บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (บีเจซี) ประกาศถึงการร่วมทุนกับบริษัทโอเว่น อิลลินอยส์ อิงค์ (NYSE: OI) ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อการขยายธุรกิจด้านการผลิตและการตลาดของบรรจุภัณฑ์แก้วในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์
บีเจซีและO-I ร่วมทุนกันเข้าซื้อบริษัท มาลายากล๊าส โปรดักส์ ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วของบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ โฮลดิ้ง บีเอชดี มาลายากล๊าสมีโรงงานที่สระบุรี ประเทศไทย, มณฑลเสฉวน ประเทศจีน, ยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย, และที่โฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม โดยมูลค่าการซื้อขายครั้งนี้ อยู่ที่ 221.7 ล้านเหรียญสหรัฐ สุทธิจากการหักหนี้และส่วนของผุ้ถือหุ้นข้างน้อย โดยสัดส่วนการลงทุนของบีเจซีอยู่ที่ 89.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โรงงานทั้งสี่แห่งมีพนักงานรวมกันประมาณ 1,900 คน ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วสำหรับใช้บรรจุเบียร์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารต่าง ๆ ด้วย ในปี 2552 มาลายากล๊าสมียอดขายรวม 126 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับธุรกิจในมาเลเซียและเวียดนาม บีเจซีจะบริหารร่วมกับO-I ในอัตราส่วน 50/50 ในส่วนของโรงงานในประเทศไทย บีเจซีจะเข้าถือหุ้นและรับผิดชอบการบริหาร ในขณะที่ O-I จะบริหารโรงงานในประเทศจีนโดยนับเป็นหน่วยหนึ่งของธุรกิจของ O-I ที่ดำเนินการอยู่ที่นั่น
ในประเทศไทย บีเจซีเป็นเจ้าของบริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด (มหาชน) – (TGI) ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค TGI มีเตาเผาแก้วทั้งหมด 8 เตา กำลังผลิตวันละกว่า 2,400 ตัน บีเจซีและ OI มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทางเทคนิคมานานกว่าทศวรรษ และได้พิจารณาที่จะยกระดับขยายความร่วมมือเป็นในระดับภูมิภาค
“บีเจซีมุ่งเน้นที่จะขยายตัวในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดจีนและในมาเลเซีย การเข้าควบรวมกิจการในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในการขยายธุรกิจเข้าไปในเวียดนามและมาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบันเราเริ่มได้เข้าไปดำเนินธุรกิจทางด้านการค้าและการผลิตทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อรวมกำลังการผลิตของ TGI กับการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้มารวมกัน บีเจซีจะเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์” นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบีเจซี กล่าว
“การควบรวมกิจการครั้งนี้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ของเราที่จะก้าวเป็นผู้นำการผลิตในประเทศจีนและในเอเชียอาคเนย์ “ นายอัล สตุคเคน ประธานกรรมการของและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ
O-I กล่าว “โรงงานที่เสฉวนจะช่วยสนับสนุนธุรกิจของเราในจีน และการร่วมมือทางธุรกิจกับบีเจซีในครั้งนี้ทำให้เรามีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดที่มีความสำคัญและกำลังเจริญเติบโตอย่างเวียดนามและมาเลเซีย เราคาดหวังว่าจะได้เห็นตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้นอันเป็นเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการในครั้งนี้”
“สองสามปีที่ผ่านมา บีเจซี อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ขยายฐานธุรกิจในเวียดนามและมาเลเซีย การเข้าซื้อกิจการมาลายากล๊าส เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของบีเจซีอินเตอร์เนชั่นแนล ที่มุ่งมั่นจะสร้างฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งในเอเชียอาคเนย์” นายปีเตอร์ เอมิล- รอมฮิลด์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสของบีเจซี และกรรมการผู้จัดการบริษัทบีเจซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทย่อยของบีเจซีกล่าว
การซื้อกิจการของมาลายากล๊าสครั้งนี้นอกจากเป็นการเพิ่มความสามารถในการผลิตในภูมิภาค ยังเป็นการให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วด้วย
“เราตื่นเต้นกับโอกาสที่จะเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ลูกค้า” นายอัศวินกล่าวเสริม “เราสามารถที่จะเพิ่มผลผลิตและคุณภาพให้แก่โรงงานเหล่านี้ โดยใช้ประสบการณ์และวิทยาการก้าวหน้าจากทั้งบีเจซีและO-I และจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้าทั้งปัจจุบันและลูกค้าใหม่ในภูมิภาค ซึ่งจะได้รับประโยชน์ จากการขยายกิจการในครั้งนี้”
ด๊อยช์แบ๊งค์ให้บริการคำปรึกษาแก่บีเจซีและO-I ในการเข้าควบรวมกิจการมาลายากล๊าส โดยมีบริษัท
-วีระวงค์, ชินวัฒน์, และเพียงพนอ เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย