คาดเฟดยืนดอกเบี้ยที่ 0.00-0.25% ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี

คาดเฟดยืนดอกเบี้ยที่ 0.00-0.25% ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี

ในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2552 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีกำหนดจะประชุมรอบสุดท้ายของปีเพื่อพิจารณาทิศทางนโยบายการเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ย Fed Funds และมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative easing measures) ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีความเปราะบาง และยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะกว่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ ผนวกกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังไม่เร่งตัวขึ้นมากจนบีบคั้นให้เฟดจำเป็นต้องรีบดำเนินการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินไปสู่สภาวะที่ผ่อนคลายน้อยลง/เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดน่าจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ในการประชุมวันที่ 15-16 ธันวาคม 2552 นี้ และอาจต่อเนื่องต่อไปอย่างน้อยจนถึงกลางปี 2553

โดยปัจจัยสนับสนุนมุมมองดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังนี้ :-

เศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัว แต่ยังต้องใช้เวลามากกว่านี้กว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ
เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯล่าสุด สะท้อนภาพว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของภาวะถดถอยมาแล้ว และส่วนใหญ่กำลังอยู่ในเส้นทางของการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่

จีดีพีไตรมาส 3/2552 (Second Estimate) พลิกกลับมาขยายตัวในแดนบวกที่ 2.8% (Quarter-on-Quarter Annualized) ได้เป็นครั้งแรกหลังจากที่หดตัวลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาสก่อนหน้าหรือตั้งแต่ไตรมาส 3/2551 (แม้ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่า 3.5% ตามการรายงานตัวเลขในรอบแรก) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างมากและต่อเนื่องของทางการสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การส่งออกก็ฟื้นตัวขึ้นสอดคล้องกับภาวะอุปสงค์ในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพต่อไปในปี 2553 โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเติบโตประมาณ 2.7% ในปี 2553 เทียบกับที่คาดว่าอาจหดตัวประมาณ 2.5% ในปี 25521 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของทางการมีแนวโน้มที่จะทยอยลดบทบาทลงในระยะถัดไป ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯยังมีข้อจำกัดทางการคลัง ภายใต้ฐานะดุลงบประมาณที่ขาดดุลในระดับสูง และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ยอดค้าปลีกเดือนพฤศจิกายน 2552 ขยายตัวจากเดือนก่อน 1.3% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันหลังจากที่ขยายตัว 1.1% ในเดือนตุลาคม และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.7% ขณะที่หากเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ยอดค้าปลีกขยายตัวเป็นบวกที่ 1.9% ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ทั้งนี้ แม้ว่าการฟื้นตัวของยอดค้าปลีกในเดือนพฤศจิกายนจะครอบคลุมหมวดรายการสินค้ามากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึงไปในทุกรายการสินค้า ในขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวในขอบเขตที่จำกัด อันเป็นผลจากภาวะอ่อนแอในตลาดแรงงาน ผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และความมั่งคั่งที่หดหายไปหลังเกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังเป็นหลักฐานที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

ภาคการผลิตและการบริการ สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) รายงานดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ยังไม่คงเส้นคงวา โดยดัชนีภาคการผลิตปรับลดลง แต่ยังบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว (มีระดับสูงกว่า 50) ขณะที่ภาคการบริการปรับลดลงผิดความคาดหมายของนักวิเคราะห์ และยังอยู่ในกรอบหดตัว (มีระดับต่ำกว่า 50) ซึ่งเป็นนัยที่บ่งชี้ว่า การฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพของทั้งภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐฯคงจะต้องอาศัยเวลาอีกพอสมควรจึงจะเกิดขึ้น และย่อมจะมีผลต่อการปรับตัวของตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน

ตลาดแรงงานฟื้นตัวแต่ยังอ่อนแอ แม้ว่าตัวเลขล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน การจ้างงานนอกภาคการเกษตรและอัตราการว่างงานจะปรับตัวแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาด แต่การปรับตัวดีขึ้นอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยเป็นที่คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯอาจมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ระดับสูงสุดใกล้ 11% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 และกว่าที่ภาคธุรกิจจะกลับมาจ้างงานเพิ่มอีกครั้งอาจจะไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ทั้งนี้ ภาพการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ นี้ คงจะมีผลทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
ภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับตลาดแรงงาน การฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯมีแนวโน้มทยอยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เห็นได้จากเครื่องชี้ต่างๆ อาทิ ยอดบ้านที่รอปิดการขาย ยอดขายบ้าน และดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ที่เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุด แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะได้รับแรงหนุนมาจากมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกในสหรัฐฯ (Tax credit measure) ที่ทางการสหรัฐฯได้ขยายเวลาการสิ้นสุดออกไปจากเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นเดือนเมษายน 2553 ในขณะที่ ผู้บริโภคสหรัฐฯยังอาจต้องเผชิญกับการถูกยึดทรัพย์จำนองเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยจำนองมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นหลังมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟดมีกำหนดจะทยอยสิ้นสุดระยะเวลาลงในอนาคต

ทั้งนี้ การปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ดังกล่าว เมื่อผนวกกับปัญหาในภาคสถาบันการเงินสหรัฐฯที่ยังคงมีอยู่ เห็นได้จากการที่สถาบันการเงินขนาดเล็กยังประสบกับภาวะล้มละลายและต้องปิดกิจการลง ในขณะที่สถาบันการเงินที่เหลือก็ยังอยู่ระหว่างการสะสางปัญหาหนี้เสียและยังมีความระมัดระวังในการขยายสินเชื่อ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณผ่านการรับซื้อหลักทรัพย์ต่างๆ ของเฟดจะทยอยหมดอายุลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษที่ระดับ 0.00-0.25% อย่างต่อเนื่อง น่าจะยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯให้ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ

แรงกดดันเงินเฟ้อยังไม่น่ากังวลมาก
ในมิติของความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อนั้น พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งที่วัดจากทางด้านผู้บริโภคและผู้ผลิตยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลจนเกินไปนัก โดยอาจมีแนวโน้มขยับขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานตามการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ยังมีค่อนข้างจำกัด

อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (PCE Inflation) ในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 0.2% (Year-on-Year: YoY) หลังจากที่มีค่าติดลบในช่วง 5 เดือนก่อนหน้า ขณะที่ หากไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 1.4% (YoY) ขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 1.3% ในเดือนก่อนหน้า

อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Inflation) ในเดือนตุลาคม มีค่าอยู่ในแดนลบที่ 0.2% (YoY) ซึ่งเป็นอัตราติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า อัตราเงินเฟ้ออาจมีระดับเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.1% ในปี 2553 เทียบกับที่อาจติดลบประมาณ 0.4% ในปี 25522

อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้ผลิตสำหรับสินค้าขั้นสุดท้าย (PPI Inflation for finished goods) ในเดือนตุลาคม 2552 ยังคงมีค่าติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 หรือนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ที่ร้อยละ 1.9 (YoY) ขณะที่ หากไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 0.7% (YoY) เทียบกับที่อยู่ที่ 1.8% ในเดือนกันยายน

จากภาพการปรับตัวของเงินเฟ้อดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดน่าจะยังพอมีความยืดหยุ่นที่จะให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยหากจะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับต่ำเป็นพิเศษในปัจจุบันไปสู่ระดับที่ผ่อนคลายน้อยลง/เป็นปกติมากขึ้น (Neutralized) ก็น่าที่จะเกิดขึ้นเมื่อเฟดมีความมั่นใจมากพอต่อการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิมในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2552 และอาจต่อเนื่องต่อไปจนถึงกลางปี 2553 เป็นอย่างน้อย ขณะที่ เฟดน่าจะทยอยลดบทบาทของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative easing measures) ลงโดยไม่มีการต่ออายุโครงการรับซื้อหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ จากกำหนดเวลาที่จะทยอยสิ้นสุดภายในไตรมาสแรกของปี 2553 นอกจากนี้ เฟดน่าจะยังคงส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกระยะ เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และควบคุมการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ของตลาดให้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและไม่บั่นทอนเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ภายใต้สถานการณ์ที่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสหรัฐฯเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของจีดีพี เครื่องชี้การใช้จ่ายของผู้บริโภค อาทิ ยอดค้าปลีก และตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่การฟื้นตัวของเครื่องชี้เหล่านั้น ได้รับแรงหนุนที่สำคัญมาจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างมากและต่อเนื่องของทางการสหรัฐฯ ขณะที่ภาวะตลาดแรงงานและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอและยังต้องใช้เวลามากกว่านี้กว่าจะฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่ (เป็นที่คาดว่าอัตราการว่างงานสหรัฐฯอาจขยับเข้าสู่ระดับสูงสุดใกล้ 11% ภายในครึ่งแรกของปี 2553 เทียบกับที่อยู่ที่ 10% ในเดือนพฤศจิกายน 2552) ความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจึงเป็นหลักฐานที่ต้องรอการยืนยันในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ กำลังมีแนวโน้มที่จะทยอยลดบทบาทลงในระยะถัดไป ขณะที่ฐานะดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะของสหรัฐฯก็อาจจะเป็นข้อจำกัดทางการคลังสำหรับการใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมในอนาคต

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษที่ระดับ 0.00-0.25% อย่างต่อเนื่อง น่าจะยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯให้ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งเฟดก็น่าจะยังพอมีความยืดหยุ่นให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะจากฝั่งอุปสงค์ที่ยังมีค่อนข้างจำกัด และหากจะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับต่ำเป็นพิเศษในปัจจุบันไปสู่ระดับที่ผ่อนคลายน้อยลง/เป็นปกติมากขึ้น (Neutralized) ก็น่าที่จะเกิดขึ้นเมื่อเฟดมีความมั่นใจมากพอต่อการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจสหรัฐฯแล้วเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 เป็นอย่างเร็ว

อนึ่ง จากมุมมองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่ระดับต่ำต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่น่าจะเกิดขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปดังกล่าว ทำให้คาดว่า การลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐฯอาจยังมีแนวโน้มน่าดึงดูดน้อยลงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ (ถึงแม้ว่าอัตราผลตอบแทนระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอาจจะมีแนวโน้มขยับขึ้นในระยะข้างหน้าเมื่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟดสิ้นสุดอายุลงก็ตาม) เมื่อผนวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในลักษณะที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นในดูไบ คงจะส่งผลให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศยังมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยก็น่าจะได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เพื่อรักษาสมดุลเสถียรภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและค่าเงินบาท ทางการและภาคธุรกิจเอกชนของไทยคงจะต้องเตรียมรับมือกับโจทย์ที่ท้าทายนี้นอกเหนือไปจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในประเทศอย่างประเด็นการเมืองและความไม่ชัดเจนของการลงทุนในบางสาขาว