กรุงเทพฯ 16 ธันวาคม 2552 – เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก เผยผลการศึกษาสมรรถนะ ระบบการทำงานและรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2552 (Automotive Performance, Execution and Layout – APEAL) พบว่า บทบาทของประสิทธิภาพเครื่องยนต์ / ระบบเกียร์สำหรับรถยนต์นั่ง และเครื่องเสียง / ระบบความบันเทิง/ระบบนำทางในกลุ่มรถกระบะ ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในมุมมองของเจ้าของรถยนต์ใหม่ในประเทศไทย ขณะที่การให้ความสำคัญต่อความประหยัดน้ำมันกลับลดลงในทุกกลุ่มตลาดรถยนต์
ปีนี้นับเป็นปีที่ 7 ของการศึกษาสมรรถนะ ระบบการทำงาน และรูปลักษณ์ หรือ APEAL ซึ่งใช้คำตอบของผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นเกณฑ์วัดถึงปัจจัยที่สร้างความพึงพอใจที่เจ้าของรถมีต่อสมรรถนะ และการออกแบบของรถยนต์คันใหม่ของพวกเขา ในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษาได้พิจารณาคุณลักษณะของรถยนต์ถึงเกือบ 100 คุณลักษณะ ซึ่งครอบคลุมระบบการทำงานของรถยนต์ 10 หมวด ได้แก่ ภายนอกตัวรถ ภายในตัวรถ พื้นที่เก็บของ และพื้นที่ว่าง เครื่องเสียง/ ความบันเทิง/ ระบบนำทาง ที่นั่ง ระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC) สมรรถนะในการขับขี่ เครื่องยนต์/ ระบบเกียร์ ทัศนวิสัย/ ความปลอดภัยในการขับขี่ และความประหยัดน้ำมัน ผลที่ได้จากการศึกษา APEAL จะถูกใช้เป็นค่าดัชนีในการให้คะแนนโดยอิงอยู่กับจำนวนเต็ม 1,000 คะแนน และยิ่งได้คะแนนสูงยิ่งหมายถึงระดับความพึงพอใจที่สูงขึ้น
สำหรับคะแนนเฉลี่ยของภาพรวมจากการศึกษา APEAL ในปี 2552 อยู่ที่ 871 คะแนน ลดลงจากปี 2551 อยู่ 5 คะแนน โดยมีถึง 7 หมวดด้วยกันที่มีระดับความพึงพอใจจากการศึกษาในปีนี้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว และมีแค่ 3 หมวดเท่านั้นที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นในปี 2552 ซึ่งก็คือ ความประหยัดน้ำมัน, ที่นั่ง, และระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC)
“สำหรับการศึกษาในปี 2552 นี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าระดับความพึงพอใจลดลงใน 7 หมวด และเพิ่มขึ้นเพียงแค่
3 หมวดเท่านั้น’ โลอิค เปอ็อง ผู้จัดการประจำประเทศไทย เจ.ดี. พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก กรุงเทพ กล่าว ‘ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้น ในขณะเดียวกับที่คุณภาพของการผลิตรถยนต์ก็ได้รับการปรับปรุงเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่จะต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างผ่านทางงานออกแบบและสมรรถนะของรถยนต์”
ผลการศึกษารุ่นรถในแต่ละกลุ่ม
ฮอนด้า แจ๊ซ ทำคะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น (Entry Midsize Car) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันโดยมีคะแนน APEAL อยู่ในระดับ 869 คะแนน ส่วนนิสสัน ทีด้า (856 คะแนน) และโตโยต้า ยาริส (851 คะแนน) ตามมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ในกลุ่มนี้
สำหรับกลุ่มตลาดรถยนต์ขนาดกลาง (Midsize Car) ฮอนด้า ซีวิคทำคะแนนสูงสุดด้วยตัวเลข 880 คะแนน ตามด้วย มาสด้า3 (878 คะแนน) และโตโยต้า โคโรลล่า อัลติส (875 คะแนน)
ในกลุ่มรถยนต์ SUV (รถอเนกประสงค์กึ่งสปอร์ต) อีซูซุ มิว-7 (897 คะแนน) ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มนี้ ตามด้วยมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต (884 คะแนน)
ในกลุ่มรถกระบะมีแค็บ (Pickup Extended Cab) โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ สมาร์ทแค็บ (897 คะแนน) ติดอันดับสูงสุด ตามด้วยอีซูซุ ดีแมคซ์ สเปซแค็บ/โรดีโอ (882 คะแนน)
ในส่วนของกลุ่มรถกระบะ 4 ประตู (Pickup Double Cab) โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ (897 คะแนน) ทำคะแนนสูงสุด ตามด้วย โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ (884 คะแนน)
ผลการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับตลาดรถยนต์
การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า เจ้าของรถกระบะและรถอเนกประสงค์ ในประเทศไทยมีระดับความพึงพอใจโดยเฉลี่ยในรถยนต์ของตัวเองมากกว่าเจ้าของรถยนต์นั่ง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ภาพรวมของคะแนนความพึงพอใจในกลุ่มเจ้าของรถยนต์นั่งไม่สูงมากเท่ากับกลุ่มเจ้าของรถกระบะ และรถอเนกประสงค์ แต่ภาพรวมความพึงพอใจในกลุ่มเจ้าของรถยนต์นั่งมีคะแนนรวมในปีนี้เพิ่มขึ้นจากการศึกษาเมื่อปี 2551 อยู่ 3 คะแนน โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 862 คะแนน ในขณะเดียวกันภาพรวมความพึงพอใจในกลุ่มเจ้าของรถกระบะและรถอเนกประสงค์ ในปีนี้กลับลดลงจาก ปี 2551 ถึง 6 และ 3 คะแนนตามลำดับ
“ในปี 2552 เราสังเกตได้ว่าผู้บริโภคให้ความสนใจในรถยนต์นั่งมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะว่ารถยนต์แต่ละรุ่นในกลุ่มนี้ได้รับการปรับปรุงในเรื่องความประหยัดน้ำมันของรถยนต์อย่างเห็นได้ชัด” เปอ็อง กล่าว “อย่างไรก็ตาม ระดับความพึงพอใจโดยเฉลี่ยของกลุ่มรถกระบะยังคงสูงกว่าในกลุ่มของรถยนต์นั่ง ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่ารถกระบะยังคงเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ ในเมืองไทย”
นอกจากนั้น การศึกษาครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ในกลุ่มเจ้าของรถยนต์ที่มีระดับความพึงพอใจสูงมาก (คะแนนเฉลี่ย 900 หรือมากกว่า) นั้น 81% ของบุคคลในกลุ่มนี้กล่าวว่า พวกเขาจะแนะนำรถรุ่นที่เขาซื้อให้ผู้อื่น ”อย่างแน่นอน” ต่างจากกลุ่มเจ้าของรถยนต์ที่มีความพึงพอใจระดับที่ต่ำกว่า ซึ่งในกลุ่มนี้น้อยกว่า 59 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าพวกเขาจะแนะนำรถรุ่นที่เขาซื้อให้ผู้อื่น” อย่างแน่นอน”
“เพื่อรักษาลูกค้าเดิมเอาไว้ และให้ลูกค้าบอกต่อถึงยี่ห้อรถยนต์ที่ตัวเองกำลังใช้อยู่นั้น ผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นจะต้องให้ความสนใจต่อการผลิตรถยนต์ที่มีคุณสมบัติและการออกแบบที่ให้ความพึงพอใจเกินกว่าที่เจ้าของรถยนต์ได้คาดหวังไว้เพื่อที่จะให้พวกเขาได้รับความพึงพอใจอย่างแท้จริง” เปอ็องกล่าว “ตรงนี้อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่อธิบายได้ว่าทำไมเจ้าของรถยนต์ใหม่ใน ประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับระบบเครื่องเสียงและระบบนำทางเพิ่มขึ้น”
การศึกษาวิจัยเรื่องสมรรถนะ ระบบการทำงาน และรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2552 นี้ จัดทำขึ้นโดยทำการประเมินผลจากเจ้าของรถใหม่ จำนวน 3,518 ราย ที่ซื้อรถยนต์ใหม่ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552 การศึกษาได้ทำการสำรวจรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวน 58 รุ่น จากรถยนต์ 11 ยี่ห้อ และเก็บข้อมูลในภาคสนามตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงกันยายน 2552