คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 0.0-0.25% ในการประชุมวันที่ 16 มีนาคม 2553 พร้อมกับยืนยันแผนการยุติโครงการรับซื้อสินทรัพย์ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2553 ไว้ตามเดิม ซึ่งมติของการประชุมเฟดในรอบนี้แทบไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงิน เนื่องจากเฟดยังคงกล่าวย้ำถึง “การยืนอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไปอีกระยะหนึ่ง” ด้วยมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ 9-1 เสียง ขณะที่ มุมมองต่อเศรษฐกิจยังคงสะท้อนออกมาเป็นเชิงบวกแบบระมัดระวัง เช่นเดิม
ข้ามมาทางฝั่งเอเชียวันที่ 17 มีนาคม 2553 ธนาคารกลางญี่ปุ่นสิ้นสุดการประชุมนโยบายการเงิน 2 วัน (16-17 มีนาคม 2553) ด้วยมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.10% พร้อมกับผ่อนคลายมาตรการด้านสภาพคล่องเพิ่มเติมตามการคาดการณ์ของตลาด ขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แม้จะไม่เผชิญกับภัยคุกคามจากภาวะเงินฝืด แต่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.00% โดยปราศจากแรงกดดันในช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจนนั้น น่าที่จะทำให้ ECB มีเวลามากพอที่จะยืนอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในยามที่แรงผลักจากนโยบายการคลังกำลังเผชิญกับข้อจำกัด
อย่างไรก็ตาม ท่าทีเชิงนโยบายของธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ในแถบภูมิภาคเอเชีย ดูเหมือนจะแตกต่างไปจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางญี่ปุ่น เนื่องจากธนาคารกลางหลายแห่งกำลังส่งสัญญาณการคุมเข้มที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งน่าที่จะนำไปสู่การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์แวดล้อมที่เกี่ยวกับจังหวะของนโยบายการเงินที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคดังกล่าว ไว้ดังนี้ :-
จุดยืนเชิงนโยบายการเงินของเฟดจากมติการประชุมครั้งล่าสุด…ไม่เปลี่ยนแปลง
การประเมินภาพเศรษฐกิจ ตามมุมมองของเฟด การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ น่าที่จะอยู่ในระดับปานกลางต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีแรงขับจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัวได้ในเกณฑ์ปานกลาง (แม้จะยังคงถูกกดดันจากภาวะการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง การเติบโตในอัตราปานกลางของรายได้ การลดลงของความมั่งคั่งในภาคครัวเรือน ตลอดจนภาวะตึงตัวของสินเชื่อ) การใช้จ่ายของภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอุปกรณ์และซอฟแวร์ และตลาดแรงงานและตลาดการเงินที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม เฟดยังคงสะท้อนมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังไว้ในการประเมินการลงทุนในโครงสร้างนอกภาคที่อยู่อาศัยซึ่งหดตัวอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านที่ทรงตัวในระดับต่ำ และกระบวนการจ้างงานใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ
จุดยืนเชิงนโยบายการเงินของเฟดไม่เปลี่ยนแปลง เฟดยังคงใช้ถ้อยแถลงที่ยืนยันการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ต่ำเป็นพิเศษต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจต่างๆ (อัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ แนวโน้มเงินเฟ้อที่ไม่ได้เร่งตัวขึ้น และเสถียรภาพของการคาดการณ์เงินเฟ้อ) ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะลดต่ำลงไปมากก็ตาม นอกจากนี้ น้ำหนักของมติยืนอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยคะแนนไม่เป็นเอกฉันท์ 9-1 เสียง ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยนายโธมัส โฮนิก ประธานเฟดสาขาแคนซัส ซิตี้ มองว่า การยืนอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษอาจนำไปสู่ความไม่สมดุลทางการเงิน และยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและการเงินในระยะยาว
แต่สำหรับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณนั้น เฟดมีมติยืนยันกำหนดเวลาสิ้นสุดของโครงการรับซื้อตราสารทางการเงินทั้งในส่วนของตราสารหนี้ (Agency Debt) และหลักทรัพย์ที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อจำนอง (Agency MBS) ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในช่วงสิ้นไตรมาส 1/2553 ไว้ตามเดิม โดยการรับซื้อตราสารทั้ง 2 ส่วนน่าที่จะครบเต็มวงเงินภายในช่วงเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ เฟดรับซื้อ Agency Debt แล้วทั้งสิ้น 1.706 แสนล้านดอลลาร์ฯ (97.5% จากเพดานวงเงิน 1.750 แสนล้านดอลลาร์ฯ – ข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม) ขณะที่ ได้รับซื้อ Agency MBS แล้วประมาณ 1.226 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (98.1% จากเพดานวงเงิน 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ฯ – ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม) พร้อมกันนี้ เฟดได้คงระยะเวลาสิ้นสุดสำหรับมาตรการด้านสภาพคล่องพิเศษ ซึ่ง ณ ขณะนี้ เหลืออยู่เพียงโครงการเดียว คือ โครงการปล่อยกู้หลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสินทรัพย์ (Term Asset-Backed Securities Loan Facility : TALF) โดย TALF สำหรับเงินกู้ซึ่งหนุนหลังด้วยหลักทรัพย์ที่หนุนหลังโดยสินเชื่อจำนองประเภทอาคารพาณิชย์ที่ปล่อยใหม่ (New-issue CMBS) จะสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ส่วน TALF สำหรับเงินกู้ซึ่งหนุนหลังโดยสินทรัพย์ค้ำประกันอื่นๆ จะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2553 นี้
จุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นจากมติการประชุมครั้งล่าสุด…ผ่อนคลายลงอีก
การประเมินภาพเศรษฐกิจ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งประเมินไว้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวขึ้น แต่การใช้จ่ายภายในประเทศยังคงขาดแรงส่งที่มีความต่อเนื่อง ขณะที่ ยังคงมีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด แม้ว่าการร่วงลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าที่จะชะลอลงในระยะข้างหน้า
จุดยืนเชิงนโยบายการเงินของ BoJ ยังคงผ่อนคลาย BoJ มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยเผื่อเรียกข้ามคืน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ไว้ที่ 0.10% อย่างไรก็ตาม มติในการขยายเงินกองทุนที่ปล่อยกู้ให้แก่ภาคธนาคารเป็น 20 ล้านล้านเยน จาก 10 ล้านล้านเยนนั้น ไม่เป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 5-2 เสียง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่ยากลำบากในการกำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของ BoJ ท่ามกลางแรงกดดันที่มาจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการให้ BoJ แก้ไขโจทย์ภาวะเงินฝืดอย่างเร่งด่วน โดยการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ BoJ ในการประชุมรอบนี้ มีเป้าหมายที่จะกดให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดต่ำลงเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในยามที่รัฐบาลญี่ปุ่นจำต้องรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด
จุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป…ไม่ถอนมาตรการพิเศษเร็วเกินไป
การประเมินภาพเศรษฐกิจ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัว แต่จะมีอุปสรรคจากปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนในหลายๆ ด้าน โดยเศรษฐกิจยูโรโซนอาจขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณ 0.4-1.2% ในปี 2553 และกรอบ 0.5-2.5% ในปี 2554 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้ออาจอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย (แต่ใกล้เคียง) ที่ 2.0% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ พื้นฐานทางเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงมีความเปราะบางอยู่หลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดแรงงาน ซึ่งสะท้อนผ่านมาที่อัตราการว่างงานของยูโรโซนที่ยังไม่ผ่านพ้นจุดสูงสุด ขณะที่ วัฎจักรการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลังและแรงผลักจากมาตรการทางการคลังอาจแผ่วลงในระยะข้างหน้า
จุดยืนเชิงนโยบายการเงินของ ECB อาจเริ่มด้วยการลดมาตรการเชิงปริมาณ ECB ทยอยส่งสัญญาณยุติมาตรการด้านสภาพคล่องอย่างระมัดระวัง ขณะที่ สัญญาณคุมเข้มด้วยเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจาก ECB ตระหนักดีว่า มาตรการที่ผ่อนคลายในด้านสภาพคล่องยังคงมีความจำเป็นต่อระบบการเงินของกลุ่มประเทศสมาชิกยูโรโซน ซึ่ง ณ ขณะนี้ ยังคงมีโจทย์สำคัญอยู่ที่การรักษาวินัยทางการคลังที่ค่อนข้างเคร่งครัด โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานะดุลการคลังและหนี้สาธารณะในระดับสูง อาทิ กรีซ และโปรตุเกส ทั้งนี้ แม้ว่า ความเสี่ยงของกรีซต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจะลดน้อยลง แต่กรีซยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ให้เห็นว่าแผนรัดเข็มขัดทางการคลังสามารถดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ
จุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธนาคารกลางแถบเอเชีย…ส่งสัญญาณคุมเข้มเป็นส่วนใหญ่
การประเมินภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชียค่อนข้างแข็งแกร่ง เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเพียงทางอ้อมจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตเท่านั้น ดังนั้น เมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขยายวงกว้างออกไป แนวโน้มของเศรษฐกิจเอเชียจึงดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้ ธนาคารกลางเอเชียบางประเทศกำลังต้องเตรียมรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อและความเสี่ยงฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่แฝงอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในรอบนี้
จุดยืนนโยบายการเงินของธนาคารกลางแถบเอเชีย…โน้มไปในเชิงคุมเข้ม ด้วยเหตุผลของปัจจัยทางเทคนิคในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ และแนวโน้มของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางด้านราคา และปัญหาการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอสังหาริมทรัพย์ในบางประเทศ กำลังกลายเป็นโจทย์สำคัญของผู้กำหนดนโยบายการเงินของหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะธนาคารกลางจีน และธนาคารกลางอินเดีย ทั้งนี้ สภาวะแวดล้อมที่แรงกดดันด้านราคาอยู่ในช่วงขาขึ้น ได้บีบให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียต้องส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ
และเนื่องจากธนาคารกลางในเอเชียไม่ได้มีการนำเครื่องมือนโยบายการเงินแบบพิเศษ มาตรการด้านสภาพคล่อง และ/หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่หลากหลายมาใช้เหมือนกันธนาคารกลางประเทศหลักๆ ของโลก ดังนั้น การคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของภูมิภาคเอเชีย น่าที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงปีนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ในจังหวะเวลาที่แตกต่างกันโดยจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานเศรษฐกิจและปัญหาเฉพาะในแต่ละประเทศ อาทิ ปัญหาฟองสบู่ในจีนที่อาจทำให้ต้องเร่งคุมเข้ม ซึ่งตรงกันข้ามกับแรงกดดันจากรัฐบาลในเกาหลีใต้ และความเสี่ยงทางการเมืองในไทยที่อาจทำให้การคุมเข้มทางการเงินต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เป็นต้น
จังหวะนโยบายการเงินที่แตกต่าง…มุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย
แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลก ได้มีความชัดเจนขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่ปี 2553 แม้ว่าจะเป็นไปในอัตราเร่งที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากที่วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกรอบล่าสุดสิ้นสุดลงนั้น เป็นส่วนที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าโดยเปรียบเทียบ และเป็นกลจักรตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ขณะที่ กลุ่มประเทศแกนหลัก G-3 ยังคงต้องแบกรับส่วนที่เปราะบางซึ่งแฝงอยู่ในแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ นโยบายการคลังของประเทศในแถบยูโรโซนที่ผ่อนคลายอย่างมากในช่วงวิกฤต ได้นำมาสู่ประเด็นปัญหาทางด้านการคลังในหลายๆ ประเทศ ส่วนญี่ปุ่นก็ยังคงไม่หลุดพ้นจากความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า …
สัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของเอเชียน่าที่จะทยอยเกิดเร็วกว่าสหรัฐฯ และยุโรป ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเอเชียที่มีความพร้อมกว่าประเทศแกนหลัก ขณะที่ แรงกดดันในช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเริ่มทยอยปรากฏขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงไม่น่าประหลาดใจหากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงิน และวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในแถบเอเชียในรอบนี้ จะเกิดขึ้นท่ามกลางการยืนอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำของธนาคารกลางของประเทศแกนหลัก โดยเฉพาะ ธนาคารกลางสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางจีน ธนาคารกลางอินเดีย ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยหากพิจารณาตามความจำเป็นเร่งด่วนแล้ว ธนาคารกลางจีน และธนาคารกลางอินเดีย อาจเริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น แม้จะได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้นแล้ว แต่ปัจจัยทางการเมืองก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้จังหวะเวลาการคุมเข้มของกนง.ถูกเลื่อนออกไป อนึ่ง ธนาคารกลางมาเลเซีย (หากไม่นับรวมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเวียดนาม) เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนธนาคารกลางจีนทำการปรับเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองตามกฎหมาย ขณะที่ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย
สัญญาณขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางแกนหลัก (ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น) ยังไม่ชัดเจน…แรงหนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ การคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่สะท้อนจากตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้านั้น มีความชัดเจนมากที่สุดในรอบการประชุมนโยบายการเงินของเฟดช่วงไตรมาส 4/2553 โดยความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟดเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม 2553 อยู่ที่ 76% และ 100% ตามลำดับ ซึ่งนั่นก็เป็นนัยว่า แรงขับเคลื่อนของเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย น่าที่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินหยวนอาจเป็นไปอย่างเข้มข้นมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 ดังนั้น ภาพของการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย และเงินบาท ยังน่าที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า โดยสำหรับเงินบาทนั้น หากปัจจัยกดดันทางการเมืองในประเทศสามารถที่จะคลี่คลายลงด้วยความเรียบร้อย ขณะที่ การดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท.ยังคงเน้นไปในแนวทางที่ให้เงินบาทสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคยแล้ว เงินบาทก็อาจมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบแนวต้านในระยะสั้นที่ระดับ 32.25/32.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ
โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า วัฏจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางในเอเชียน่าที่จะมีความชัดเจนมากที่สุด ขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังอาจเผชิญอุปสรรคในส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยในส่วนของ ECB อาจต้องพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซนอย่างรอบคอบ ขณะที่ ปัญหาเงินฝืดก็อาจทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BoJ มีความล่าช้าเช่นเดียวกัน ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นั้น คาดว่า เฟดยังคงมีเวลาอีกหลายเดือนในการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ขณะที่ การอ่อนกำลังลงของเครื่องชี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ก็อาจเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลในการประเมินจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะข้างหน้า และสำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่า ธปท.คงติดตามประเด็นเฉพาะหน้า ซึ่งก็คือ ปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ โดยหากสถานการณ์การเมืองผ่านไปได้ด้วยดี และเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยยังคงบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเหมือนเช่นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก็มีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะเริ่มปรับนโยบายการเงินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ในเอเชีย
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น