ทิพยประกันภัย ศักยภาพแกร่งสวนภาวะเศรษฐกิจติดลบ ปี 52 เบี้ยประกันภัยรับรวมสูงกว่า 9,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 51 กว่า 10% ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 548 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.83 บาท ด้านผู้บริหาร “มารุต สิมะเสถียร” โชว์วิสัยทัศน์มุ่งเน้นนโยบายการตลาดพัฒนาผลิตภัณฑ์รุกตลาดรายย่อยและสอดรับเกณฑ์ คปภ.
นายมารุต สิมะเสถียร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ว่า บริษัทฯมีผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยบริษัทฯมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 9,570 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปี 2551 ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 8,683 ล้านบาท คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับเพิ่มขึ้น 887 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.22%
สำหรับรายละเอียดของเบี้ยประกันภัยรับรวมประกอบด้วย เบี้ยประกันอัคคีภัยรับ 905 ล้านบาท เบี้ยประกันทางทะเลและขนส่ง 203 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรถยนต์ 2,049 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด 6,413 ล้านบาท เทียบกับปี2551มีเบี้ยประกันอัคคีภัยรับ 788 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 229 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรถยนต์ 2,122 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด 5,543 ล้านบาท
จากเบี้ยประกันภัยรับที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปี 2552 ที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิ 548 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.83 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 546 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.82 บาท ขณะที่สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 14,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 9,899 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4,712 ล้านบาท คิดเป็น 48%
ผลสำเร็จที่มีมาอย่างต่อเนื่องทุกปีทำให้ S&P หรือ Standard & Poor’s หน่วยงานที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ และความมั่นคงทางการเงินของสถาบันการเงิน และบริษัทประกันภัย ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) อยู่ในระดับ “A-” นั้นหมายถึง บมจ.ทิพยประกันภัยเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงทางการเงินในระดับดีมาก
ส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2553 นั้น นายมารุต กล่าวว่า บริษัทจะยึดนโยบายมุ่งเน้นการขยายตัวทางการตลาด ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับตลาดรายย่อย และสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เช่น ผลิตภัณฑ์แบบประกันภัยรูปแบบใหม่ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ในราคาประหยัดแต่ให้ผลคุ้มครองสูง โดยเริ่มต้นจากการปล่อยแผนประกันภัยรถยนต์ 3 พลัส เข้าสู่ตลาดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นแบบประกันรูปแบบใหม่ ที่สามารถเลือกกำหนดวันคุ้มครองได้ด้วยตนเอง และให้ความคุ้มครองทั้งรถเจ้าของประกันและคู่กรณี ในราคาที่ถูกกว่าประกันชั้น 1 และ Micro-Insurance หรือ โครงการประกันภัยระดับฐานราก ที่ประกันภัยให้กับประชาชนทุกระดับชั้น โดยเน้นประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อย การขยายผ่านสาขา 26 สาขาและศูนย์บริการ ซึ่งในปีนี้ได้เปิดให้บริการแล้ว 4 แห่ง คือ สาขาร้อยเอ็ด สาขานครศรีธรรมราช สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ และศูนย์บริการทิพยประกันภัย ที่อาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ปตท. รวมถึงการขยายตลาดรายย่อยผ่านระบบตัวแทนและพันธมิตรของบริษัท
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนการปรับปรุงกระบวนการทำงานและพัฒนาระบบงานสนับสนุน และการพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มความรู้และประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการรองรับหลักเกณฑ์ใหม่ RBC (Risk-based Capital)หรือ การดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง ที่ คปภ. จะนำมาใช้ควบคุมเงินกองทุนของบริษัทประกันภัย
ในปี 2553 นี้ ทิพยประกันภัย มุ่งมั่นที่จะพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อให้เข้าถึงและขยายฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา