จีนส่งสัญญาณเพิ่มความยืดหยุ่นให้เงินหยวน…ดันสกุลเงินเอเชียแข็งค่า

ทางการจีนสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินอีกครั้งในช่วงวันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2553 ด้วยการประกาศว่า จะเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนับเป็นก้าวย่างสำคัญที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะนั่นอาจไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นที่เกิดขึ้นเพื่อลดแรงกดดันในระดับนานาชาติเท่านั้น แต่อาจหมายความไปถึงโจทย์ในการรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจของจีนที่รออยู่เบื้องหน้าด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เงินหยวนตอบรับความพยายามเพิ่มความยืดหยุ่นของทางการจีนในครั้งนี้ ด้วยการขยับแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 6.7958 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ สกุลเงินเอเชียอื่นๆ ตลาดหุ้น และราคาน้ำมันในตลาดโลก ต่างก็ดีดตัวขึ้นรับข่าวนี้อย่างพร้อมเพรียงเช่นกัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการรวบรวม และวิเคราะห์ประเด็นแวดล้อมของการเพิ่มความยืดหยุ่นเงินหยวนของทางการจีนไว้ดังนี้ :-

การเคลื่อนไหวเงินหยวน และแรงผลักดันให้มีการประกาศเพิ่มความยืดหยุ่น
หลังการปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหญ่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2548…เงินหยวนแข็งค่า 3 ปี ก่อนจะกลับมาทรงตัวในกรอบแคบๆ เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ค่าเงินหยวนปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างช่วงกลางปี 2548-กลางปี 2551 (เป็นเวลา 3 ปี) รวมทั้งสิ้นประมาณ 18.8% ก่อนจะถูกทางการจีนบริหารจัดการให้เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ที่ระดับประมาณ 6.8300 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ในช่วง 23 เดือนต่อมา เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคส่งออกของจีนที่ต้องรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก อย่างไรก็ดี เมื่อภาวะวิกฤตได้สิ้นสุดลง พร้อมๆ กับเศรษฐกิจจีนที่พลิกกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แรงกดดันต่อประเด็นของค่าเงินหยวนของจีนจึงกลับเข้าสู่กระแสความสนใจอีกครั้ง

แรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินหยวน…อธิบายได้ด้วยแรงกดดันภายในและภายนอกประเทศ ท่ามกลางความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อและฟองสบู่ในเศรษฐกิจจีน นโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนจำต้องโน้มไปในเชิงคุมเข้มมากขึ้น ซึ่งนับจากต้นปีที่ผ่านมา ทางการจีนก็ได้ใช้มาตรการเชิงปริมาณ อาทิ การจำกัดการขยายตัวของสินเชื่อบางประเภท ตลอดจนการปรับเพิ่มสัดส่วนการดำรงเงินสำรองตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนที่ยังคงโมเมนตัมของการขยายตัว ได้ส่งผลทำให้การคุมเข้มด้วยมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่เพียงพอที่จะลดแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อลงได้ ดังนั้น การประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นของค่าเงินหยวน ก็อาจนับได้ว่าเป็นเครื่องมือล่าสุดที่ช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากด้านการนำเข้าลงบางส่วน

นอกจากนี้ คงไม่สามารถปฏิเสธว่า การประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเงินหยวนในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อลดแรงกดดันจากนานาประเทศที่อาจใช้เวทีระดับโลกในการประชุมกลุ่ม G-20 ในช่วงวันที่ 26-27 มิถุนายน 2553 ในการกดดันจีนให้ปล่อยให้เงินหยวนปรับแข็งค่าขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ขณะที่ ทางฝั่งสหรัฐฯ ก็ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันจีนให้เร่งดำเนินการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนด้วยเช่นกัน โดยสมาชิกสภาคองเกรสบางส่วนได้มีพยายามผลักดันร่างกฏหมายที่จะอนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้ประเด็นภาษีตอบโต้ประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

กรอบกติการายวันของเงินหยวนคงเดิม vs. กระแสตอบรับของตลาดการเงินบวกเกินคาด
การประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นของเงินหยวน อาจถือได้ว่าเป็นการตอบรับแรงกดดันจากทางการสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยืดเวลาการออกรายงานทบทวนรอบครึ่งปีเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงจีน ออกไปอีกประมาณ 3 เดือนจากกำหนดเดิมในช่วงเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา และหากประเมินในภาพรวมแล้ว พบว่า แม้การประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นแก่เงินหยวนของจีนในครั้งนี้จะยังคงตั้งอยู่บนกรอบกติกาที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่การดำเนินการดังกล่าวมีนัยสำคัญที่ชัดเจนต่อตลาดการเงินอย่างน้อยก็ในระยะสั้น
ธนาคารกลางจีนยังคงเป็นผู้ประกาศค่าเงินหยวนอ้างอิงสำหรับกรอบการเคลื่อนไหวรายวันเช่นเดิม โดยเงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวได้ไม่เกินกรอบ +/- 0.5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ จากค่าเงินหยวนอ้างอิงดังกล่าว และไม่เกินกรอบ +/- 3.0% เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่เงินดอลลลาร์ฯ ซึ่งขณะนี้ ประกอบไปด้วย เงินยูโร เงินเยน เงินดอลลาร์ฮ่องกง และเงินปอนด์

นอกจากนี้ ทางการจีนยังสกัดกระแสการคาดการณ์การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินหยวน ด้วยถ้อยแถลงที่ระบุว่า ภายใต้การดำเนินการเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเงินหยวนในครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะมีการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนครั้งใหญ่ (No One-Off Revaluation) หรือจะมีการออกมาตรการใดๆ ที่อาจสร้างความผันผวนให้กับอัตราแลกเปลี่ยน

กระแสการตอบรับของตลาดการเงินหลังการประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นเงินหยวน แม้ธนาคารกลางจีนจะประกาศค่ากลางเงินหยวนสำหรับวันที่ 21 มิถุนายน 2553 (หลังประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเงินหยวนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553) ที่ระดับ 6.8275 หยวนต่อดอลลาร์ฯ เท่ากับระดับเมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2553 ซึ่งเป็นวันทำการก่อนหน้า แต่การเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนหลังเปิดตลาดนับได้ว่า มีนัยสำคัญต่อสกุลเงินเอเชีย ตลาดหุ้น และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างชัดเจน กล่าวคือ
เงินหยวน ขยับแข็งค่าขึ้นถึง 0.47% (เกือบชนเพดานการแข็งค่า 0.5% จากค่ากลางอ้างอิงรายวันที่ธนาคารกลางจีนอนุญาต) ทุบสถิติแข็งค่าสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ระดับ 6.7958 หยวนต่อดอลลาร์ฯ

สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ แข็งค่าขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์ว่า ทางการเอเชียอาจทยอยปล่อยให้สกุลเงินขยับแข็งค่าตามทิศทางของเงินหยวน อย่างไรก็ดี อัตราการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียยังคงอยู่ในกรอบที่มากกว่าเงินหยวน โดยเงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่าขึ้นถึง 2.5% เงินริงกิตมาเลเซียแข็งค่า 2.2% ส่วนเงินดอลลาร์ไต้หวัน เงินดอลลาร์สิงคโปร์ เงินเปโซฟิลิปปินส์ เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย และเงินรูปีอินเดียแข็งค่าขึ้นในกรอบประมาณ 0.7-1.2% ขณะที่ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นกันประมาณ 0.3%

ตลาดหุ้น และราคาน้ำมัน ทะยานขึ้นถ้วนหน้าท่ามกลางการกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน หลังข่าวการประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเงินหยวนของทางการจีนลดแรงตึงเครียดก่อนการประชุม G-20

ทั้งนี้ แม้กระแสการตอบรับจากตลาดการเงินที่มีต่อการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับค่าเงินหยวนของทางการจีนในรอบนี้ จะเป็นไปอย่างกว้างขวาง และเงินหยวนอาจทยอยโน้มการเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นในช่วงเวลาหลายเดือนข้างหน้า แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความรวดเร็วและขนาดของอัตราการแข็งค่าของเงินหยวนยังน่าที่จะถูกบริหารจัดการอย่างใกล้ชิดจากทางการจีนต่อไป โดยมีการประเมินว่า1 เงินหยวนอาจขยับแข็งค่าขึ้นอีกราว 1.8% ภายในสิ้นปีนี้ หรืออีกประมาณ 3.0% ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการแข็งค่าที่ไม่มากนักหากเทียบกับอัตราการแข็งค่าเฉลี่ยประมาณ 6.3% ต่อปีในช่วงเวลา 3 ปี หลังการปฏิรูปเงินหยวนกลางปี 2548

บทสรุป และมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับค่าเงินหยวนของทางการจีนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมานั้น นับเป็นการส่งสัญญาณที่ดีที่จะปรับให้เงินหยวนเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดมากขึ้น แม้การดำเนินการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเงินหยวนดังกล่าวจะเป็นไปตามกรอบกติกาเดิมที่อนุญาตให้เงินหยวนขยับจากค่ากลางสำหรับอ้างอิงรายวันที่ประกาศโดยธนาคารกลางจีนประมาณ +/-0.5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และ +/-3.0% เมื่อเทียบกับสกุลเงินอืนๆ ที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์ฯ ก็ตาม ทั้งนี้ นัยสำคัญที่ประเมินได้จากการออกประกาศที่ชัดเจนของทางการจีนในช่วงเวลาก่อนการประชุม G-20 นี้ อยู่ที่การส่งสัญญาณให้กับตลาดการเงินว่า เงินหยวนจะเริ่มกลับมามีการเคลื่อนไหวรายวันที่มากขึ้น (หลังจากที่ทรงตัวใกล้ระดับ 6.8300 หยวนต่อดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่องในช่วง 23 เดือนที่ผ่านมา) และเงินหยวนอาจทยอยแข็งค่าได้อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลังจากนี้ อย่างน้อยก็ในระยะสั้นเพื่อสะท้อนความแข็งแกร่งของพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีน

อย่างไรก็ดี แม้การขยับแข็งค่าของเงินหยวนจะช่วยให้ทางการจีนประสบความสำเร็จในการลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินหยวนจากสหรัฐฯ และจากเวทีระดับโลกในการประชุม G-20 แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นของแนวโน้มค่าเงินหยวนอาจมีความซับซ้อนมากขึ้นตามโจทย์เศรษฐกิจของจีนที่จะมีความหลากหลายในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า อาทิ ปัญหาการประท้วงผละงานเรียกร้องความเป็นธรรมในตลาดแรงงานซึ่งนำไปสู่การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานในหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งก็อาจมีความเกี่ยวโยงไปกับความยืดหยุ่น และ/หรือความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้นๆ ภายหลังจากที่เงินหยวนทยอยปรับแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ แม้ทางการจีนจะปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวได้ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่หากเงินหยวนแข็งค่าในอัตราที่น้อยกว่าสกุลเงินในภูมิภาค รวมถึงน้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว ทางการจีนก็อาจยังคงต้องเผชิญกับโจทย์แรงกดดันเงินเฟ้อและความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ซึ่งก็ทำให้ธนาคารกลางจีนอาจจำต้องคุมเข้มนโยบายการเงินเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุด ดังนั้น คงจะต้องติดตามโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของจีนต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะนั่นอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่า เงินหยวนจะสามารถโน้มแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ในระยะถัดไป