นอกเหนือจากสภาพตลาดรถยนต์ที่เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในหลายๆประเทศซึ่งจะส่งผลกระตุ้นความต้องการใช้รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ให้เพิ่มขึ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมนี้ ไทยและกลุ่มประเทศก่อตั้งอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไนและฟิลิปปินส์ จะมีการลดภาษีนำเข้าสินค้า 8 พันกว่ารายการลงเหลือร้อยละ 0 ภายใต้กรอบอาฟต้า (AFTA) ในกลุ่มสินค้าที่มีการลดภาษีตามปกติ (Normal Track) ทุกรายการ โดยสินค้าในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทนี้ ซึ่งมีผลทำให้ภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้ของไทยและประเทศคู่เจรจาลดลงเหลือร้อยละ 0 ในทันที ซึ่งการยกเลิกอุปสรรคทางภาษีระหว่างไทยและประเทศคู่เจรจาย่อมจะก่อให้เกิดทั้งโอกาสและความท้าทายครั้งใหม่ทางการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการขยายการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยในปี 2553 นี้ ทั้งในส่วนของชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ (OEM) และชิ้นส่วนอะไหล่ (REM) ไปสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ทั้งตลาดผู้ผลิตรถยนต์ และตลาดผู้บริโภครถยนต์ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงโอกาสในการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในปี 2553 โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
จากสถิติในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังกลุ่มประเทศก่อตั้งอาเซียน 5 ประเทศ รวมเป็นมูลค่าประมาณ 2,818.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแม้จะยังคงหดตัวสูงถึงร้อยละ 28.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวทำให้มีการนำเข้าลดลง แต่ก็พบว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเดียวกันนี้จากไทยประเทศเดียวยังสูงกว่าการนำเข้าจากกลุ่มประเทศก่อตั้งอาเซียนทั้ง 5 ประเทศรวมกัน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 743.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯอยู่มาก โดยคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการนำเข้าถึงเกือบ 4 เท่า
โดยในส่วนตลาดชิ้นส่วนรถยนต์จะเห็นได้ว่าไทยมีการเกินดุลในสินค้าประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการชะลอตัวลงมากตามทิศทางตลาดรถยนต์โลก อย่างไรก็ตามการเกินดุลในสัดส่วนที่สูงมากนี้แสดงให้เห็นถึงขนาดและศักยภาพในการแข่งขันที่สูงกว่าของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นหลังจากอาฟต้าประกาศลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ทั้งหมดในกลุ่มสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้ส่วนประกอบที่ผลิตในอาเซียนมากกว่าร้อยละ 40 ของตัวสินค้า โดยเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 จากที่เคยเก็บภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 0 ถึง 5 นั้น จึงทำให้โอกาสทางการค้าระหว่างประเทศของชิ้นส่วนรถยนต์ไทยเกิดได้มากขึ้น โดยนอกเหนือจากการที่ราคานำเข้าชิ้นส่วนจากไทยของประเทศต่างๆจะถูกลงแล้ว การเปิดเสรีการค้ายังเป็นการทำให้กลุ่มประเทศก่อตั้งอาเซียน 6 ประเทศนี้กลายเป็นเสมือนตลาดเดียว ซึ่งจะทำให้ตลาดผู้ผลิตและผู้บริโภคขยายใหญ่ขึ้นด้วย โดยเฉพาะชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ถึง 9 เท่า และตลาดผู้ผลิตรถยนต์ในกลุ่มก่อตั้งอาเซียน 6 ประเทศนี้ จากสถิติปี 2551 ก็มีขนาดค่อนข้างใหญ่ถึงประมาณ 2.58 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 8 ของการผลิตรวมในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย หรือเป็นจำนวนเกือบ 2 เท่า ของการผลิตรถยนต์ในไทย
ผลจากการเปิดเสรีภายใต้กรอบอาฟต้าต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทย
ชิ้นส่วนไทยมีโอกาสขยายตลาดส่งออกในอาเซียนเพิ่มขึ้น
การเปิดเสรีการค้าในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ จะทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติแต่ละรายทั้งจากญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป มีโอกาสปรับกลยุทธ์การผลิตและการทำตลาด โดยเฉพาะการเลือกวางตำแหน่งฐานการผลิตรถยนต์ประเภทต่างๆ และฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เหมาะสมตามศักยภาพของตลาด ความสามารถในการผลิต และต้นทุนในการผลิต ที่สามารถสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นให้กับบริษัทได้ ทิศทางดังกล่าวจึงกลายมาเป็นโอกาสให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนของภูมิภาคที่มีขนาดตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีจุดแข็งที่ค่อนข้างโดดเด่นด้านการมีเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมากที่มีความพร้อมรวมถึงความสามารถจนเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถกระบะของไทย ในขยายฐานการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ ชุดสายไฟรถยนต์ ตัวถัง กระจก ชุดเกียร์ และชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จากไทย ซึ่งมีมูลค่าสูงและได้รับการยอมรับในคุณภาพ
ซึ่งในปี 2553 นี้ คาดว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติแต่ละรายน่าจะเริ่มใช้กลยุทธ์ดังกล่าว โดยเฉพาะบริษัทรถญี่ปุ่น ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในกลุ่มประเทศก่อตั้งอาเซียนถึงราวร้อยละ 80 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ในการใช้ชิ้นส่วนหลายรายการที่ผลิตในไทยไปประกอบในรถยนต์รุ่นอื่นที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในอีก 3 ประเทศที่มีฐานการผลิตของตนอยู่ โดยเฉพาะหากพิจารณาจากขนาดฐานการผลิตอินโดนีเซียจะมีขนาดที่ใหญ่ที่สุด และมีแนวโน้มจะเป็นตลาดที่ไทยอาจใช้เป็นลู่ทางส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปได้มากที่สุด ส่วนมาเลเซียแม้รถยนต์สัญชาติมาเลย์จะมีสัดส่วนการตลาดที่สูง แต่การผลิตรถยนต์สัญชาติอื่นโดยเฉพาะญี่ปุ่นในประเทศก็มีสูงเช่นเดียวกัน โดยถึงแม้มาเลเซียจะมีการผลิตรถยนต์สัญชาติมาเลย์สูง แต่เพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยการนำเข้าชิ้นส่วนในกลุ่มอาฟต้า รวมถึงการใช้ช่องสิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) เพื่อให้รถยนต์สำเร็จรูปที่ผลิตในมาเลเซีย และใช้ชิ้นส่วนในอาเซียนมากกว่าร้อยละ 40 สามารถได้รับประโยชน์จากภาษีนำเข้าที่ลดเหลือร้อยละ 0 ตามข้อตกลงในกรอบอาฟต้า จึงมีมีโอกาสที่มาเลเซียจะนำเข้าชิ้นส่วนจากไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้าเปรียบเทียบโอกาสในการขยายการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังกลุ่มประเทศก่อตั้งอาเซียนแล้ว จะมีโอกาสสูงในการขยายการส่งออกไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กสัญชาติญี่ปุ่น
ดึงดูดการลงทุนจากค่ายรถยนต์ของประเทศนอกอาเซียน
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากมีจุดแข็งที่โดดเด่นหลายประการ เช่น การตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของภูมิภาค ขนาดตลาดที่ใหญ่และยังมีศักยภาพในการเติบโตด้วยสัดส่วนการถือครองรถยนต์ต่อจำนวนประชากรปัจจุบันที่ประมาณ 1 คันต่อประชากร 10 คน การมีเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมากที่มีความพร้อม รวมถึงความสามารถจนเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถกระบะ ประกอบกับการที่อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศอุตสาหกรรมหนึ่ง จึงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี เป็นต้น ซึ่งล่าสุดในช่วงกลางปี 2552 ได้ประกาศสนับสนุนการโยกย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยมีการผลิตมาก่อนในไทย รวมถึงการให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานทางเลือก เช่น รถอีโคคาร์ ซึ่งกำลังจะมีการเปิดตัวรถอีโคคาร์รุ่นแรกของโลกในช่วงเดือนมีนาคมนี้ จึงมีโอกาสที่จะดึงการลงทุนจากค่ายรถต่างชาติให้เข้ามาลงทุนทำการผลิตหรือขยายการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีสูงในไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน หรือประเทศที่มีการเปิดเสรีทางการค้ากับไทย และอาเซียน เป็นต้น เพื่อเป็นการขยายตลาดผู้บริโภคออกไปตามขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น
แนวโน้มการขยายฐานการผลิตของบริษัทรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในไทยในอนาคตข้างหน้าเพื่อขายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศดังกล่าว คาดว่าจะเป็นผลดีโดยตรงต่อการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาอีกมาก โดยเฉพาะความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับรถยนต์รุ่นดังกล่าวเหล่านั้นที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดสำหรับผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์อีกด้วย อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่อาจจะฉุดรั้งการขยายตัวทางการลงทุนจากต่างประเทศในไทยในปัจจุบัน เช่น ปัญหาความมั่นคงด้านเสถียรภาพทางการเมือง ความไม่ชัดเจนในนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ควบคู่กับแผนนโยบายด้านพลังงานในอนาคต และความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวมในประเทศ และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อโอกาสของไทยในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์จากต่างชาติต่อไป
ชิ้นส่วนจากอาเซียนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น
แม้การเปิดเสรีจะทำให้ไทยมีโอกาสในการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นโอกาสให้ชิ้นส่วนจากประเทศคู่แข่งมีโอกาสเข้ามาทำตลาดในไทยได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในส่วนของชิ้นส่วนที่ไทยมีความชำนาญ หรือมีต้นทุนในการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนรถบรรทุกและรถบัสขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันไทยมีการผลิตรถประเภทนี้ในประเทศเพียงร้อยละ 12 ของการผลิตในภูมิภาค ขณะที่อินโดนีเซียเป็นผู้นำตลาดอยู่ในปัจจุบันโดยมีการผลิตสูงกว่าไทยถึงประมาณ 6 เท่า ซึ่งการผลิตในปริมาณที่สูงกว่ามากนี้ แสดงถึงความชำนาญในการผลิตรถประเภทนี้ที่สูงกว่า และมีฐานการผลิตชิ้นส่วนเพื่อรองรับการผลิตดังกล่าวอยู่มาก ทำให้ได้ต้นทุนต่อหน่วยของการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ต่ำ จึงมีโอกาสที่ชิ้นส่วนรถบรรทุกและรถบัสขนาดใหญ่จากอินโดนีเซียและมาเลเซียอาจเข้ามาทำตลาดในไทยได้ง่ายขึ้น ทว่าในทางกลับกัน การเปิดเสรีอาจเป็นการช่วยลดต้นทุนการนำเข้าชิ้นส่วนบางชนิดที่ไม่สามารถผลิตได้ในไทย หรือมีการย้ายฐานการผลิตไปแล้ว เช่น ชิ้นส่วนพลาสติกบางรายการ ทำให้ได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ถูกลง
โดยสรุปจากแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น รวมถึงปัจจัยที่สำคัญล่าสุด คือ อานิสงส์ที่คาดว่าจะได้รับจากการลดภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ระหว่าง 6 ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนภายใต้กรอบอาฟต้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยพลิกกลับมาขยายตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 18 ถึง 22 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.50 ถึง 1.55 แสนล้านบาท จากที่คาดว่าจะหดตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 23 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.27 แสนล้านบาท ในปี 2552 ที่ผ่านมา
ซึ่งการลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศของชิ้นส่วนรถยนต์ไทย โดยนอกเหนือจากการที่ราคานำเข้าชิ้นส่วนจากไทยของประเทศต่างๆจะถูกลงแล้ว การเปิดเสรีการค้ายังเป็นการทำให้กลุ่มประเทศก่อตั้งอาเซียน 6 ประเทศนี้กลายเป็นเสมือนตลาดเดียว ซึ่งจะทำให้ตลาดผู้ผลิตและผู้บริโภคขยายใหญ่ขึ้นด้วย โดยเฉพาะชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ถึง 9 เท่า และถ้าเปรียบเทียบโอกาสในการขยายการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังกลุ่มประเทศก่อตั้งอาเซียนแล้ว การขยายการส่งออกไปอินโดนีเซียจะมีโอกาสสูงที่สุด รองลงมา คือ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กสัญชาติญี่ปุ่น เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์ และชุดเกียร์ จากไทย ซึ่งมีมูลค่าสูงและได้รับการยอมรับในคุณภาพ นอกจากนี้แนวโน้มการขยายฐานการผลิตของบริษัทรถยนต์ต่างๆเพื่อขายทั้งในและต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นในไทยในอนาคตข้างหน้า คาดว่าจะส่งผลต่อความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับรถยนต์ที่ส่งออกไปรุ่นดังกล่าวเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามการเปิดตลาดที่มากขึ้นย่อมนำมาซึ่งการแข่งขันที่สูงขึ้นจากชิ้นส่วนนำเข้ามาจากอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนรถบรรทุกและรถบัสขนาดใหญ่จากอินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์จึงควรต้องมีการเตรียมการรับมือต่อการแข่งขันจากการเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์บางชนิดอาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนของบริษัทแม่ตามนโยบายของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เพื่อหาแหล่งผลิตชิ้นส่วนที่คุ้มทุนมากที่สุด เนื่องจากการลดภาษีทำให้ความแตกต่างด้านต้นทุนการผลิตในประเทศกับการจัดหามาจากต่างประเทศลดลง ส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ แม้จะมีอิสระในการทำตลาด แต่ก็ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรปรับตัวเพื่อพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การลดต้นทุน การรักษาคุณภาพสินค้า การเพิ่มความหลากหลายในตัวผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับรูปแบบเทคโนโลยีใหม่ๆใน เช่น รถยนต์นั่งขนาดเล็กอย่างอีโคคาร์ หรือรถประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะเป็นแนวโน้มการตลาดรถยนต์ในอนาคตอันใกล้นี้ รวมถึงการเตรียมรับมือกับการกีดกันการค้ารูปแบบใหม่ๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายจากการปรับลดภาษีของอาฟต้า 6 ประเทศนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นที่จะตามมาในอนาคตเท่านั้น โดยเฉพาะการเปิดเสรีภายใต้กรอบ อาเซียน+3 ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และภายใต้กรอบ อาเซียน+6 ที่รวมอีก 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งแม้ปัจจุบันประเทศในอาเซียน เช่น ไทย จะยังได้รับการคุ้มครองให้ภาษีในกลุ่มสินค้ายานยนต์ยังไม่ปรับลดลงเหลือร้อยละ 0 ทั้งหมด แต่ในอัตราภาษีจะค่อยๆทยอยลดลงเรื่อยๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวและเตรียมรับมือกับการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีน และอินเดีย ซึ่งอาจมีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยและกลุ่มอาเซียน ทำให้การแข่งขันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการควรจะมุ่งพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของตนอยู่เสมอ ขณะที่ภาครัฐอาจเข้ามาดูแลด้านค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าในอัตราที่รวดเร็วกว่าค่าเงินของประเทศอื่นๆในภูมิภาคมากนักเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออก นอกจากนี้ควรดูแลเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบอาฟต้าได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอุปสรรค เช่น การกีดกันการค้าโดยใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี รูปแบบต่างๆจากประเทศผู้นำเข้าอื่นๆ ประกอบกับรักษาความเป็นฐานการผลิตที่มีบรรยากาศการลงทุนที่เหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงสร้างความชัดเจนในการวางแนวนโยบายระยะยาวสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สอดคล้องกันกับแผนการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพลังงานของประเทศและภูมิภาค ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะต่อไปในยุคที่การเปิดเสรีทางการค้าเข้ามามีบทบาทสำคัญ