เด็มโก้ เดินหน้าจัดทัพการเงินใหม่รองรับขยายธุรกิจ ลุ้น กฟผ.ไฟเขียวลงทุนโรงไฟฟ้ามูลค่าเฉียด 3 พันล.

เด็มโก้เดินหน้าจัดทัพทางการเงินใหม่ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจจากรับเหมาไปสู่ภาคการลงทุน หลังยื่น กฟผ. ขอขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 30 เมกกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 2.7-3 พันล้านบาท ลุ้นได้รับอนุมัติในช่วงปลายปีนี้ ก่อนลงเข็มก่อสร้างปี 54 ล่าสุดบอร์ดอนุมัติเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น รองรับการออกวอแรนท์ให้กับผู้ถือหุ้นฟรี มั่นใจแผนการระดมเงินสอดรับกับแผนการลงทุน ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับที่เหมาะสม

นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีมติให้บริษัทฯ เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 435.46 ล้านบาท เป็น 635.46 ล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่จำนวน 200 ล้านหุ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการใช้สิทธิในการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ (วอแรนท์) หลังจากที่บริษัทฯ จะออกวอแรนท์ จำนวน 200 ล้านหน่วย เพื่อจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม

สำหรับวอแรนท์ดังกล่าว จะแบ่งออกเป็น 3 รุ่น โดยจะออกวอแรนท์ครั้งที่ 3 (DEMCO-W3) จำนวน 110 ล้านหน่วย จัดสรรให้ฟรีกับผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 วอแรนท์ กำหนดราคาใช้สิทธิแปลงสภาพที่ 2.70 บาทต่อหุ้น มีอายุ 1 ปี 6 เดือน และวอแรนท์ครั้งที่ 4 (DEMCO-W4) จำนวน 74 ล้านหน่วย จัดสรรให้ฟรีกับผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 6 หุ้นเดิมต่อ 1 วอแรนท์ ราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ 5 บาทต่อหุ้น มีอายุ 2 ปี 6 เดือน ส่วน วอแรนท์ที่เหลืออีก 16 ล้านหน่วย จะจัดสรรให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ

รองกรรมการผู้จัดการ DEMCO กล่าวว่า การออกวอแรนท์ทั้ง 3 รุ่น นับได้ว่าเป็นการจัดโครงสร้าง การระดมทุนของบริษัทฯ เพื่อรองรับกับการขยายธุรกิจ หลังจากที่ DEMCO ได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทฯ มีแผนเข้าไปลงทุนเอง โดยมีกำลังการผลิต 30 เมกกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 2,700-3,000 ล้านบาท

“ก่อนหน้านี้ DEMCO มีบทบาทเป็นผู้รับเหมา แต่จากการที่บริษัทฯ ได้ร่วมพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมในช่วง 3-4 ปีมานี้ ทำให้มีความเข้าใจวิธีพัฒนาโครงการ บริษัทฯ จึงขยายแนวทางไปยังธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า โดยที่ผ่านมาบริษัทฯได้ออกวอแรนท์รุ่น 1 และ 2 ระดมทุนรองรับการขยายงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม แต่ตอนนี้เรากำลังขยายเข้าสู่การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่า โครงการของ DEMCO ที่เสนอเข้าไปมีโอกาสได้รับการพิจารณาสูง เนื่องจากที่ตั้งโครงการอยู่ใกล้กับจุดรับซื้อไฟฟ้า ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากแผนการลงทุน มูลค่าโครงการ 2,700- 3,000 ล้านบาทนั้น จะใช้เงินทุน 750 ล้านบาท และกู้เงินจากสถาบันการเงินอีก 2,250 ล้านบาท ตามอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ที่กำหนดไว้ประมาณ 3 : 1 เท่า ซึ่งการออกวอแรนท์ทั้ง 3 รุ่น ก็จะสามารถช่วยให้บริษัทฯ ดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ โดย DEMCO-W3 ที่กำหนดใช้สิทธิแปลงสภาพในช่วงปลายปี 2554 ถึงต้นปี 2555 คาดว่า จะระดมเงินได้ในราว 300 ล้านบาท ขณะที่ DEMCO-W4 ที่กำหนดใช้สิทธิแปลงสภาพครั้งสุดท้ายในปี 2556 คาดว่าจะระดมเงินได้ในราว 370 ล้านบาทโดยการกำหนดราคาใช้สิทธิ DEMCO-W4 ไว้ที่ 5 บาท ก็ถือเป็นความ ท้าทายที่บริษัทฯ จะต้องพยายามสร้างมูลค่าของกิจการ เพื่อให้มีความเป็นไปได้ในการใช้สิทธิแปลงสภาพวอแรนท์รุ่นที่ 4 ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ในส่วนของการจัดสรรให้พนักงาน ผู้บริหาร และกรรมการนั้น บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับพนักงานโดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ของ DEMCO ที่ต้องอาศัยบุคลากรด้านวิศวกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

สำหรับการพิจารณาแผนการขยายธุรกิจ รวมทั้งแผนการระดมทุน บริษัทฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งหลังจากนี้รายได้หลักก็ยังคงมาจากงานรับเหมาที่ DEMCO มีความชำนาญ ส่วนการขยายไปยังธุรกิจโรงไฟฟ้า จะทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากการขายไฟอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนจากงานรับเหมา เพราะกระแสเงินสดจากการขายไฟจะต่อเนื่องในระยะยาว

ส่วนการที่มีความเห็นจากหนังสือพิมพ์บางฉบับกล่าวในทำนองว่า กลุ่มผู้บริหารของบริษัทฯ หยิบยกประเด็นการร่วมทุนกับพันธมิตร การแจกวอแรนท์ฟรีแก่นักลงทุน เป็นคอนเซ็ปต์การให้ข่าวอย่างเป็นระบบและ มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนสีเทา เป็นขบวนการทำหุ้นนั้น เป็นเรื่องที่บริษัทฯรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะหากติดตามการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จะเห็นว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส สม่ำเสมอ มีการเปิดเผยแผนงานที่ชัดเจน รวมถึงทุ่มเทที่จะทำให้ได้ตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัทฯและผู้ถือหุ้นมาโดยตลอด การแสดงความเห็นรวมถึงการให้ข้อมูลในข่าวที่ไม่ชัดเจน อาจทำให้บริษัทฯ เกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง