จากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2552 ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ที่สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2552 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงขึ้นสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกอาจขยายตัวสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้มีการทบทวนกรอบประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2553 โดยปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการในครั้งก่อน แต่ยังมีความกังวลต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเมือง รวมทั้งความคืบหน้าในการแก้ปัญหาโครงการลงทุนในมาบตาพุด ซึ่งกำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน และอาจกลายเป็นปัจจัยที่จะกระทบต่อความน่าดึงดูดด้านการลงทุนของไทยในระยะข้างหน้า
คาดจีดีพีไตรมาส 4/2552 พุ่งสูง 4.5% YoY … ภาคอุตสาหกรรมและท่องเที่ยวฟื้นชัด
เศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมาเติบโตได้ดีเกินคาด ที่สำคัญเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคในหลายประเทศมีความมั่นใจในการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงเทศกาลรื่นเริงปลายปี ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็มีการผลิตและสั่งซื้อสินค้าเพื่อปรับเพิ่มระดับสินค้าคงคลัง เพื่อรองรับแนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ อีกทั้งยังเพื่อสะสมสต็อกสินค้าวัตถุดิบเตรียมไว้ก่อนที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับสูงขึ้นไปอีกในอนาคต ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกเติบโตสูงอย่างมากในเดือนธันวาคม โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ส่วนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 35.7 (YoY) นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรายงานข้อมูลในปี 2530
นอกจากนี้ บรรยากาศทางการเมืองที่ผ่อนคลายลง ประกอบกับการทำกิจกรรมการตลาดเชิงรุกของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนธันวาคมมีระดับรายเดือนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.68 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 45.2 (YoY)
การเติบโตก้าวกระโดดในภาคการผลิต การส่งออก และการท่องเที่ยว บวกกับอานิสงส์ของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมาสู่การขยายตัวในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การขนส่ง การก่อสร้าง และการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าจีดีพีที่ปรับผลของฤดูกาลในไตรมาสที่ 4/2552 จะขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ประมาณร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter) สูงกว่าที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสที่ 3/2552 ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จีดีพีในไตรมาสที่ 4/2552 อาจขยายตัวร้อยละ 4.5 (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นการพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส
จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายที่ออกมาดีกว่าคาด จึงทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 อาจหดตัวลงเพียงร้อยละ 2.6 ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่ยังต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ยังรักษาอัตราการขยายตัวทั้งปีเป็นบวกได้ แม้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2553 อาจขยายตัว 3-4%
ปัจจัยที่เกื้อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมาน่าจะยังคงมีแรงส่งอย่างต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยในปี 2553 สามารถพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ อีกทั้งปัจจัยหลายด้านมีทิศทางที่ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 3.0-4.0 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.5-3.5 โดยปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่
เศรษฐกิจของหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งล่าสุด หน่วยงานด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศชั้นนำ ไม่ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ธนาคารโลก และสถาบันชั้นนำของเอกชน ก็ได้ปรับเพิ่มประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดย IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 3.9 (ณ วันที่ 26 มกราคม 2553) จากประมาณการเมื่อเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ขณะที่ธนาคารโลกปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกขึ้นมาเป็นร้อยละ 2.7 (ณ วันที่ 21 มกราคม 2553) จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.0
รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้ การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่สูงกว่าประมาณการ ทำให้รัฐบาลประเมินว่าการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2553 อาจจะสูงขึ้นเป็น 1.52 ล้านล้านบาท สูงขึ้นประมาณ 1.7 แสนล้านบาท จากกรอบรายรับตามงบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นและมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจในอนาคตได้มากขึ้น
อุปทานพืชผลทางการเกษตรทั่วโลกที่ลดลงจะหนุนให้ราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้น โดยผลผลิตการเกษตรหลักของโลกหลายชนิดได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศที่แปรปรวนจากภาวะโลกร้อน ประกอบกับความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้พืชผลทางการเกษตรสำคัญของไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เช่น ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง
ปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักของไทยจะช่วยกระตุ้นการส่งออก การท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตและการจ้างงาน ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้นจะเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนภาคเกษตร ผลดังกล่าวเมื่อบวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาล จะนำไปสู่การขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจภายในประเทศ ในส่วนของการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ให้ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามมา
สำหรับประเด็นความเสี่ยงที่อาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2553 นี้ ปัจจัยที่มีน้ำหนักสำคัญที่สุดในขณะนี้อยู่ที่ปัจจัยภายในประเทศของไทยเอง โดยอันดับแรกคือ ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล รองลงมาคือข้อห่วงใยเกี่ยวกับความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาโครงการลงทุนในมาบตาพุด ทั้งสองปัจจัยนี้ล้วนส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไป อาจจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 มีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่เศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคก็ยังมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป โดยประเด็นที่เป็นที่จับตาในขณะนี้ คือ มาตรการของทางการจีนที่ออกมาเป็นลำดับตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่มุ่งชะลอการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคาร เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ โดยมาตรการดังกล่าวอาจลดทอนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2553 จากระดับที่ IMF คาดว่าจะเติบโตได้กว่าร้อยละ 10 ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของประเทศในแถบเอเชียที่หลายประเทศมีการพึ่งพาตลาดจีนสูงขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้มาตรการของทางการจีนอาจชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจลง แต่จีนน่าจะยังคงเติบโตได้ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2553 ไว้ที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 8.0 สำหรับภูมิภาคยุโรปยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ที่อยู่ระดับสูงในบางประเทศ เช่น กรีซและสเปน ขณะที่อัตราการว่างงานของกลุ่มยูโรโซนโดยรวมยังมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ปัญหาการว่างงานซึ่งอาจลดลงอย่างเชื่องช้านั้น จะเป็นข้อจำกัดต่อศักยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
โดยสรุป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแรงขึ้น และความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไทย รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง น่าจะเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจต่างๆ ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ให้ปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งจะเป็นผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในระดับที่สูงกว่าที่คาดไว้ในประมาณการครั้งก่อน
ในระยะสั้น โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 1/2553 เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันหลายด้าน ทั้งกระแสการเผชิญหน้าทางการเมืองที่ตึงเครียดมากขึ้น รวมทั้งเสียงสะท้อนของนักลงทุนต่างชาติที่วิตกกังวลต่อความล่าช้าในการคลี่คลายปัญหามาบตาพุดและกระแสข่าวทางการเมืองที่ร้อนแรง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายของผู้บริโภค การท่องเที่ยวและการลงทุนที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นมาเป็นลำดับ อย่างไรก็ดี ในด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2553 นั้น เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2552 ติดลบลงรุนแรงถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงที่นอกเหนือความคาดหมายใดๆ จีดีพีในไตรมาสที่ 1/2553 น่าจะยังคงมีอัตราการขยายตัว (YoY) ที่สูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ 4/2552 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.5 ขณะที่ในไตรมาสถัดๆ ไปตัวเลขจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จะมีผลของฐานเปรียบเทียบที่อาจทำให้เป็นตัวเลขที่ไม่สูงดังเช่นไตรมาสแรก แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงแล้ว คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์น่าจะมีทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งน่าจะเร่งตัวเร็วขึ้น รวมทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญ คือระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนบางสายน่าจะมีการก่อสร้างคืบหน้าและทยอยเปิดประมูลสายใหม่ๆ ได้ นอกจากนี้ ทางออกสำหรับโครงการลงทุนในมาบตาพุดน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น และหากบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองผ่อนคลายลง ก็น่าปูทางไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและแข็งแรงขึ้นในระยะต่อไป
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 3.0-4.0 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.5-3.5 ทั้งนี้ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ส่วนปัญหากรณีมาบตาพุด รัฐบาลควรเร่งวางหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ และชี้แจงกระบวนการต่างๆ ให้แก่โครงการลงทุนที่ติดปัญหา เพื่อนำโครงการเหล่านี้กลับเข้าสู่กระบวนการในการขออนุญาตลงทุนโดยเร็ว รวมทั้งควรสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่นักลงทุนต่างชาติถึงสาเหตุและขอบเขตผลกระทบของปัญหาที่เกิดจากข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อให้นักลงทุนในสาขากิจการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมีความมั่นใจที่จะเดินหน้าแผนการลงทุนในประเทศไทยต่อไป