จากภาพ (ภาพซ้าย) คุณสุนทร ว่องกุศลกิจ (คกลาง) ประธานกิติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล และคุณวิฑูรย์ ว่องกุศลกิจ (ขวาสุด)กรรมการ กลุ่มมิตรผล เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงาน (ขวา) คุณไพโรจน์ อรุณไพโรจน์ (ซ้าย) กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจประเทศจีน ร่วมวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงาน
กลุ่มมิตรผลขยายศักยภาพผู้นำด้านพลังงานทดแทน สู่อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยงบลงทุนกว่า 1,300 ล้านบาท ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 32 เมกกะวัตต์ โดยใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง พร้อมทำสัญญา 15 ปีขายไฟ 30 เมกกะวัตต์ให้กับรัฐบาลจีน คาดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ต้นปีพ.ศ. 2554
นายสุวัฒน์ กมลพนัส กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจไฟฟ้าในกลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า กว่า 8 ปีนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 ที่กลุ่มมิตรผลได้ขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนด้านไฟฟ้าชีวมวล โดยนำชานอ้อยที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้า เพื่อนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ของกลุ่มมิตรผล เพื่อลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าภายในโรงงาน และรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถนำไฟฟ้าที่เหลือใช้จากการผลิตน้ำตาลจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ถึง 76 เมกะวัตต์นั้น นับว่าประสบความสำเร็จตรงตามเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลควบคู่กับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่ได้กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง
จากความสำเร็จดังกล่าว ผนวกกับความเชี่ยวชาญของบุคลากรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย กลุ่มมิตรผลจึงมีแนวคิดที่จะนำรูปแบบการดำเนินงานด้านไฟฟ้าชีวมวลที่มีประสิทธิภาพจากประเทศไทย มาพัฒนาต่อยอดให้กับธุรกิจของกลุ่มในต่างประเทศ และในวันนี้ กลุ่มมิตรผลมองเห็นถึงศักยภาพของโรงงานน้ำตาลในมณฑลฟูหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะสามารถนำชานอ้อยที่เหลือมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล จึงได้ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 280 ล้านหยวน หรือกว่า 1,300 ล้านบาท บนพื้นที่ 34 ไร่บริเวณต่อจากโรงงานน้ำตาลฟูหนาน นับเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกในจีนที่ผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย 100% ขณะที่โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ในจีนจะใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินและพลังงานลม
“การจัดการวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงจะใช้รูปแบบคล้ายกับในประเทศไทย คือ เน้นการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การให้ความรู้เพิ่มเติมโดยทีมส่งเสริมด้านการจัดการไร่อ้อย อาทิ ระบบชลประทานน้ำหยดในไร่อ้อย การจัดหาวัสดุคลุมดินเพื่อกันความชื้น วิธีการกำจัดศัตรูพืชในไร่อ้อย เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ชาวไร่มีผลผลิตคุณภาพสูงแล้ว ยังช่วยให้เราได้ชานอ้อยคุณภาพเป็นวัตถุดิบอย่างเพียงพอด้วย” นายสุวัฒน์ กล่าว
การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในฟูหนานแบ่งเป็น 5 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การเตรียมการจัดจ้างบุคลากร ออกแบบโรงไฟฟ้าและปรับพื้นที่ก่อสร้าง ระยะที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ไตรมาส 1/2553 ที่ผ่านมา ระยะที่ 3 ติดตั้งเครื่องจักร และเริ่มอบรมบุคลากร โดยจะจัดส่งเจ้าหน้าที่จากจีนมาอบรมที่ประเทศไทยและจัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากไทยไปช่วยงานที่จีนในระยะเริ่มต้น ระยะที่ 4 ทดสอบการดำเนินงาน และทดลองเดินเครื่องจักร ระยะที่ 5 เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟจริง
โรงไฟฟ้าชีวมวลในฟูหนานเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิต 32 เมกกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟ 10 เดือน ด้วยเทคโนโลยีหม้อน้ำแรงดันสูงประเภท 100 บาร์ ที่มีประสิทธิภาพในการเผาไหม้เชื้อเพลิงอย่างสมบูรณ์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จำนวน 30 เมกกะวัตต์จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าของมณฑลกวางสีภายใต้เงื่อนไขสัญญา 15 ปี การก่อสร้าง โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ ไม่เพียงแค่เพิ่มจำนวนกระแสไฟฟ้าที่จะแจกจ่ายไปยังชุมชนเท่านั้น แต่ยังถือเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มให้กับประชาชนในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
การบุกเบิกอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าชีวมวลในจีนของกลุ่มมิตรผล ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนทั้งด้านนโยบายและการให้ความช่วยเหลือด้านราคา (Adder) เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการประกาศเดินหน้าแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ ในการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนรูปแบบอื่นในอุตสาหกรรมและลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออคไซด์เป็นจำนวนมาก โดยแผนดังกล่าวได้ระบุชัดเจนว่า จีนจะเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลมและชีวมวล โดยในปีพ.ศ. 2596 หรืออีกประมาณ 40 ปีจากนี้ไปพลังงานใหม่เหล่านี้จะมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ