โทรต่างประเทศ ปี 53 : แม้เผชิญการแข่งขันราคา แต่มีหลากปัจจัยกระตุ้นการใช้

ในยุคโลกาภิวัฒน์การสื่อสารระหว่างประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการเชื่อมต่อโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อเชิงธุรกิจ หรือการติดต่อระหว่างบุคคลเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ซึ่งหลังจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ออกใบอนุญาตให้เอกชนหลายรายเข้ามาดำเนินกิจการ ก็ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นให้กับการแข่งขันในตลาดที่มีมูลค่าตลาดสูงเกือบหมื่นล้านบาทต่อปี

เอกชนงัดกลยุทธ์…ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

แม้รัฐวิสาหกิจที่เคยเป็นผู้ผูกขาดการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศอยู่เดิม จะมีความได้เปรียบในหลายด้าน ทั้งความคุ้นเคยของผู้ใช้ และความครอบคลุมของระบบเชื่อมต่อโครงข่ายต่างประเทศ ทำให้ยังครองตำแหน่งผู้นำตลาด แต่สัดส่วนการถือครองส่วนแบ่งตลาดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และผู้ให้บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

ตลาดบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ1 ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ (แบบมีโครงข่าย) รวม 6 ราย ซึ่งล้วนเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือโทรศัพท์พื้นฐาน โดยผู้ให้บริการเอกชนอาศัยความได้เปรียบด้านฐานลูกค้าในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งระบบให้การกดเครื่องหมายบวกเมื่อโทรออกไปยังต่างประเทศ เป็นการใช้บริการผ่านรหัสโทรศัพท์ (Access Code) ของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มากกว่า 69 ล้านเลขหมาย

อย่างไรก็ดีในการเลือกใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศนั้น ผู้ใช้สามารถใช้บริการของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้นทางและของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ไม่สามารถใช้บริการของบริษัทผู้ให้บริการเอกชนรายอื่นได้ ซึ่งอาจมองได้ว่าผู้ให้บริการที่มีฐานลูกค้าจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์พื้นฐานมากจะได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นการช่วยเพิ่มภาวะการแข่งขันให้มากขึ้นด้วย โดยผู้ให้บริการต้องเร่งพัฒนาบริการทั้งด้านคุณภาพสัญญาณและอัตราค่าบริการ เพื่อดึงดูดลูกค้าที่มีการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศให้เข้ามาใช้บริการในโครงข่ายของตน

ตลาดบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการในเชิงพาณิชย์ถึงกว่า 10 รายที่เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้แบบจ่ายล่วงหน้า (Pre-paid) ทั้งนี้จากการที่มีผู้ให้บริการจำนวนมาก ประกอบกับผู้ใช้จ่ายแบบล่วงหน้ามักให้ความสำคัญกับราคาเป็นหลัก จึงกดดันให้ค่าบริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศต่ำกว่าค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดีแม้ว่าตลาดบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศจะมีจุดเด่นด้านอัตราค่าบริการที่ต่ำ แต่ก็มีข้อเสียด้านความสะดวกในการใช้งานที่ต้องกดเลขหมายจำนวนมากก่อนเข้าสู่ระบบ ดังนั้นความนิยมในการใช้บัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศจึงน้อยกว่าการใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่สะดวกมากกว่า ซึ่งผู้ใช้เพียงแค่กดเลขหมายเพียง 3 หรือ 5 หลักในการเข้าสู่ระบบ โดยตลาดบริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศทั้งหมด

ทั้งนี้ผู้ให้บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศส่วนใหญ่ไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง จึงต้องเช่าใช้โครงข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งมีผลต่อต้นทุนและอาจเป็นข้อจำกัดในการใช้กลยุทธ์ราคาในระยะยาว ดังนั้นผู้ให้บริการจึงพยายามสร้างกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆเพื่อดึงดูดผู้ใช้มากขึ้น เช่น บริการเติมเงินออนไลน์ บริการจำรหัสผ่าน (Pin Number) บริการบันทึกเลขหมายปลายทาง เป็นต้น

เทคโนโลยี VoIP…อีกปัจจัยกระตุ้นการแข่งขันด้านราคา

ปัจจุบันเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสารด้วยเสียงระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
1.เทคโนโลยีบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่ต่อผ่านวงจรโทรศัพท์สายตรงถึงเลขหมายปลายทางในต่างประเทศ (International Direct Dialing :IDD) เนื่องจากเป็นการโทรโดยใช้โครงข่ายโทรศัพท์โดยตรง จึงทำให้คุณภาพเสียงคมชัด อัตราการดีเลย์เสียงต่ำ แต่ผู้ใช้อาจเสียค่าบริการค่อนข้างสูงในอัตราขั้นต่ำ 9 บาท/นาที ดังนั้นจึงเหมาะกับการใช้งานเชิงธุรกิจ หรือผู้ใช้ที่ต้องการบริการที่มีคุณภาพ

2.เทคโนโลยีบริการสื่อสารทางเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol :VoIP) ซึ่งสามารถใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เป็นเครื่องส่งต้นทางและเครื่องรับปลายทางได้ โดยการใช้งานระหว่างโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ (PC to Phone และ Phone to PC) หรือ ระหว่างคอมพิวเตอร์ด้วยกัน (PC to PC) ต้องติดตั้งอุปกรณ์ หรือซอฟท์แวร์เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานเหมือนโทรศัพท์ แม้การใช้งานรูปแบบดังกล่าวจะมีอัตราค่าบริการขั้นต่ำเพียง 0.75 บาท/นาที หรือในบางลักษณะไม่มีค่าบริการ ผู้ใช้เสียเพียงค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่ด้วยวิธีใช้งานค่อนข้างยาก และจะต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา จึงทำให้การใช้งานจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยี

ด้านการใช้งานระหว่างโทรศัพท์ด้วยกัน (Phone to Phone) สำหรับองค์กรที่มีการติดต่อระหว่างประเทศเป็นประจำ สามารถใช้เทคโนโลยี VoIP โดยเชื่อมอุปกรณ์เสริมเข้ากับโทรศัพท์พื้นฐานให้กลายเป็น IP Phone เพื่อส่งสัญญาณเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งค่าบริการต่ำกว่าการใช้โครงข่ายโทรศัพท์โดยตรงมาก ในขณะที่ผู้บริโภคทั่วไปหรือธุรกิจที่ติดต่อระหว่างประเทศไม่มากนัก มักเลือกใช้เทคโนโลยี VoIP ด้วยการกดผ่านรหัสโทรศัพท์เช่นเดียวกับเทคโนโลยี IDD ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากมีวิธีการใช้งานที่ง่าย และราคาที่ประหยัดกว่าเทคโนโลยี IDD ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 39 เป็นสิ่งจูงใจผู้ใช้

ปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศแบบมีโครงข่ายทั้ง 6 รายซึ่งถือครองมูลค่าตลาดรวมถึงร้อยละ 95 ส่วนใหญ่เปิดให้บริการทั้งเทคโนโลยี IDD และ VoIP โดยเสนอบริการผ่านรหัสโทรศัพท์ที่แตกต่างกันทั้งสิ้น 12 เลขหมาย ทั้งนี้การให้บริการเทคโนโลยี VoIP ของผู้ให้บริการบางรายอาจไม่ครอบคลุมประเทศเทียบเท่าเทคโนโลยี IDD แต่อาจไม่ส่งผลต่อการเลือกบริการของผู้ใช้โดยรวมมากนัก เนื่องจากเป็นประเทศที่น่าจะมีปริมาณการใช้น้อย เช่น ประเทศแอสเซนซั่น หมู่เกาะฟอร์คแลนด์ เป็นต้น

ความนิยมในเทคโนโลยี VoIP ที่ขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะการกดผ่านรหัสโทรศัพท์ ด้วยจุดเด่นด้านราคาที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับราคามากขึ้น ขณะที่ปัญหาคุณภาพเสียงได้ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี จึงคาดว่าปัจจุบันมูลค่าตลาดบริการ VoIP น่าจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่มีสัดส่วนร้อยละ40

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ความนิยมในเทคโนโลยี VoIP น่าจะเป็นปัจจัยกดดันเทคโนโลยี IDD ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เน้นคุณภาพ ให้ต้องปรับลดอัตราค่าบริการลง รวมถึงอาจกระตุ้นการแข่งขันราคาในตลาดโดยรวมอีกด้วย

หลากปัจจัย…หนุนปริมาณการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศปี 53

แม้วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2552 ธุรกิจโทรศัพท์ระหว่างประเทศอาจต้องเผชิญกับการหดตัวของปริมาณการใช้งาน แต่ในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศน่าจะเพิ่มขึ้น จากปัจจัยหลายด้านที่น่าจะกระตุ้นการใช้งาน ดังนี้

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ร้อยละ 3.9 ในปี 2553 จากที่หดตัวร้อยละ 0.8 ในปี 2552 ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 3-4 ซึ่งการฟื้นตัวดังกล่าวน่าจะส่งผลให้มีการติดต่อระหว่างประเทศมากขึ้น จากการขยายตัวของการส่งออก การนำเข้า การลงทุน รวมถึงการติดต่อระหว่างบุคคลอันเนื่องจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น

จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยน่าจะเพิ่มขึ้นจนมีจำนวน 15.2 ล้านราย หรือขยายตัวจากปี 2552 ร้อยละ 7.5 ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศน่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 7.4 หรือคิดเป็นจำนวน 4.9 ล้านคน จากปัจจัยบวกด้านทิศทางเศรษฐกิจและกำลังรายได้ที่ดีขึ้น รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งการเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออก น่าจะทำให้ปริมาณการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

การเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยปี 2553 มีจำนวนความตกลงฯที่จะมีผลใช้บังคับเพิ่มเติม อาทิ FTA อาเซียน-อินเดีย และ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ รวมถึงความตกลงหลายฉบับที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว แต่มีระดับการเปิดตลาดที่เพิ่มขึ้น เช่น FTA กรอบอาเซียน FTA ไทย-ญี่ปุ่น และ FTA อาเซียน-จีน ซึ่งจะมีการลดภาษีในระดับที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายจำนวนพิกัดรายการ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยในหลายอุตสาหกรรมน่าจะมีการติดต่อกับธุรกิจในประเทศคู่เจรจาโดยการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
แนวโน้มการขยายตัวของจำนวนผู้เดินทางไปศึกษายังต่างประเทศ ความนิยมในการเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้ขยายถึงการศึกษาในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินในประเทศที่นักเรียนไทยนิยมเข้าศึกษา เช่น อเมริกา อังกฤษ และประเทศในแถบยุโรป ทำให้ค่าครองชีพถูกลง ซึ่งการเพิ่มจำนวนนักเรียนไทยในต่างประเทศ น่าจะทำให้ปริมาณการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศมีมากขึ้น

โปรโมชั่นลดราคาของผู้ให้บริการ โดยผู้ให้บริการได้นำเสนอค่าบริการต่อนาทีที่ปรับลดลงจากต้นปี 2552 อยู่ในช่วงร้อยละ 4-20 ซึ่งน่าจะกระตุ้นให้ผู้ใช้เพิ่มปริมาณการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการใช้งานสูง ซึ่งผู้ให้บริการมักจะนำเสนออัตราค่าบริการในราคาพิเศษ

แนวทางในการขยายฐานลูกค้าของผู้ให้บริการแต่ละรายในปี 2553

การช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยผู้ให้บริการแต่ละรายน่าจะยังคงใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นกลยุทธ์หลักในการจูงใจผู้ใช้ แต่ระดับความรุนแรงในการแข่งขันด้านราคาน่าจะบรรเทาลง จากการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมา จนทำให้ราคาในปัจจุบันที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยคาดว่าตลอดปี 2553 อัตราค่าบริการน่าจะปรับลดลงเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 10-15 ทั้งนี้ผู้ให้บริการน่าจะนำเสนอบริการในรูปแบบอื่นมากขึ้น เช่น การสะสมยอดค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศเพื่อแลกค่าโทรในประเทศ รวมถึงการหาพันธมิตรกับธุรกิจอื่น เช่น การร่วมมือกับสถาบันการเงิน เพื่อนำเสนอโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่มีการติดต่อทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

การช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดลูกค้าชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากการขยายตลาดลูกค้าคนไทยที่โทรจากไทยไปต่างประเทศค่อนข้างมีขีดจำกัด ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงมีความพยายามที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยผู้ใช้ต่างชาติส่วนหนึ่งได้เปิดใช้บริการโทรข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming) ของผู้ให้บริการในประเทศนั้นๆ ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศอาจเข้าช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดดังกล่าว โดยนำเสนอบริการในรูปแบบบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ หรือซิมโทรศัพท์สำหรับโทรภายในไทย และโทรกลับไปยังประเทศของตน ซึ่งน่าจะดึงดูดใจชาวต่างชาติได้ด้วยค่าบริการที่ถูกกว่า

อย่างไรก็ดีลูกค้าในตลาดนี้จะใช้บริการในระยะสั้น โดยจะเลิกใช้บริการเมื่อเดินทางออกนอกประเทศไทย นอกจากนี้ชาวต่างชาติบางรายอาจไม่สนใจที่จะเปลี่ยนซิมโทรศัพท์ โดยเฉพาะผู้ที่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงเครื่องเดียว เนื่องจากความกังวลที่จะพลาดการติดต่อหากต้องเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2553 ตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศน่าจะมีมูลค่าตลาดใกล้เคียงกับปี 2552 ที่ประมาณ 9,000-9,500 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0-5.6 เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่หดตัวลงร้อยละ 18.2 หรือมีมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้แม้ว่าตลาดน่าจะยังคงเผชิญการแข่งขันราคาเช่นเดียวกับในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานับจากมีผู้ให้บริการมากขึ้น รวมทั้งยังได้รับแรงกดดันจากเทคโนโลยี VoIP ที่ช่วยให้การสื่อสารระหว่างประเทศมีราคาที่ถูกลง แต่คาดว่าค่าบริการน่าจะปรับลดในอัตราที่น้อยลง เนื่องจากการแข่งขันราคาอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมา นอกจากนี้การปรับลดราคายังถือเป็นปัจจัยหนุนปริมาณการใช้ให้เพิ่มขึ้น รวมถึงอีกหลายปัจจัยกระตุ้นการใช้งาน ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น กระแสการเปิดการค้าเสรี และความนิยมในศึกษายังต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ในระยะสั้นมูลค่าตลาดอาจขยายตัวได้

อย่างไรก็ดีแนวโน้มในระยะยาว ตลาดน่าจะเผชิญกับความยากลำบากในการสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายผู้ประกอบการในการเพิ่มมูลค่าให้กับบริการ รวมถึงการขยายฐานลูกค้า โดยผู้ให้บริการอาจต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้เพื่อดึงดูดผู้ใช้มากขึ้น เช่น โทรศัพท์แบบเห็นหน้า บริการพิเศษสำหรับลูกค้าองค์กรที่มีเว็บไซต์ของตนเอง เช่น โรงแรม สายการบิน โรงพยาบาล สถาบันการเงิน บริษัทส่งออก/นำเข้า เพื่อให้ลูกค้าของบริษัทนั้นๆสามารถติดต่อกับบริษัทดังกล่าวได้ทันทีด้วยบริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตเพียงแค่คลิกผ่านเว็บไซต์ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มจำนวนประเทศปลายทาง และเสริมประสิทธิภาพของโครงข่าย เช่น ระบบเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ในอนาคตกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายธุรกิจอยู่ในต่างประเทศที่แน่นอนชัดเจน มีแนวโน้มที่น่าจะปรับเปลี่ยนระบบโทรศัพท์ที่ใช้ในการติดต่อระหว่างประเทศให้เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตโดยตรง (SIP Phone) แทนการใช้บริการผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีปริมาณการติดต่อระหว่างประเทศสูงซึ่งน่าจะคุ้มค่าต่อการลงทุนในระบบ ดังนั้นผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศอาจต้องเร่งนำเสนอกลยุทธ์เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าองค์กรดังกล่าว ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มลูกค้ารายย่อยให้มากขึ้น ทั้งการนำเสนอแพคเกจค่าบริการอัตราพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กร การเสนออัตราค่าบริการราคาประหยัดในช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อย รวมถึงการนำเสนอบริการเสริมต่างๆ เช่น บริการตรวจสอบค่าใช้บริการ เป็นต้น