แนวโน้มตลาดสินค้าไอทีปี 2553 : ตลาดเริ่มสดใส…

ตลาดสินค้าไอที (ซึ่งรวมถึงสินค้าประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์เอกสาร มอนิเตอร์ ยูเอสบี เมมโมรี่ กล้องดิจิทัล รวมทั้งเครื่องจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่ใช้ในองค์กรขนาดใหญ่ เป็นต้น แต่ไม่รวมสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่) เริ่มมีความคึกคักมากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2552 และเมื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวนั้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตสินค้าไอที (เจ้าของแบรนด์สินค้า) ก็ได้เริ่มทยอยเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ออกมาสู่ตลาด ในขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าไอทีสมัยใหม่ต่างเร่งทำแคมเปญการตลาดกระตุ้นกำลังซื้อกันอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามภาพรวมตลอดทั้งปี 2552 มูลค่าตลาดสินค้าไอทีน่าจะยังคงหดตัว โดยคาดว่า จะมีมูลค่าประมาณ 72,500 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 4.9 ซึ่งลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 11.1 ในปี 2551 การปรับลดลงของมูลค่าตลาดไอทีนอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ลดลง โดยเฉพาะการลงทุนในส่วนของภาครัฐ และภาคเอกชนแล้ว สาเหตุอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากราคาของสินค้าต่างๆ ที่มีราคาถูกลง เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้มีการพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้สินค้าบางรุ่นมีการปรับราคาลง อีกทั้งสินค้าใหม่โดยส่วนใหญ่มีราคาที่ถูกลง

สำหรับแนวโน้มตลาดสินค้าไอทีในปี 2553 นี้ การแข่งขันในตลาดสินค้าไอทีน่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น ตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยหนุน ปัจจัยลบที่มีผลต่อการขยายตัวของตลาดสินค้าไอที รวมถึงกลยุทธ์การตลาดของผู้ประกอบการ และวิเคราะห์ถึงสินค้าที่น่าจะสามารถทำตลาดได้ดีในปี 2553 ดังนี้

แนวโน้มตลาดไอทีปี 2553 : คึกคักรับเศรษฐกิจฟื้น … คาดมูลค่าขยายตัวร้อยละ 10.5- 18.5

ตลาดไอทีนับว่าเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ ซึ่งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2552 ที่ผ่านมานั้น สินค้าในกลุ่มไอทีบางตัวยังคงสามารถเติบโตได้ดี เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคบางกลุ่ม รวมถึงภาคธุรกิจอย่างมาก ทำให้ความต้องการใช้เทคโนโลยียังคงมีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มตลาดสินค้าไอที ในปี 2553 คาดว่า น่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อตลาดเริ่มมีปัจจัยบวกมากขึ้นทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคเอกชน นโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์ราชการทั่วประเทศ การส่งเสริมให้เด็กนักเรียนและประชาชนทั่วไปให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง รวมถึงวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่มีความเจริญก้าวหน้า อำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การติดต่อสื่อสารข้ามประเทศผ่านการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน อาทิเช่น Facebook และ My Space เป็นต้น จากความนิยมที่แพร่หลาย ประกอบกับเทคโนโลยีที่เข้ามาสนับสนุน ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าไอทีของผู้บริโภค นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังมีผลต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน อาทิเช่น การใช้สื่ออินเตอร์เน็ตในการโปรโมทสินค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการขยายตัวของตลาดสินค้าไอทีในปี 2553 นี้ ยังคงมีปัจจัยลบที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาด อาทิเช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง และปัญหาความไม่แน่นอนการเมืองในประเทศที่อาจจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขาดความต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดสินค้าไอทีในปี 2553 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 79,500 – 85,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 10.5 – 18.5 จากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 4.9 ในปี 2552 ซึ่งสาเหตุของการขยายตัวนอกจากจะมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภครายย่อยที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ตลาดแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากภาคเอกชนที่คาดว่าน่าจะมีการลงทุนด้านไอทีภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ในสถานศึกษา ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งปี 2553 -2555 โดยจะมีโครงการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 482,000 เครื่อง ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศประมาณ 31,821 โรงเรียน และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง รวมมูลค่าโครงการประมาณ 17,894 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2553 น่าจะเห็นการเติบโตในทุกกลุ่มสินค้า โดยผู้ประกอบการเริ่มมีการนำสินค้าไอทีพร้อมเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทำตลาดมากขึ้น สำหรับตลาดคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และมีมูลค่ามากกว่าร้อยละ 65 ของตลาดสินค้าไอที ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การแข่งขันในตลาดคอมพิวเตอร์น่าจะมีความรุนแรงในทุกกลุ่มสินค้า ไม่ว่าจะเป็นตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือตลาดคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา โดยคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็กอย่าง Smartbook น่าจะทำให้ตลาดคอมพิวเตอร์ขนาดพกพามีความคึกคักในปีนี้ ทั้งนี้คอมพิวเตอร์ Smartbook เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กกว่าเน็ตบุ๊ก แต่ยังคงประสิทธิภาพในการใช้งาน โดยมีจุดเด่นตรงที่ประหยัดพลังงาน และมีราคาที่ถูกกว่าเน็ตบุ๊ก ซึ่งเป็นสินค้าที่น่าจะมาสร้างสีสันในตลาด

นอกจากนี้คอมพิวเตอร์ขนาดพกพาโน้ตบุ๊กยังมีโปรเซสเซอร์ตัวใหม่ที่จะทำให้คอมพิวเตอร์มีราคาถูกลงและมีขนาดที่เล็กลง ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาเป็นจุดเด่นของตลาดคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาในปี 2553 และน่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้ตลาดคอมพิวเตอร์ขนาดพกพามีการเติบโต ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดคอมพิวเตอร์ในปี 2553 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 53,290 – 57,290 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 8.1 – 16.3 เพิ่มขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2552

สำหรับตลาดสินค้าไอทีอื่นที่น่าจะเติบโตได้ดีในปี 2553 คือ ตลาดฮาร์ดดิสก์พกพา และกล้องดิจิทัล โดยคาดว่า ฮาร์ดดิสก์พกพาเป็นสินค้าที่จะมีการเติบโตที่ดี เนื่องจากปัจจุบันความต้องการในการเก็บข้อมูลในรูปแบบของไฟล์ภาพ เพลง วิดีโอ และข้อมูลมีมากขึ้น ซึ่งตลาดฮาร์ดดิสก์พกพาในปี 2553 นี้ คงจะเน้นไปในเรื่องของขนาดความจุของฮาร์ดดิสก์ขนาดพกพาที่เพิ่มขึ้น รูปแบบและสีสัน ในการทำตลาด โดยฮาร์ดดิสก์ขนาดพกพาที่มีความจุขนาด 500GB 750GB และความจุขนาด 1TB และตลาดของยูเอสบีเมมโมรี่ขนาดเล็ก ที่มีขนาดความจุประมาณ 8GB และ 16GB ขึ้นไป น่าจะเป็นสินค้าที่มาแรง เนื่องจากแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดฮาร์ดดิสก์ขนาดพกพาในปี 2553 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,700 – 1,900 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 13.0 – 26.0 เพิ่มขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2552

สำหรับสินค้ากล้องดิจิทัลนับเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่น่าจับตามองในปี 2553 เนื่องจากเป็นสินค้าที่น่าจะกลับมาขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกระแสโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่มักนิยมการสร้างบล็อกของตัวเอง และลงรูปภาพต่างๆ ลงในบล็อก เพื่อใช้เป็นการติดต่อสื่อสารกันระหว่างกลุ่มเพื่อนฝูง หรือกลุ่มคนที่มีความชอบที่เหมือนกัน อีกทั้งความนิยมการขายสินค้าออนไลน์ที่เริ่มมีมากขึ้น ทำให้กล้องดิจิทัลยังคงสามารถขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดกล้องดิจิทัลในปี 2553 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 8,200 – 8,500 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 13.1 – 17.2 เพิ่มขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 14.7 ในปี 2552

บทสรุป

ตลาดสินค้าไอทีปี 2553 คาดว่า จะกลับมามีความคึกคักอีกครั้ง ภายใต้สถานเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ถึง 3.5 เพิ่มขึ้นจากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2552 ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคเอกชน ให้กลับมาซื้อสินค้าไอทีมากขึ้น นอกจากปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่น่าจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของตลาดแล้ว ตลาดสินค้าไอทียังได้รับอานิสงส์จากโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ในสถานศึกษา ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยผลักดันให้ตลาดสินค้าไอทีมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของมัลติมีเดีย การสื่อสารในยุคเครือข่ายสังคม การซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์ ทำให้ความต้องการอุปกรณ์เพื่อมาสนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้นจึงเกิดขึ้นตาม และทำให้ผู้ใช้ต้องมีการอัพเกรดอุปกรณ์ของตนตลอดเวลา อีกทั้งคาดว่า ในปี 2553 นี้ ผู้ประกอบการคงจะมีการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความต้องการในการเปลี่ยนเครื่อง ที่น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นตลาด

สำหรับภาพรวมของตลาดสินค้าไอทีในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดสินค้าไอทีน่าจะมีมูลค่าประมาณ 79,500 – 85,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 10.5 – 18.5 จากที่คาดว่าน่าจะหดตัวร้อยละ 4.9 ในปี 2552 โดยสินค้าที่คาดว่าจะมาสร้างความคึกคักในตลาดคอมพิวเตอร์ คือ คอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก หรือ Smartbook ในขณะที่ตลาดคอมพิวเตอร์พกพา หรือโน้ตบุ๊กยังคงสามารถขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะแนวโน้มราคาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่ถูกลง ทำให้ฐานลูกค้ามีขนาดใหญ่ขึ้น

สำหรับแนวโน้มการแข่งขันในตลาดไอทีคาดว่าน่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากสินค้าไอทีมีผู้ผลิตหลายราย ซึ่งสินค้าประเภทเดียวกันโดยส่วนใหญ่จะมีคุณสมบัติที่คล้ายคลึง หรือไม่แตกต่างกันมากนักทำให้ตลาดที่เริ่มมีการแข่งขันรุนแรง ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น จึงเกิดการเปรียบเทียบในเรื่องของราคาระหว่างแบรนด์ ทำให้ผู้ผลิต หรือเจ้าของสินค้า ต้องทำการตลาดอย่างหนัก โดยพยายามพัฒนาสินค้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่มีความแตกต่างจากคู่แข่งให้มากที่สุด ที่จะมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในตลาด ทำให้เกิดความต้องการสินค้านั้น แต่ในขณะนี้ตลาดยังไม่มีสินค้าใหม่ที่จะเข้ามาสร้างปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการยังคงต้องใช้กลยุทธ์การตลาด อาทิเช่น การออกแบรนด์ใหม่ในการแตกรายสินค้า เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย และครอบคลุมตลาดทุกกลุ่มตั้งแต่กลุ่มลูกค้าระดับบน จนถึงกลุ่มลูกค้าระดับล่าง นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องมองหาช่องทางการตลาดใหม่ เช่น การขยายสาขาสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูง รวมถึงการหาพันธมิตรทางการค้าที่เป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจในปัจจุบัน เช่น การจับมือระหว่างเจ้าของแบรนด์สินค้าและผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งในการที่จะเป็นผู้นำตลาด