การปฏิรูปภาคการเงินสหรัฐฯ…พลิกโฉมระบบการเงินครั้งสำคัญ

หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันการปฏิรูประบบประกันสุขภาพแล้ว การปฏิรูประบบการเงินสหรัฐฯ เพื่อคุมเข้มการกำกับดูแลภาคธนาคารและตลาดทุนของสหรัฐฯ จึงกลายเป็นวาระถัดไปของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่ง ณ ขณะนี้ เป็นที่คาดหมายว่า จะมีความพยายามผลักดันร่างกฎระเบียบดังกล่าวให้ได้รับการอนุมัติเป็นกฎหมายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสภาคองเกรสในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 นี้

หลักฐานการฟื้นตัวที่ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ประเด็นการปฏิรูประบบการเงินเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการสอดส่องดูแลและกำหนดกฎระเบียบในภาคการเงินของสหรัฐฯ ถูกตีให้เข้มข้น และได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากประชาชนสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีรายงานข่าวเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2553 ที่ระบุว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศฟ้องร้องโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ ซึ่งเป็นเสาหลักในย่านวอลล์สตรีทในข้อหาฉ้อโกงในส่วนที่เกี่ยวกับการทำตลาดผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (สินเชื่อจำนองซับไพร์ม)

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการฟ้องร้องในคดีความทางแพ่งเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า หลังจากที่ทางการเยอรมนี และอังกฤษ แจ้งให้ก.ล.ต.สหรัฐฯ เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการทำธุรกิจที่มีลักษณะฉ้อโกงของโกลด์แมน แซคส์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมีความกังวลว่า ก.ล.ต.ของสหรัฐฯ ดำเนินการตรวจสอบภาคธนาคารในวงกว้าง ซึ่งก็อาจทำให้สถาบันการเงินรายอื่นๆ ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับโกลด์แมน แซคส์ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการรวบรวมประเด็นสำคัญที่ถูกคาดหมายว่า จะปรากฎในกฎหมายปฎิรูปภาคการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่พลิกโฉมหน้าของระบบการเงินโลกไว้ดังนี้ :-

 กฎหมายปฏิรูประบบการเงินสหรัฐฯ…อาจถูกผลักดันออกมาภายในปีนี้
คงไม่สามารถปฏิเสธว่า ระบบการเงินที่ขาดการกำกับดูแลที่รัดกุมในช่วงก่อนวิกฤตซับไพร์ม เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหาได้ลุกลามกลายเป็นวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ (และก่อให้เกิดปัญหาในภาคการเงินของประเทศอื่นๆ บางประเทศ) ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงเวลานั้น ได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และดำเนินมาตราการผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยแก้ปัญหาทางด้านสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน ขณะที่ ทางการสหรัฐฯ นำโดยกระทรวงการคลัง ก็พยายามผลักดันหลากหลายมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยแผนฟื้นฟูภาคการเงินสหรัฐฯ มูลค่า 7.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ เพื่อเข้าช่วยเหลือและเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเงินทุนให้กับสถาบันการเงินและบริษัทรถยนต์ที่ประสบปัญหา ก็นับเป็นหนึ่งในบรรดาชุดมาตรการที่สำคัญของทางการสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ทยอยฟื้นตัวขึ้น การปฏิรูประบบการเงินเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการสอดส่องดูแลและกำหนดกฎระเบียบในภาคการเงิน ก็ได้กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกตีให้เข้มข้น และได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากประชาชนสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีรายงานข่าวเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2553 ที่ระบุว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศฟ้องร้องโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ ซึ่งเป็นเสาหลักในย่านวอลล์สตรีทในข้อหาฉ้อโกงในส่วนที่เกี่ยวกับการทำตลาด (สร้าง+จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์) ผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (สินเชื่อจำนองซับไพร์ม)

ทั้งนี้ คดีฟ้องร้องโกลด์แมน แซคส์ดังกล่าว ทำให้สมาชิกพรรคเดโมแครตมีความเชื่อมั่นมากขึ้น1 ว่า ร่างกฎหมายปฎิรูปภาคการเงินซึ่งถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา จะได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่จะมีการอภิปรายและหารือเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภา (The Senate Banking Committee) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยังคงต้องมีกระบวนการประสานร่างกฎหมายฉบับวุฒิสภา กับร่างกฎหมายอีกฉบับที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ไปแล้วในช่วงเดือนธันวาคม 2552 เข้าด้วยกัน ก่อนที่จะเสนอต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ลงนามประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายในขั้นตอนท้ายที่สุด ซึ่งก็จะรับกับการครบรอบ 2 ปีของวิกฤตการเงินในย่านวอลล์สตรีทพอดี

ประเด็นโดยสังเขปของข้อเสนอที่ถูกคาดหมายว่าจะปรากฏในกฎหมายปฏิรูปภาคการเงินของสหรัฐฯ

ข้อเสนอเพื่อหลีกเลี่ยงการนำเงินภาษีของประชาชนไปช่วยกอบกู้สถาบันการเงิน และยุติความเชื่อที่ว่าสถาบันการเงินมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มได้ (Too Big To Fail)
** มีข้อเสนอให้มีการจัดทำกระบวนการขายทอดกิจการอย่างเป็นระเบียบ (Orderly Liquidation) ของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ประสบปัญหา โดยจะมีการมอบอำนาจแก่ผู้ควบคุมกฎระเบียบทำการเข้ายึดกิจการ และดำเนินขั้นตอนผ่านกระบวนการที่คล้ายกับการล้มละลาย เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปกอบกู้กิจการโดยตรงแบบที่ไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ดังเช่นการเข้ากอบกู้สถานะของบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป อิงค์ (AIG) ในช่วงวิกฤตรอบล่าสุด และอาจมีการจัดตั้งกองทุน (ร่างกฏหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเสนอวงเงินไว้ที่ 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ) เพื่อใช้ในกระบวนการปิดกิจการของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา ซึ่งสถาบันการเงินจะเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ อย่างไรก็ดี มีข้อโต้แย้งร่างกฏหมายของคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาจากพรรครีพับลิกันว่า การเปิดโอกาสให้กองทุนนี้ สามารถทำการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจากกระทรวงการคลังก็เปรียบเสมือนเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในการกอบกู้สถาบันการเงินทางอ้อมอยู่ดี

จัดตั้งหน่วยงานให้การคุ้มครองผู้บริโภคบริการทางการเงิน (A Financial Consumer Protection Watchdog)
** อาจมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของรัฐบาลที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคบริการทางการเงิน ซึ่งอาจจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หรือเป็นหน่วยงานอิสระ โดยหน่วยงานนี้อาจจะมีอำนาจสั่งการอย่างมากในการตรวจสอบและออกกฎระเบียบบังคับใช้กับสถาบันการเงิน ควบคุมธุรกิจด้านการจำนอง และสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่อยู่นอกภาคธนาคาร เพื่อให้ธุรกรรมการให้บริการทางการเงินแก่ผู้บริโภคได้รับการกำกับดูแลจากทางการ และเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรมมากขึ้น

การกำกับดูแลภาคธนาคาร และการกำหนดกฎระเบียบด้านความเสี่ยงต่อระบบการเงิน
** มีข้อเสนอให้คงอำนาจในการกำกับสถาบันการเงินและบริษัทโฮลดิ้งธนาคารขนาดใหญ่ (ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ) ของเฟดไว้เช่นเดิม อย่างไรก็ดี เฟดอาจจะสูญเสียอำนาจกำกับดูแลธนาคารที่อยู่ภายใต้กฏบัตรของรัฐ (State Banks) สถาบันเงินออม (Thrifts) และบริษัทโฮลดิ้งของ State Banks ที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ให้กับบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corporation: FDIC) ขณะที่ ธนาคารระดับประเทศ (National Banks) ที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จะอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคลัง (The Office of the Comptroller of the Currency: OCC) ที่จะควบกิจการของสำนักงานกำกับดูแลสถาบันเงินออม (The Office of Thrift Supervision: OTS) เข้าไว้ด้วยกัน

** มีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้ควบคุมกฎระเบียบ 9 คน เพื่อทำหน้าที่ดูแลด้านความเสี่ยงต่อระบบการเงิน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีรัฐมนตรีคลังทำหน้าที่เป็นประธาน ทั้งนี้ เสียงโหวต 2 ใน 3 ของคณะกรรมการจะสามารถกำหนดให้สถาบันการเงินนอกภาคธนาคารซึ่งมีความเสี่ยงต่อระบบการเงินสูงเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเฟด นอกจากนี้ยังสามารถอนุมัติการพิจารณาของเฟดในการสั่งแตกกิจการบริษัทใดๆ ที่มีขนาดใหญ่จนเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

การห้ามธนาคารทำการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในบางรูปแบบเพื่อธนาคารเอง (Proprietary Trading) หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม “กฎโวลค์เกอร์” เพื่อจำกัดความเสี่ยงของสถาบันการเงิน

** อาจมีการรวมข้อเสนอที่ห้ามสถาบันการเงินทำการซื้อ-ขายหลักทรัพย์เพื่อธนาคารเอง (ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับคำสั่งของลูกค้าธนาคาร) เข้าไว้ในร่างกฎหมายปฏิรูปภาคการเงิน อย่างไรก็ดี ยังคงไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับระดับความเข้มงวดของกฎโวลค์เกอร์ ซึ่งอาจมีความเข้มข้นถึงขั้นการระงับการทำธุรกิจหลายๆ ประเภท อาทิ การสนับสนุนเฮดจ์ฟันด์ และ Private Equity ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการจำกัดพฤติกรรมการลงทุนที่มีความเสี่ยงในภาคธนาคาร และเพื่อลดโอกาสที่จะต้องมีการนำเงินภาษีของประชาชนสหรัฐฯ ไปใช้ในการประคับประคองกิจการของธนาคารที่มีกลยุทธ์การลงทุนที่ผิดพลาดในอนาคต

การกำกับตราสารอนุพันธ์นอกตลาด (OTC Derivatives) และกองทุนเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่
** มีข้อเสนอให้มีการคุมเข้มกฎระเบียบเพื่อบังคับให้มีการซื้อ-ขายตราสารอนุพันธ์ผ่านตลาด หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือสำนักหักบัญชีกลาง เพื่อสร้างความโปร่งใสและเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถตรวจสอบและกำกับดูแลการทำธุรกรรมผ่านตราสารอนุพันธ์ได้อย่างใกล้ชิด จากเดิมที่ไม่มีการกำกับดูแลธุรกรรมประเภทนี้อย่างจริงจัง ซึ่งมีความเชื่อว่า ธุรกรรมผ่านตราสารประเภทนี้อาจเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้วิกฤตการเงินมีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายก็ได้มีการเสนอให้มีการควบคุมดูแลเฮดจ์ฟันด์เพิ่มขึ้น โดยอาจมีการออกระเบียบให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีขนาดสินทรัพย์ค่อนข้างใหญ่ (ร่างกฎหมายฉบับคณะกรรมาธิการการธนาคารวุฒิสภากำหนดไว้ที่ 1.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ) ต้องยื่นจดทะเบียนกับทางการ

ระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริหาร และการเพิ่มสิทธิแก่ผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงิน
** ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริหารสถาบันการเงิน และการเพิ่มสิทธิแก่ผู้ถือหุ้น ในการกำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหาร การคัดเลือกผู้บริหารบริษัท ยังคงเป็นประเด็นที่หาข้อสรุปได้ยาก ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาและประณีประนอมข้อเสนอจากทางพรรครีพับลิกัน พรรคเดโมเครต และนักลอบบี้ภาคธนาคารอย่างเข้มข้น ก่อนที่จะได้ข้อสรุปสุดท้ายออกมา

บทสรุปเบื้องต้นจากการปฏิรูปภาคการเงิน…มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เพื่อแก้ไขความหละหลวมในระบบการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน และทำให้ต้องมีการใช้เงินภาษีของประชาชนสหรัฐฯ จำนวนมากเข้าไปช่วยอุ้มสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา จึงเป็นเป็นที่คาดหมายว่า กฎหมายเพื่อคุมเข้มการกำกับดูแลภาคธนาคารและตลาดทุนของสหรัฐฯ น่าที่จะถูกผลักดันเป็นวาระเร่งด่วนของประธานาธิบดีบารัค โอบามาในเวลานี้ หลังจากที่โอบามาประสบความสำเร็จในการปฏิรูประบบประกันสุขภาพไปแล้ว ทั้งนี้ เค้าลางของความเป็นไปไดที่จะมีการออกกฏหมายปฏิรูปภาคการเงินภายในปีนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ประกาศฟ้องร้องโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ ในข้อหาฉ้อโกงในส่วนที่เกี่ยวกับการทำตลาดผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อจำนองซับไพร์ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วุฒิสภาสหรัฐฯ กำลังจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

หลังจากนั้น จะต้องมีการประสานร่างกฎหมายที่ได้จากการลงมติของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเข้าเป็นฉบับเดียวกัน ซึ่งก็ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า กฎหมายปฎิรูปภาคการเงินฉบับที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะลงนามในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากข้อเสนอบางส่วนที่สรุปไว้เบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ข้อเสนอโดยรวมในกฎหมายกำกับดูแลภาคธนาคารและตลาดทุนของสหรัฐฯ นั้น มีเป้าหมายหลักในการยกเครื่องระบบการเงินของสหรัฐฯ โดยเน้นความเข้มข้นไปที่การจำกัดความเสี่ยงในภาคธนาคาร การปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคบริการทางการเงิน รวมถึงการเสริมสร้างการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของระบบการเงินเพื่อลดโอกาสของการเกิดวิกฤตภาคการเงินในรอบหน้า เป็นสำคัญ

การจำกัดความเสี่ยงในภาคธนาคาร การกำกับดูแลด้านความเสี่ยงทั้งต่อสถาบันการเงินและระบบการเงินโดยรวมที่เข้มงวดมากขึ้นน่าที่จะสร้างความซับซ้อนต่อการทำกำไร และยากต่อขยายช่องทางการดำเนินธุรกิจในภาคธนาคารของสหรัฐฯ นอกจากนี้ หากมีการจัดตั้งกองทุนสำหรับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาขึ้น การต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ ก็อาจกลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการเงิน แม้ว่าการเกิดขึ้นของกองทุนดังกล่าว อาจช่วยลดโอกาสของการใช้เงินภาษีของประชาชนสหรัฐฯ เข้าไปช่วยกอบกู้สถาบันการเงินที่ลงทุนอย่างผิดพลาดก็ตาม

อย่างไรก็ดี แม้กฎระเบียบและการกำกับที่เข้มงวดมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า ผลกระทบในอีกด้านหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาก็คือ แรงจูงใจต่อนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะถูกบั่นทอนลง ซึ่งก็อาจไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการพัฒนาตลาดการเงินในระยะยาว
การปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคบริการทางการเงิน จากประวัติศาสตร์ของวิกฤตการเงินในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการเงินสหรัฐฯ ยังคงขาดหน่วยงานที่ชัดเจนและมีอำนาจโดยสมบูรณ์ ที่จะทำหน้าที่กำกับสถาบันการเงินเพื่อให้บริการทางการเงินที่เป็นธรรม ไม่ฉ้อโกง และเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานที่อาจมีการจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายปฏิรูปภาคการเงินฉบับใหม่ก็อาจจะสามารถเข้ามาเติมเต็มหน้าที่ในส่วนนี้

การลดโอกาสของการเกิดวิกฤตในรอบหน้า โอกาสการทำกำไรของสถาบันการเงินและนักลงทุนสถาบันบางประเภทจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงในรูปแบบต่างๆ น่าที่จะถูกตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและเข้มข้นมากขึ้นจากหน่วยงานที่รับผิดชอบของทางการ ดังนั้น ความผันผวนและการเติบโตของสินทรัพย์ในธุรกิจภาคการเงิน น่าที่จะเกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่มีความหวือหวามากเหมือนในช่วงก่อนวิกฤต

ประวัติศาสตร์ทางการเงินที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า กฎหมายภาคการเงินของสหรัฐฯ นั้น มีการพัฒนาไปตามยุคสมัย และสภาวะแวดล้อมทางการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ แผนยกเครื่องระบบการเงินในเวทีระดับโลก และการเปลี่ยนแปลงโมเดลของหน่วยงานอื่นๆ อาทิ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ก็อาจทำให้โฉมหน้าของภาคการเงินในช่วงหลายปีข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน โดยสิ่งที่ต้องติดตามหากการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ถูกตีกรอบจากกฎหมายปฏิรูปภาคการเงินดังกล่าวก็คือ ผลกระทบต่อกำไรของภาคการธนาคาร ตลอดจนดัชนีหุ้นสหรัฐฯ รวมไปถึงค่าเงินดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับทางการสหรัฐฯ ในระยะถัดไป ก็คือ แม้กฎหมายปฏิรูปภาคการเงินอาจสามารถจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงของภาคการธนาคารและตลาดการเงิน รวมถึงลดโอกาสของการเกิดวิกฤตการเงินในรอบถัดไปลง แต่ก็ไม่อาจไว้วางใจได้ว่า วิกฤตการณ์ในรอบหน้าก็อาจเกิดขึ้นมาจากความหละหลวมของการรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความอ่อนแอของฐานะการคลังที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยาหลายปี ขณะที่ ภาระหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ก็อาจยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่า อาจขยับเข้าใกล้ระดับ 100% ของจีดีพีภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้