การเมืองฉุดท่องเที่ยว แต่คาดส่งออกยังแกร่ง … หนุนจีดีพีปี 2553 ขยายตัว 3.5-6.0%

สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ขยายเข้าไปสู่ย่านใจกลางธุรกิจของกรุงเทพฯ และยังไม่มีหนทางออกที่แน่ชัดว่าเหตุการณ์จะดำเนินต่อไปในรูปแบบใด ภาวะดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ที่อาจจะลดทอนเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งเป้าในปี 2553 นี้ไว้ว่าจะมีจำนวน 15.0-15.5 ล้านคน หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 6-10 เท่านั้น แต่ยังจะส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจค้าปลีกและการค้าขายในบริเวณหรือเส้นทางที่มีการเคลื่อนไหวชุมนุม ซึ่งธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้มีการเปิดเผยถึงตัวเลขผลกระทบที่เกิดขึ้นออกมาบ้างแล้ว

แต่ขณะเดียวกันสถานการณ์ในภาคการส่งออกที่เติบโตสูงอย่างมากในช่วง 2 เดือนแรก ขณะที่ในระยะต่อไป แม้ว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวอาจชะลอลง เนื่องจากผลของฐานที่ค่อยๆ สูงขึ้นในเดือนถัดๆ ไป แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ทิศทางการส่งออกตลอดทั้งปี 2553 จะมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงเป็นตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ญี่ปุ่นและกลุ่มยูโรโซนก็มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างชัดเจน นอกจากนี้การส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากการเปิดตลาดการค้าเสรีอย่างครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าผลกระทบของปัจจัยทางการเมืองที่มีต่อหลายธุรกิจอาจจะมีความรุนแรง แต่ถ้าภาคการส่งออกยังสามารถขับเคลื่อนไปได้ โดยไม่เกิดกรณีที่ปัญหาทางการเมืองลุกลามจนส่งผลกระทบให้ระบบคมนาคมขนส่งภายในและระหว่างประเทศต้องหยุดชะงักลง ก็คาดว่า แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในต่างประเทศนี้ น่าจะยังช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวในระดับที่ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มีการประเมินทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2553 โดยได้พิจารณาทั้งปัจจัยบวกที่มีเพิ่มขึ้น จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจต่างประเทศและผลของกรอบการค้าเสรี ที่จะสนับสนุนภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ได้ทบทวนผลกระทบของความเสี่ยงทางการเมืองที่มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และบรรยากาศความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ดังนี้

การเติบโตในอุตสาหกรรมส่งออก ผลักดันจีดีพีไตรมาส 1/2553 พุ่งสูง 8-9% YoY
ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนแรก บ่งชี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีกว่าที่คาดไว้อย่างมาก โดยเฉพาะเครื่องชี้ด้านการส่งออก ผลผลิตอุตสาหกรรม และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่คาดว่าสถานการณ์ในเดือนมีนาคมจะยังมีทิศทางที่ดี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้เครื่องชี้ทั้ง 3 ด้านดังกล่าวเติบโตได้สูงเกือบร้อยละ 30 (YoY) ในไตรมาสที่ 1/2553

การส่งออกนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในภาคการส่งออกนั้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลัก ประกอบกับผลของการลดภาษีภายใต้การเปิดเสรีเต็มรูปแบบในกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และการลดภาษีเพิ่มเติมในกรอบการค้าเสรี (FTA) อื่นๆ ซึ่งนำไปสู่การขยายการผลิตและการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีรายได้ที่ดีขึ้น และนับเป็นปัจจัยที่เสริมความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนทำให้การบริโภคและการลงทุนขยายตัวตามไปด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 1/2553 น่าจะขยายตัวสูงในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) และมีโอกาสเป็นไปได้ที่ตัวเลขอาจจะสูงไปถึงร้อยละ 9.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเศรษฐกิจติดลบรุนแรงถึงร้อยละ 7.1 ในไตรมาสที่ 1/2552 และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมส่งออก ทั้งนี้ คาดว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีผล (Contribution) ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกสูงถึงร้อยละ 6.0-7.0 (Percentage Point) ส่ วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 2.0 มาจากสาขาเศรษฐกิจอื่นๆ รวมกัน

ปัจจัยหนุนจากภาคส่งออกน่าจะยังคงขับเคลื่อนได้ แต่ต้องจับตาการเมืองไทย
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสถัดๆ ไป น่าจะยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและผลของการเปิดตลาดการค้าเสรี แต่ขณะเดียวกัน สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศอาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น เนื่องจากสภาวะการเมืองที่ยังไร้ทางออกที่แน่ชัด

สำหรับปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศน่าจะยังคงเป็นทิศทางที่เกื้อหนุนการฟื้นตัวในภาคส่งออก โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจในประเทศชั้นนำของโลก ทั้งสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากการที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2552 มาจนถึงไตรมาสที่ 1/2553 เป็นการเติบโตที่นำโดยกิจกรรมในภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งคำสั่งซื้อบางส่วนเป็นไปเพื่อการปรับเพิ่มระดับสินค้าคงคลังรองรับความคาดหมายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเมื่อสต็อกสินค้าในมือของผู้ประกอบการเริ่มมีระดับสูงเพียงพอ การสั่งซื้ออาจชะลอลง ขณะเดียวกันทางการของประเทศต่างๆ น่าจะทยอยลดมาตรการพิเศษในการกระตุ้นเศรษฐกิจลง จึงมีความเป็นไปได้ที่อัตราเร่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศจะค่อยๆ ชะลอลงในระยะต่อไป

ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหาทางการเมืองของไทยที่ตึงเครียดได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนการทำธุรกิจและค้าขายในย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ ซึ่งถูกใช้เป็นพื้นที่ที่หลักในการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ขณะที่ต้องยอมรับว่าปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยทางการเมืองย่อมส่งผลต่อบรรยากาศความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งหากสถานการณ์การเผชิญหน้าทางการเมืองยิ่งยืดเยื้อออกไป ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น ตัวแปรทางการเมืองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจผ่านช่องทางผลกระทบที่มีต่อภาคการท่องเที่ยว การลงทุน การใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงความล่าช้าของการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ

อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนในภาคการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลก และผลในเชิงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดส่งออกที่ขยายฐานใหญ่ขึ้นภายในกลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรีร่วมกับไทยและอาเซียนนั้น เมื่อรวมกับผลของตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกที่เติบโตสูงอย่างมาก ก็น่าจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้สามารถเติบโตได้ในอัตราที่ค่อนข้างดีกว่าที่คาด ขณะเดียวกัน จากตัวเลขไตรมาสแรกที่สูงถึงร้อยละ 8-9 อีกทั้งฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อนหน้า จึงเป็นสาเหตุให้ แม้ในกรณีเลวร้าย ที่เศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลืออาจขยายตัวต่ำ แต่ก็คาดว่าน่าจะยังพยุงให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.5

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2553 … อาจขยายตัว 3.5-6.0%
ทั้งนี้ สมมติฐานของการประมาณการในกรณีต่างๆ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีดังนี้
ในกรณีพื้นฐาน (Base case) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.8 โดยปัจจัยหนุนด้านการส่งออก น่าจะทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเติบโตในระดับสูง และจะส่งผลดีต่อเนื่องไปสู่ภาวะการจ้างงาน การบริโภคและการลงทุน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้เศรษฐกิจโดยรวมยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี แม้สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่อาจยังคงยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมทั้งประสิทธิภาพในการผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลก็ตาม ในกรณีนี้ ได้คำนึงผลกระทบทางการเมืองไว้ในระดับปานกลาง โดยจะมีผลกระทบประมาณร้อยละ 0.8 ของจีดีพี

ในกรณีที่ดี (Best case) หากเศรษฐกิจโลกสามารถรักษาระดับอัตราการขยายตัวสูงต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี แรงหนุนจากการส่งออกจะผลักดันให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมสามารถขยายตัวสูงเป็นตัวเลข 2 หลักได้ในปีนี้ และจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่จีดีพีของไทยในปี 2553 อาจจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 6.0 ในกรณีนี้ ได้คำนึงผลกระทบทางการเมืองไว้ในระดับที่ไม่รุนแรง คือประมาณ ร้อยละ 0.2 ของจีดีพี

สำหรับ ในกรณีเลวร้าย (Worst case) หากทิศทางเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวในระดับปานกลาง ขณะที่ปัญหาทางการเมืองในประเทศยังคงยืดเยื้อและสุ่มเสี่ยงที่จะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอาจช่วยชดเชยผลกระทบของปัญหาการเมืองในประเทศได้น้อยกว่าในกรณีพื้นฐาน ในกรณีนี้ ได้คำนึงผลกระทบทางการเมืองไว้ในระดับรุนแรงมาก โดยอาจจะมีผลกระทบถึงประมาณร้อยละ 1.5 ของจีดีพี

โดยสรุป เศรษฐกิจไทยในปี 2553 เริ่มต้นด้วยการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเหนือความคาดหมายในไตรมาสแรก โดยมีกลจักรขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออก ที่มีแรงผลักดันมาจากการเติบโตอย่างเข้มแข็งของเศรษฐกิจโลก และการขยายการค้าภายในภูมิภาคภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี อันเป็นแรงส่งให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยนั้น ขยายตัวสูงอย่างมากในไตรมาสแรก และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องในไตรมาสถัดๆ ไป ทั้งนี้ จากการเติบโตสูงของเครื่องชี้เศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนในช่วง 2 เดือนแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2553 อาจจะขยายตัวสูงประมาณร้อยละ 8.0-9.0 ซึ่งนับเป็นอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบไม่ต่ำกว่า 6 ปี โดยหากตัวเลขอัตราการขยายตัวของจีดีพีสูงเกินร้อยละ 8.4 จะนับเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบกว่า 14 ปี ซึ่งการขยายตัวสูงดังกล่าวนี้จะมีส่วนช่วยดึงกรอบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งปีให้สูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้แม้ว่าได้มีการประเมินผลกระทบทางการเมืองรวมเข้าไว้แล้ว ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จีดีพีทั้งปีจะขยายตัวสูงกว่ากรอบประมาณการเดิม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 น่าจะมีอัตราการขยายตัวในกรอบประมาณร้อยละ 3.5-6.0 สูงขึ้นจากคาดการณ์เดิมเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อยละ 3.0-4.0 โดยผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอาจจะสร้างความสูญเสียให้แก่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0.2-1.5 ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 23,000-150,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและความรุนแรงของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวของจีดีพีไทยอาจจะสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานตัวเลขที่สูงในไตรมาสแรก ขณะที่เมื่อมองไปข้างหน้า ความเสี่ยงทางการเมืองจะกดดันให้เศรษฐกิจในไตรมาสถัดๆ ไปชะลอตัวลง และหากปัญหาทางการเมืองยังคงยืดเยื้อและมีความรุนแรง จะยิ่งบั่นทอนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป ดังนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจที่เสมือนว่าเป็นตัวเลขที่ดีในไตรมาสแรกและเฉลี่ยตลอดทั้งปีนี้ จึงไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างมั่นคงแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องยอมรับว่าการเติบโตสูงในช่วงปีนี้ มีน้ำหนักเอียงไปที่ธุรกิจส่งออกที่ขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉลี่ยแล้ว อาจมีศักยภาพการเติบโตที่น้อยกว่า โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ที่อาจจะได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง นอกจากนี้ การพึ่งพาการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเพียงอย่างเดียว ยังสะท้อนความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเปราะบางต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ขณะที่หากการเมืองยังคงไร้เสถียรภาพ ก็จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปยังปีข้างหน้า และจะยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อศักยภาพและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว