ความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน … คงไม่ถูกยกระดับเป็นสงครามการค้าในวงกว้าง

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีความรุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ต้นที่ผ่านมาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ ขายอาวุธให้กับไต้หวัน และการประชุมของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กับองค์ดาไล ลามะ และต่อเนื่องมาถึงประเด็นค่าเงิน โดยสหรัฐฯ กดดันให้จีนปล่อยค่าเงินหยวนให้แข็งค่ามากขึ้นหลังจากที่จีนคงค่าเงินหยวนไว้ที่ 6.83 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา เพื่อช่วยเหลือภาคส่งออกของจีนในช่วงที่เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้สินค้าส่งออกของจีนมีความได้เปรียบด้านราคา ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาการว่างงานของสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ต้องเผชิญปัญหาการขาดดุลการค้าในระดับสูง โดยสหรัฐฯ มีมูลค่าขาดดุลการค้ากับจีนสูงที่สุดราว 18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2553 เพิ่มขึ้นจาก 18.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2552

แม้ว่าในขณะนี้จีนเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ อย่างหนัก แต่จีนยังย้ำอย่างค่อนข้างกร้าวถึงการคงค่าเงินหยวน โดยเห็นว่าค่าเงินของจีนไม่ได้อ่อนค่าเกินไปและแสดงท่าทีค่อนข้างชัดที่จะดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนโดยคำนึงถึงเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยอาจมีการปรับค่าเงินให้แข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ในระยะเวลาที่เหมาะสม มากกว่าการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ซึ่งจีนถือว่าการเรียกร้องของสหรัฐฯ ให้จีนปรับค่าเงินให้แข็งค่า เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่ง และขู่ที่จะตอบโต้สหรัฐฯ หากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบาย Trade Sanction กับจีน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ความขัดแย้งเรื่องค่าเงินระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในครั้งนี้ที่อาจนำไปสู่การใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมาตรการที่สหรัฐฯ และจีนนำมาใช้อาจทำให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาพลังงาน/สินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งฮ่องกงด้วย แต่ผลกระทบในครั้งนี้ในที่สุดแล้วคาดว่าน่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และจีนคงตระหนักถึงผลกระทบของการใช้มาตรการทางการค้าที่รุนแรงระหว่างกัน ซึ่งย่อมไม่ส่งผลดีต่อทั้งสหรัฐฯ และจีน ความขัดแย้งในครั้งนี้จึงไม่น่ารุนแรงจนนำไปสู่สงครามทางการค้า แต่คงเป็นการออกมาตรการในเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงท่าทีของแต่ละฝ่าย

 รัฐบาลสหรัฐฯ ที่นำโดยพรรคเดโมแครตต้องเผชิญแรงกดดันทางการเมืองครั้งสำคัญ แม้ว่าดัชนีสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นโดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวตั้งแต่ปลายปี 2552 และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ชะลอลงเหลือร้อยละ 9.7 ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 จากระดับร้อยละ 10 ในช่วงปลายปี 2552 แต่อัตราการว่างงานที่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง และการที่ทางการสหรัฐฯ เข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้พรรคเดโมแครตพ่ายแพ้การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในรัฐแมสซาซูเซตส์ในเดือนมกราคม 2553 ซึ่งถือเป็นฐานเสียงเดิมของพรรคให้แก่พรรครีพับลิกันด้วยคะแนนเสียงจำนวนมาก ทำให้การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรกลางเทอมรอบ 2 ปีที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2553 จึงมีความสำคัญต่อพรรคเดโมแครตที่จะต้องดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาการว่างงานที่มีแนวโน้มยังอยู่ระดับสูงในปีนี้ รวมทั้งการฟื้นฟูภาคส่งออกซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวในปีนี้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในแถลงการณ์ประจำปีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ทั้งจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน 130 คน ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐฯ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการรุนแรงขึ้นเพื่อกดดันให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นภาษีกับสินค้าส่งออกจากจีน ขณะที่สมาชิกของสภานิติบัญญัติบางส่วนได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่กำหนดค่าเงิน (currency manipulator) ในรายงานรายครึ่งปีของกระทรวงการคลังที่มีกำหนดออกเผยแพร่ในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ รวมทั้งวุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครตที่อยู่ระหว่างการหาแนวทางผ่านกฎหมายก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคมเพื่อผลักดันให้จีนปรับขึ้นค่าเงินหยวน โดยสหรัฐฯ อาจใช้มาตรการทางการค้ากับสินค้าส่งออกของจีน เช่น การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ทั้งนี้ สหรัฐฯ ใช้มาตรการเก็บภาษีกับสินค้าส่งออกของจีนอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (AD) สินค้าประเภทกล่องบรรจุของขวัญและกล่องกระดาษบรรจุหีบห่อของจีนร้อยละ 231 จากก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2552 สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์และรถบรรทุกเล็กจากจีนเป็นเวลา 3 ปี

แม้สหรัฐฯ อาจใช้มาตรการทางการค้าโดยการขึ้นภาษีกับสินค้าส่งออกของจีนเพิ่มเติมเพื่อกดดันจีน แต่คาดว่าการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ คงไม่ครอบคุมสินค้าในวงกว้างและมีระดับการขึ้นภาษีที่ไม่รุนแรงนัก แต่คงเป็นการพิจารณาเลือกปรับขึ้นภาษีกับสินค้าจีนบางรายการที่ไม่ส่งผลกระทบกลับมาต่อภาคธุรกิจสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ น่าจะตระหนักถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีกับสินค้าจีนที่แม้ว่าอาจจะช่วยธุรกิจภายในสหรัฐฯ ให้แข่งขันกับสินค้าจีนที่มีราคาถูกกว่าได้ดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ต้นทุนวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลาง/สินค้าอุปโภคบริโภคที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนจะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ระดับราคาสินค้าในสหรัฐฯ สูงขึ้น ซึ่งจะกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อแล้ว ยังส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชนสหรัฐฯ อาจทำให้การใช้จ่ายบริโภคของประชาชนสหรัฐฯ อ่อนแรงลงด้วย ขณะที่ธุรกิจสหรัฐฯ ที่ใช้วัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางจากจีนอาจได้รับผลกระทบจากราคานำเข้าสูงขึ้นเนื่องจากถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนสหรัฐฯ ที่เข้าไปลงทุนในจีนเพื่อผลิตส่งออกกลับมาสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบจากการต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

 จีนยังถือเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของสหรัฐฯ แม้จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 20.8 ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (YoY) แต่การนำเข้าของจีนจากสหรัฐฯ ก็เติบโตในอัตราสูงกว่าโดยขยายตัวร้อยละ 37 (YoY) ตามความต้องการนำเข้าของจีนที่เติบโตต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 8.7 ในปี 2552 ซึ่งสูงกว่าที่ทางการจีนตั้งเป้าหมายไว้ หากทางการจีนถูกกดดันจากสหรัฐฯ จนต้องใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยการปรับขึ้นภาษีสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลกระทบให้การส่งออกของสหรัฐฯ ไปจีนชะลอลงเช่นกัน

 การนำเข้าของจีนที่ขยายตัวสูง ทำให้มูลค่าเกินดุลการค้าของจีนปรับลดลงร้อยละ 50 ในช่วง 2 เดือนแรกนี้จากช่วงเดียวกันปี 2552 (YoY) โดยทางการจีนคาดการณ์ว่าดุลการค้าของจีนมีแนวโน้มขาดดุลในเดือนมีนาคม 2553 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2547 จากที่เกินดุลการค้า 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ สาเหตุของแนวโน้มที่จีนจะขาดดุลการค้าในเดือนมีนาคมนี้เนื่องจากความต้องการนำเข้าของจีนที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกยังอาจขยายตัวไม่สูงนักตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่คาดว่ายังมีภาคการบริโภคที่อ่อนแรง ซึ่งหากดุลการค้าของจีนกลับมาขาดดุลในเดือนนี้ก็น่าจะทำให้แรงกดดันให้จีนปรับขึ้นค่าเงินหยวนบรรเทาลงไป

 ความแข็งแกร่งทางการเงินของจีนในฐานะที่จีนมีเงินสำรองต่างประเทศสูงที่สุดในโลก ส่งผลให้จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 แม้ว่าจีนได้ลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 เพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากฐานะการคลังที่อ่อนแอของสหรัฐฯ โดยคาดว่าสหรัฐฯ จะขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ แต่จีนก็ยังถือเป็นผู้ถือครองพันธบัตรที่มีมูลค่าสูงที่สุดโดยอยู่ที่ 889 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยญี่ปุ่นที่มีมูลค่า 765.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในครั้งนี้ อาจกดดันให้จีนตอบโต้สหรัฐฯ โดยการชะลอการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความผันผวนของค่าเงิน และดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ จีนและฮ่องกง อย่างไรก็ตาม คาดว่าแม้ว่าทางการจีนอาจชะลอการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ในระยะนี้เพื่อต้องการแสดงท่าทีตอบโต้สหรัฐฯ แต่มูลค่าการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ของจีนคงไม่ลดลงมากนัก เพราะดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าจะเหมาะกับการลงทุนเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆเนื่องจากมีความปลอดภัยสูง

 ด้านการลงทุนของสหรัฐฯ ในจีนเริ่มมีประเด็นขัดแย้ง โดยบริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลรายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจยุติการเซ็นเซอร์ผลการค้นหาข้อมูลในจีนและย้ายฐานการประมวลผลจากกรุงปักกิ่งไปยังฮ่องกง เนื่องจากเห็นว่าการทำธุรกิจในจีนมีความยากลำบาก ขณะที่บรรยากาศด้านการลงทุนในจีนในสายตาของธุรกิจสหรัฐฯ ทั่วไปมีความน่าสนใจลดลง โดยจากการสำรวจของหอการค้าสหรัฐฯ (AmCham) พบว่า จำนวนบริษัทสหรัฐฯ ที่เห็นว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจในจีนไม่ได้รับการตอบรับ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเห็นว่าทางการจีนกำหนดเงื่อนไขด้านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ออกมาในปี 2552 ที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้จัดหาวัตถุดิบภายในประเทศโดยระบุเงื่อนไขด้านนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นการจำกัดการเข้ามาของบริษัทต่างชาติในการเข้ามาประมูลงานภาครัฐหลายสาขา เช่น ธุรกิจคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และอุปกรณ์สำนักงาน รวมทั้งการกำหนดสัดส่วนการเข้ามามีส่วนร่วมของธุรกิจต่างชาติในอุตสาหกรรมบางสาขา ซึ่งประธานหอการค้าสหรัฐฯ เห็นว่ากฎระเบียบของทางการจีนที่จำกัดการเข้าสู่ตลาดของต่างชาติและลดการแข่งขัน ไม่ช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และเห็นว่าจีนมีข้อผูกพันในการเข้าเป็นสมาชิก WTO ที่จะต้องปฏิบัติต่อบริษัทต่างชาติและบริษัทในประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งในปัจจุบันบริษัทต่างชาติในหลายอุตสาหกรรมยังคงประสบอุปสรรคด้านการนำเข้าจากจีนและการลงทุนในจีน

ทั้งนี้มูลค่า FDI ของสหรัฐฯ ในจีนปี 2552 ราว 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน 2551 จากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่หดตัวรุนแรง โดยมูลค่าการลงทุนของสหรัฐฯ ในจีนยังถือว่าไม่มากนัก สัดส่วนราวร้อยละ 2.6 ของมูลค่า FDI ทั้งหมดในจีนที่อยู่ที่ 94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 แต่ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น โดยมูลค่า FDI ของสหรัฐฯ ในจีนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปี 2552 (YoY) เป็น 14.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและการที่หอการค้าสหรัฐฯ ที่ออกมาแสดงความเห็นด้านอุปสรรคการลงทุนในจีน อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนสหรัฐฯ และนักลงทุนชาติอื่นๆ ในจีนด้วย

 ความขัดแย้งเรื่องค่าเงินของสหรัฐฯ และจีนในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการค้าโลกในปีนี้ เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และจีนมีบทบาทสำคัญต่อการค้าโลก โดยจีนแซงหน้าเยอรมนีเป็นประเทศส่งออกสินค้ามีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 1 ในปี 2552 ส่วนสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลก กรณีที่สหรัฐฯ และจีนใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรง ซึ่งอาจฉุดรั้งให้การค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ในเดือนมกราคม 2553 ว่า ปริมาณการค้าสินค้าและบริการทั่วโลกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวร้อยละ 5.8 ในปีนี้ จากที่หดตัวร้อยละ 12.3 ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม คาดว่าสหรัฐฯ และจีนจะดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันในวงจำกัดเนื่องจากประโยชน์จากการพึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างกัน นอกจากนี้ คาดว่าแรงกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ อาจบรรเทาลงในระยะต่อไป เมื่อมีประเด็นทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจและสำคัญกว่า เช่น ปัญหาการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ และปัญหาการว่างงาน ซึ่งก็น่าจะทำให้ความขัดแย้งเรื่องค่าเงินในครั้งนี้ ไม่น่ามีความรุนแรงจนนำไปสู่สงครามการค้าที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง

สรุป
แรงกดดันของสหรัฐฯ เรื่องค่าเงินกับจีนในครั้งนี้เป็นการเรียกร้องไปตามความจำเป็นทางการเมืองภายในสหรัฐฯ ที่จะมีกำหนดเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรกลางเทอมรอบ 2 ปี ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำให้ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการว่างงานและผลักดันภาคส่งออกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตามนโยบายที่ประกาศไว้ จึงพยายามกดดันให้จีนยืดหยุ่นค่าเงินให้แข็งค่ามากขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยการประกาศจะใช้มาตรการทางการค้าโดยการปรับขึ้นภาษีสินค้าส่งออกจากจีนหากจีนยังไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ขณะที่จีนแสดงจุดยืนที่จะไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ โดยประกาศอาจตอบโต้สหรัฐฯ โดยการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการทางการค้ากับจีนเพิ่มเติมเพื่อกดดันจีนคงจะเป็นการแสดงท่าทีในเชิงสัญลักษณ์เพื่อผลทางการเมืองมากกว่า ขณะที่โอกาสที่จะมีข้อพิพาททางการค้าที่ครอบคลุมสินค้าในวงกว้างและอัตราภาษีสูงจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่ง ทำให้คาดว่าในที่สุดแล้ว ผลกระทบจากการใช้มาตรการทางการค้าของทั้งสองประเทศคงจะไม่รุนแรงนัก เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และจีนตระหนักถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน จากปัจจุบันที่ทั้งสองประเทศยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศผ่านการค้าทั้งการส่งออกและการนำเข้า รวมถึงภาคการลงทุนที่เชื่อมโยงกัน ทำให้ในท้ายที่สุดหากการตอบโต้รุนแรงจนเป็นสงครามการค้าย่อมไม่ส่งผลดีต่อทั้งสหรัฐฯ และจีน

สำหรับทางการจีนนั้น มีท่าทีปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่ง คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยทางการจีนคงจะพิจารณาจากภาวะเงินเฟ้อและความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศที่ในปัจจุบันยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้าน โดยภาวะเงินเฟ้อของจีนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในปีนี้ ตามการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่กดดันให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นด้วย ทางการจีนคงใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและฟองสบู่ในภาคสินทรัพย์ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง ขณะที่ภาคส่งออกที่ฟื้นตัวได้แต่ยังไม่เต็มที่นัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในหลายๆ ส่วนยังเผชิญกับปัญหาการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยเฉพาะในยุโรปที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีในระดับสูง โดยเฉพาะกรีซ และโปรตุเกส ทำให้การฟื้นตัวของยุโรปโดยรวมคงเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า ขณะที่ทางการจีนยังใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปีนี้ จึงคาดว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้นจากปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 แม้ว่าการเติบโตอาจชะลอลงไปบ้างตามการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ก็คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้น่าจะขยายตัวได้อย่างน้อยร้อยละ 9

สำหรับผลกระทบต่อไทยจากกรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน คาดว่าคงจะมี ไม่มากนักเช่นกัน แม้ว่าอาจมีผลกระทบบ้างในฐานะที่จีนเป็นผู้ผลิตและประเทศส่งออกรายใหญ่ของโลก ขณะที่ประเทศเอเชียและไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของจีน การใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ กับจีนโดยการปรับขึ้นภาษี อาจส่งผลทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยไปจีนที่จีนใช้ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ อาจต้องชะลอลงไปบ้างในบางรายการตามการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ที่ชะลอลงจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ แต่ผลกระทบค่อนข้างจำกัดและไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกไทยไปจีนโดยรวม