ซอฟต์แวร์ปี 53 : ผู้ประกอบการไทยเร่งทำตลาดในประเทศ…รุกตลาดต่างประเทศ

จากการที่ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ และกำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้ตลาดซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์เป็นที่น่าจับตามองมากขึ้น

ซอฟต์แวร์ ถือเป็นธุรกิจที่สอดรับกับความต้องการใช้เทคโนโลยีที่นับวันจะทวีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้นมูลค่าตลาดจึงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีซอฟต์แวร์ไทยยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันกับซอฟต์แวร์นำเข้า ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายให้ผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ และก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศ และเพิ่มโอกาสขยายตลาดไปยังต่างประเทศ

ภาพรวมตลาดซอฟต์แวร์

สถานการณ์ตลาดซอฟต์แวร์ในช่วงปีที่ผ่านมามีทิศทางการเติบโตที่ดูสดใส ด้วยมูลค่าตลาดในปี 2552 เท่ากับ 64,365 ล้านบาท ยังคงขยายตัวเป็นบวกได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจด้วยอัตราร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 แต่อย่างไรก็ดีจากการที่ตลาดในประเทศที่ซอฟต์แวร์นำเข้ายังคงถือครองส่วนแบ่งตลาดถึงกว่าร้อยละ 70 ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ยากลำบาก ซึ่งนอกจากซอฟต์แวร์ของประเทศแถบตะวันตกที่เป็นที่นิยมอย่างมากของผู้ใช้แล้ว ในระยะหลังซอฟต์แวร์ของประเทศในแถบเอเชีย เช่น เกาหลี จีน เวียดนาม ก็เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศมากขึ้น ซึ่งยิ่งสร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการไทยต้องแสวงหากลยุทธ์ใหม่ๆมาใช้ควบคู่กับกลยุทธ์ด้านราคาที่เคยเป็นจุดแข็งที่สำคัญ

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ซอฟต์แวร์ไทยยังเจาะตลาดในประเทศได้ไม่มากนัก เนื่องจากผู้ใช้ยังคงให้ความเชื่อมั่นและคุ้นเคยในการใช้งานซอฟต์แวร์ต่างประเทศ ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยเองที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs ที่อาจมีทุนไม่มากนัก ทำให้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้กลยุทธ์การตลาด รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูงที่อาจมีราคาแพง อันจะส่งผลให้การผลิตซอฟต์แวร์อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ทันท่วงที

ในส่วนของตลาดต่างประเทศ ปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าส่งออกซอฟต์แวร์ไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,200 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 42.8 หรือมีมูลค่าตลาดเท่ากับ 6,000 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ อย่างไรก็ดีตัวเลขการส่งออกซอฟต์แวร์ไทยยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม และมาเลเซีย ที่มีมูลค่าส่งออกซอฟต์แวร์กว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่สูงในเวียดนามส่วนใหญ่อาจมาจากการที่บริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลกใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าซอฟต์แวร์ของผู้ประกอบการเวียดนามเอง ขณะที่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบไทยเพื่อส่งออกซอฟต์แวร์ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐให้เข้าไปทำตลาดในต่างประเทศมากขึ้น

เร่งทำตลาดในประเทศ…ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากซอฟต์แวร์ต่างชาติ

สำหรับปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดซอฟต์แวร์น่ามีมูลค่าประมาณ 67,000-70,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.5-8.6 เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 หรือมีมูลค่าตลาดเท่ากับ 64,365 ล้านบาท ด้วยปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม และจากดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ยังอยู่ในระดับเกินร้อยละ 100 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงว่าผู้ประกอบการยังมองว่าตลาดน่าจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น อีกทั้งการพัฒนาคุณภาพและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งแบบมีสายและไร้สายที่สนับสนุนการใช้แอพพลิเคชั่น และแนวโน้มราคาคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้ปริมาณการใช้ซอฟต์แวร์เติบโตตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่น่าจะส่งผลต่อการบริโภค การลงทุนในประเทศ และความเชื่อมั่นของต่างชาติ รวมถึงปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง และอาจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต น่าเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการเติบโตของตลาด นอกจากนี้การขาดแคลนบุคลากรเชิงเทคนิคที่มีคุณภาพ รวมถึงความล่าช้าของการให้บริการเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 3G และ WiMAX อาจเป็นปัจจัยลบต่อการเติบโตของตลาดในระยะยาว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ประเภทซอฟต์แวร์ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี และผู้ประกอบการไทยน่าจะมีโอกาสช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากซอฟต์แวร์นำเข้าได้ ดังนี้

ซอฟต์แวร์สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Application) โดยในปีนี้คาดว่าปริมาณความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ประเภทดังกล่าวน่าจะขยายตัวได้ในทิศทางที่สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดเครื่องสมาร์ทโฟน และตลาดบริการเสริมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ อันเนื่องจากความนิยมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งโมบายอินเทอร์เน็ต และคอนเทนต์ ซึ่งต้องอาศัยแอพพลิเคชั่นมารองรับการใช้งาน

โดยปัจจุบันธุรกิจผลิตโทรศัพท์และผู้ให้บริการเครือข่ายได้รวบรวมแอพพลิเคชั่นจากหลายแหล่งให้ลูกค้าได้ใช้บริการ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยจะเข้าทำตลาด และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสู่ผู้ใช้ที่เป็นผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้แอพพลิเคชั่นเชิงธุรกิจ (Business Application) ที่น่าจะได้รับการตอบรับที่ดี ได้แก่ ระบบธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Banking) ระบบซื้อขายและเช็คราคาหุ้น แผนที่ และแอพพลิเคชั่นในกระบวนการจัดการของธุรกิจ (M-CRM) เช่น แอพพลิเคชั่นที่ให้พนักงานขายสามารถเช็คสินค้าคงคลังและอัพเดทยอดขายได้ทันทีผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่
ส่วนแอพพลิเคชั่นด้านบันเทิงที่ผู้ประกอบการไทยน่าจะมีโอกาสเข้าทำการตลาดได้ คือ แอพพลิเคชั่นที่รองรับข่าว หรือการชมโทรทัศน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแอพพลิเคชั่นประเภทเครือข่ายสังคมออนไลน์ ส่วนแอพพลิเคชั่นเกมส์ และเพลง อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูง เนื่องจากมีผู้ผลิตในตลาดจำนวนมาก

ซอฟต์แวร์ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Embedded Software) โดยคาดว่าอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ น่าจะนำซอฟต์แวร์ประเภทนี้มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน และเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย รวมถึงสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เช่น การติดตั้งระบบปรับอุณหภูมิอัตโนมัติในเครื่องปรับอากาศ และระบบยานยนต์อัจฉริยะในรถยนต์

ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรเร่งคิดค้นพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ๆ โดยอาจใช้เทคโนโลยี Radio Frequency Identification (RFID) ที่ใช้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในสายการผลิต และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่ใช้ตรวจวัดสภาพแวดล้อม ที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย รวมถึงเข้าเจราจากับธุรกิจต่างๆเพื่อนำเสนอซอฟต์แวร์ที่ผลิตเฉพาะธุรกิจ เช่น ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โรงพยาบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีความต้องการซอฟต์แวร์ติดตามการขนส่ง และซอฟต์แวร์นำทางอย่างมาก ขณะเดียวกันก็อาจขยายการพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่เป็นส่วนประกอบควบคู่กันไปด้วย

ซอฟต์แวร์บริหารจัดการ (Enterprise Software) แม้ว่าภาคธุรกิจซึ่งเป็นผู้ใช้หลักของซอฟต์แวร์ประเภทนี้บางส่วนอาจลดการลงทุนซอฟต์แวร์ใหม่ลง แต่หันไปอัพเกรดซอฟต์แวร์เดิมแทน เพื่อจัดสรรงบประมาณในการฟื้นฟูผลการดำเนินงานอันเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะทำให้ผู้ประกอบการไทยทำตลาดในซอฟต์แวร์ประเภทดังกล่าวยากลำบากมากขึ้น

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยอาจมีโอกาสที่จะเจาะตลาดกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีเกือบ 3 ล้านรายทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีถึงประมาณร้อยละ 80 ที่ไม่ได้นำซอฟต์แวร์มาใช้เพื่อบริหารจัดการ โดยผู้ประกอบการไทยอาจนำเสนอซอฟต์แวร์สำเร็จรูปพื้นฐานที่ใช้งานง่าย จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ และมีราคาไม่สูงนัก เช่น ระบบบัญชี ระบบจัดการข้อมูล และระบบคลังสินค้า

ส่วนธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการไทยอาจเข้าทำตลาดในธุรกิจภาคการเงินการธนาคารที่มีการลงทุนในซอฟต์แวร์สูงถึงกว่า 500 ล้านบาทต่อปี โดยอาจนำเสนอซอฟต์แวร์ประเภทใหม่ๆ เช่น ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ธุรกิจ บริหารต้นทุน ซอฟต์แวร์ CRM และซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่มีความจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน รวมถึงพัฒนาซอฟต์แวร์ในรูปแบบบริการผ่านระบบออนไลน์ (คลาวน์คอมพิวติ้ง) ซึ่งเป็นที่สนใจของหลายภาคธุรกิจ เนื่องจากเป็นการใช้ทรัพยากรด้านไอทีร่วมกันของผู้ใช้หลายราย โดยผู้ใช้ไม่ต้องลงทุนซื้อซอฟต์แวร์ใหม่ทั้งหมด แต่จ่ายค่าบริการเป็นค่าเช่าในส่วนที่ใช้จริง จึงช่วยให้ธุรกิจประหยัดต้นทุนได้อย่างมาก

ซอฟต์แวร์ไทย…ก้าวสู่ตลาดโลก

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยอาจได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ในประเทศไม่มากนัก จึงมีความพยายามที่จะขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศแถบเอเชีย เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน ที่อาจได้ประโยชน์จากการร่วมเป็นสมาชิกเอเชียโอเชียเนียซอฟต์แวร์พาร์ค อัลไลแอนซ์ และญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศที่ซอฟต์แวร์ไทยน่าจะมีโอกาสเข้าทำตลาดทั้งซอฟต์แวร์สำเร็จรูป การผลิตตามคำสั่ง และการรับงานเอาท์ซอร์ส

เวียดนาม เป็นประเทศที่อยู่ในช่วงเร่งพัฒนาในหลายๆด้าน และภาครัฐของเวียดนามเองก็ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ทำให้มีธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย แม้ว่าเวียดนามจะเป็นผู้ส่งออกซอฟต์แวร์ด้วยมูลค่าที่สูงกว่าไทย แต่ในตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศเวียดนามก็มีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่ราคาไม่สูงเกินไป ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ซอฟต์แวร์ไทยจะเข้าทำตลาด โดยซอฟต์แวร์ที่น่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในเวียดนาม ได้แก่ ซอฟต์แวร์ประเภทคอลเซ็นเตอร์ โรงแรม รับเหมาก่อสร้าง การเงินและระบบซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งนี้ในเบื้องต้นมีผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยรวมกลุ่มกันจัดตั้งสำนักงานที่โฮจิมินท์ และจ้างชาวเวียดนามเป็นพนักงานประจำสาขา ทำให้สร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการไทยในระดับภูมิภาคได้ในระดับหนึ่ง

ฟิลิปปินส์ ด้วยพื้นฐานประเทศกำลังพัฒนา จึงน่าจะมีการลงทุนในแต่ละภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการไทยอาจใช้จุดเด่นด้านราคาที่ถูกกว่าซอฟต์แวร์ตะวันตก และมีความยืดหยุ่นในการเจรจาตกลง โดยอาจเจาะตลาดในกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ ท่องเที่ยว และระบบจัดการธุรกิจ

บรูไน เนื่องจากเป็นประเทศที่พึ่งพาธุรกิจพลังงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งล้วนต้องดำเนินการด้วยระบบไอที นอกจากนี้ภาครัฐบรูไนก็ยังมีความต้องการซอฟต์แวร์เพื่อดำเนินรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) ด้วยงบลงทุนถึงหนึ่งหมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐฯ รวมถึงซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษาที่ยังเป็นที่ต้องการอีกมาก ในขณะที่การผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศมีไม่เพียงพอเนื่องจากการขาดแคลนบุคลากร จึงเป็นโอกาสดีที่ซอฟต์แวร์ไทยจะเข้าทำตลาด

ญี่ปุ่น ผู้ประกอบการไทยอาจเข้าทำตลาดซอฟต์แวร์ที่ผลิตเฉพาะธุรกิจ โดยอาจเจาะธุรกิจขนาดเล็ก เนื่องจากค่าจ้างในการผลิตซอฟต์แวร์ที่ญี่ปุ่นมีราคาแพง และผู้ผลิตซอฟต์แวร์ญี่ปุ่นเองก็ให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์ที่รองรับอุตสาหกรรมใหญ่เป็นหลัก รวมถึงการรับช่วงงานต่อจากผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ญี่ปุ่น ที่น่าจะมีปริมาณงานอยู่ในระดับสูง โดยผู้ประกอบการไทยอาจชูจุดเด่นด้านค่าจ้างที่ถูกกว่าแรงงานในประเทศญี่ปุ่นเป็นกลยุทธ์ดึงดูด แต่อย่างไรก็ดีธุรกิจญี่ปุ่นมักกำหนดมาตรฐานไว้ในระดับสูง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งหากซอฟต์แวร์ไทยเป็นที่ยอมรับในญี่ปุ่นแล้ว ก็ถือว่าได้ยกมาตรฐานสู่ระดับโลก ซึ่งน่าจะทำให้การขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆง่ายขึ้น

นอกจากนี้ซอฟต์แวร์ไทยยังอาจมีโอกาสในประเทศแถบยุโรป เนื่องจากในปี 2552 ที่ผ่านมาหน่วยงานสังกัดกระทรวงต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ได้จัดโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเพื่อเข้าไปทำตลาดในสหภาพยุโรป โดยถ่ายทอดความรู้ด้านการตลาด เทคโนโลยี และกฎหมาย โดยที่ผ่านมามีซอฟต์แวร์ไทยหลายประเภทที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ซอฟต์แวร์ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่ ซอฟต์แวร์จัดการทรัพยากรน้ำ ซอฟต์แวร์โทรคมนาคม ซอฟต์แวร์เกมส์ และซอฟต์แวร์จัดการข้อมูล เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปีนี้สถานการณ์การส่งออกซอฟต์แวร์ไทยน่าจะขยายตัวต่อเนื่องด้วยอัตราร้อยละ 25.0-38.9 จนอาจมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง และผลงานของผู้ประกอบการไทยในช่วงที่ผ่านมาก็สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ต่างชาติมากขึ้นในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดีการที่ซอฟต์แวร์ไทยจะสามารถบุกเข้าไปตีตลาดต่างประเทศได้อย่างเป็นผลสำเร็จนั้น ควรนำกลยุทธ์มาใช้ในหลายด้าน เช่น การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในประเทศเป็นคลัสเตอร์เพื่อให้สามารถรับงานได้อย่างครบวงจร การหาพันธมิตรในประเทศที่จะเข้าเจาะตลาด เนื่องจากซอฟต์แวร์ไทยอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักในระดับโลก การเร่งสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎหมายและวัฒนธรรมของประเทศคู่ค้า เช่น ประเทศญี่ปุ่น นิยมซอฟต์แวร์ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น และมีความเข้มงวดเรื่องลิขสิทธิ์ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ที่ผ่านมาแม้การเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศจะมีทิศทางที่สดใส แต่ตลาดส่วนใหญ่ยังคงถือครองโดยซอฟต์แวร์นำเข้า ดังนั้นจึงเป็นสิ่งท้าทายให้ผู้ประกอบการไทยเร่งเข้าทำตลาดในประเทศ ในขณะเดียวกันก็ขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดซอฟต์แวร์น่าจะมีมูลค่าประมาณ 67,000-70,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.5-8.6 ซึ่งเป็นอัตราที่ดีกว่าปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 หรือมีมูลค่าตลาดเท่ากับ 64,365 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการส่งออกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 25.0-38.9 เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่น่าจะขยายตัวร้อยละ 20 หรือมีมูลค่าราว 7,200 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการซอฟต์แวร์ที่เพิ่มขึ้นในหลายภาคอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มแพร่ขยายสู่ผู้ใช้ในระดับครัวเรือน โดยโครงการรัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันซอฟต์แวร์ไทยให้มีบทบาทมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับตลาดในประเทศ ผู้ประกอบการไทยน่าจะมีโอกาสทำตลาดซอฟต์แวร์สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และซอฟต์แวร์ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความต้องการอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ซอฟต์แวร์บริหารจัดการ ผู้ประกอบการไทยอาจต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่น่าจะมีความต้องการอีกมาก ส่วนการขยายตลาดสู่ต่างประเทศในช่วงต้นอาจเริ่มที่ตลาดภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงเร่งพัฒนาประเทศ ทำให้ยังมีความต้องการซอฟต์แวร์อยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ดี การเจาะตลาดในเบื้องต้น ผู้ประกอบการไทยอาจชูจุดเด่นด้านราคาเป็นสำคัญ แต่ในระยะยาวแล้ว ผู้ประกอบการไทยควรสร้างตราสินค้า ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย ซึ่งน่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับซอฟต์แวร์ไทย เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน