเข้า รวมถึงหากการตอบรับของตลาดต่อรถยนต์อีโคคาร์ซึ่งจะเปิดตัวในปี 2553 เป็นไปได้ดีกว่าที่คาด อาจจะผลักดันให้ตลาดเติบโตได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทำให้ในปี 2553 ไทยอาจจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ใกล้เคียง 1.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 จากที่คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 1 ล้านคันในปี 2552 อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะการผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับมาขยายตัวในปี 2553 แต่ทว่าการที่อุตสาหกรรมจะสามารถฟื้นตัวกลับมามีระดับการผลิตเท่ากับก่อนเกิดวิกฤตที่ 1.4 ล้านคันนั้น คาดว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาถึงประมาณ 3 ปีนับจากนี้
ในการนี้ภาครัฐมีส่วนอย่างยิ่งที่จะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในตลาดต่างประเทศ ทั้งจากการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเพื่อลดความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิตและกำไรจากการทำตลาด รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการในกรณีที่ประเทศผู้นำเข้ามีการนำมาตรการต่างๆที่ไม่ใช่ภาษีมาใช้เพื่อกีดกันการนำเข้ารถยนต์จากไทย และให้การสนับสนุนในด้านต่างๆที่สามารถทำได้ในการผลักดันโครงการรถอีโคคาร์ หรือโครงการรถประหยัดพลังงานอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะขึ้นมามีบทบาทในตลาดทดแทนการส่งออกรถกระบะซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักแต่เดิมของไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและวิกฤตราคาน้ำมัน ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางตลาดที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและลดมลพิษมากขึ้น
ส่วนผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ เนื่องจากตลาดส่งออกมีแนวโน้มแข็งขันกันสูงมากขึ้นท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังชะลออยู่นี้ จึงควรมุ่งเน้นเข้าหาตลาดศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง ซึ่งในระยะหลังนี้พบว่ามีการขยายตัวค่อนข้างดี เนื่องจากอาจได้รับประโยชน์จากรายได้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งมีราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมัน นอกจากนี้ควรใช้โอกาสที่ในปีหน้าประเทศในกลุ่มก่อตั้งอาเซียน 6 ประเทศจะมีการลดภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์เหลือร้อยละ 0 ทั้งหมด ในการหาช่องทางส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงอาศัยโอกาสที่ตลาดให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานมากขึ้นหันมาพัฒนารถยนต์ที่สามารถประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้พลังงานทางเลือกได้มากขึ้นสอดคล้องกับการให้การสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆจากภาครัฐอีกทางหนึ่ง ด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยอาจจำเป็นต้องมีการพัฒนาระดับมาตรฐานเทคโนโลยี รวมถึงบุคคลากร ให้มีความพร้อมเพื่อเตรียมรองรับตลาดรถยนต์รูปแบบใหม่ๆ เช่น รถยนต์นั่งขนาดเล็กอย่างอีโคคาร์ หรือรถประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะเป็นแนวโน้มการตลาดรถยนต์ในอนาคตอันใกล้นี้ไปพร้อมกันด้วย