โบอิ้งเผยแนวโน้มตลาดเครื่องบิน 20 ปีข้างหน้า

โบอิ้งคาดในอีก 20 ปีข้างหน้า ตลาดเครื่องบินพาณิชย์ใหม่จะมีมูลค่าสูงถึง 3.6 ล้านล้านดอลล่าร์ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ประกอบกับตลาดมีความต้องการเครื่องบินใหม่และเครื่องบินทดแทนสูงขึ้น โบอิ้งคาดการณ์ว่าตลาดทั่วโลกจะมีความต้องการเครื่องบินใหม่ทั้งสำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ามากถึง 30,900 ลำ ภายในปี 2572

โบอิ้งได้เผยแพร่รายงานคาดการณ์ตลาด (Current Market Outlook) ฉบับที่ 46 ในกรุงลอนดอน รายงานคาดการณ์ตลาดดังกล่าวได้รับการยอมรับจากวงการบินทั่วโลกว่าเป็นการวิเคราะห์ภาวะตลาดการบินพาณิชย์ที่มีความครอบคลุมและน่าเชื่อถือมากที่สุด รายงานฉบับล่าสุดยังสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจการบินทั่วโลกนั้นแม้จะมีการเติบโต แต่ก็ยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนบางประการ

แรนดี ทินเซธ รองประธานฝ่ายการตลาด โบอิ้งคอมเมอร์เชียลแอร์เพลน เปิดเผยว่า “ตลาดการบินทั่วโลกมีการพัฒนาขึ้นกว่าปีที่แล้วมาก แต่ก็ยังมีความท้าทายบางประการรออยู่ ถ้าจะพิจารณาดูสถานการณ์ในปี 2553 นี้ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของโลกมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะมีการเติบโตสูงกว่าแนวโน้มอัตราการเติบโตระยะยาว ดังนั้น ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจะมีการขยายตัวในปี 2553 สายการบินต่างๆ จะมีรายได้มากขึ้น แต่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะยังคงผันผวนอยู่ต่อไป”

ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารคาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตรา 5.3% ต่อปีในระยะยาว สืบเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคซึ่งต้องการเครื่องบินที่หลากหลาย ตลาดเครื่องบินที่มีทางเดินเดียวจะได้รับความนิยมและมีการเติบโตมากทั่วโลกเนื่องจากการขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำ และตลาดใหม่ๆ ที่กำลังเติบโต เช่น อินเดีย จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งความผันผวนของราคาน้ำมันที่ทำให้ผู้โดยสารหันมาสนใจบริการของสายการบินต้นทุนต่ำมากขึ้น เครื่องบินชนิดทางเดินเดียวมีการเติบโตสูงกว่าตลาดเครื่องบินสำหรับทำการบินระยะไกลตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะยังคงเติบโตสูงขึ้นเช่นนี้ต่อไป เนื่องจากสายการบินต่างๆ จะเริ่มปลดระวางเครื่องบินเก่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นับเป็นตลาดที่แข็งแกร่งที่สุด โดยที่ประเทศจีนเป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูง

ทินเซธกล่าวต่อว่า “ปัจจุบันนี้ 1 ใน 3 ของปริมาณการขนส่งทางอากาศของสายการบินต่างๆ ต้องบินมาที่เอเชียแปซิฟิก จึงทำให้ภูมิภาคนี้มีการเติบโตมาก คาดว่าภายในปี 2572 เกือบ 43% ของปริมาณการขนส่งทางอากาศทั้งหมดจะเริ่มต้นจากหรือมีจุดหมายปลายทางสิ้นสุดที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเป็นการเดินทางภายในภูมิภาคนี้”

สายการบินต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกจะกลายเป็นผู้ซื้อเครื่องบินแบบสองทางเดินรายใหญ่ที่สุด คิดเป็นประมาณ 40% ของความต้องการทั้งหมด

ตลาดตะวันออกกลางซึ่งเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่การขนส่งทางอากาศเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นตลาดที่มีความแข็งแกร่ง สายการบินในภูมิภาคนี้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก เนื่องด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์และประชากรที่เอื้อต่อการขยายตัว ตลอดจนเทคโนโลยีเครื่อบินล่าสุด และแผนการลงทุนและการขยายตัวที่สอดคล้องกัน

ตลาดอเมริกาเหนือและยุโรปจะมีความต้องการเครื่องบินทดแทนมากขึ้น เนื่องจากสายการบินเหล่านี้จะต้องปลดระวางเครื่องบินเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำ การเติบโตของตลาดใหม่ๆ ที่มีประชาการมากและมีรายได้เพิ่มจึ้นจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพและทำให้เกิดสมดุลของปริมาณความต้องการเครื่องบินทั่วโลก

โบอิ้งคาดการณ์ว่าสายการบินต่างๆ จะมีการขยายตัว เพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างกันของผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเลือกเกี่ยวกับเที่ยวบิน อัตราค่าโดยสารต่ำ และบริการบินตรงสู่ปลายทางที่หลากหลาย สายการบินต่างๆ จะมุ่งเน้นการนำเสนอเที่ยวบินที่ใช้เครื่องบินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนที่จะใช้เครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้น ความต้องการเครื่องบินขนาดใหญ่ (เช่น โบอิ้ง 747) จะลดลงเหลือประมาณ 720 ลำเท่านั้น อย่างไรก็ดี ตลาดดังกล่าวยังคงเป็นตลาดที่สำคัญที่มีมูลค่าสูงถึง 220,000 ล้านดอลล่าร์ และส่วนใหญ่จะเป็นตลาดเครื่องบินทดแทนเครื่องเก่า ไม่ใช่เครื่องบินใหม่ที่เสริมเข้ามาเพื่อขยายฝูงบิน โดยคาดว่าประมาณ 45% ของความต้องการเครื่องบินในกลุ่มนี้จะมาจากสายการบินลูกค้าทั่วเอเชีย และอีก 23% จากลูกค้าสายการบินในตะวันออกกลาง

การคาดการณ์ตลาดเครื่องบินขนส่งสินค้าทั่วโลก
โบอิ้งคาดการณ์ว่าตลาดฝูงบินขนส่งสินค้าทั่วโลกจะมีการขยายตัวจาก 1,750 ลำ เป็น 2,980 ลำ เท่ากับมีการเติบโตจากเดิมมากกว่า 2 ใน 3 เท่า การขยายตัวดังกล่าวจะทำให้ความต้องการเครื่องบินขนส่งในตลาดเพิ่มขึ้นอีก 2,490 ลำ เครื่องบินใหม่ที่จะนำมาเสริมฝูงบินปัจจุบันจะมีจำนวนรวม 740 ลำ (มูลค่า 180,000 ล้านดอลล่าร์เมื่อคิดจากราคาปัจจุบัน) ส่วนอีก 1,750 ลำจะเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าที่ดัดแปลงมาจากรุ่นที่เป็นเครื่องบินขนส่งผู้โดยสาร เครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่ผลิตใหม่จะมีจำนวน 520 ลำ (ขนาดบรรทุกประมาณ 80 ตัน) ขนาดกลาง (บรรทุกสินค้าได้ประมาณ 40-80 ตัน) จะมีจำนวน 210 ลำ ส่วนเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดลำตัวมาตรฐาน (บรรทุกได้ประมาณ 45 ตัน) คาดว่าจะเป็นเครื่องบินที่ดัดแปลงมาจากเครื่องบินขนส่งสินค้า

ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจโลกทำให้ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2552 ซึ่งเป็นตัวเลขที่โบอิ้งใช้เป็นฐานในการคาดการณ์ภาวะตลาดในอนาคต จากตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำนี้ โบอิ้งคาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นปีละ 5.9% โดยเฉลี่ยไปจนถึงปี 2572 และสำหรับในปีนี้ โบอิ้งคาดว่าจะเป็นปีที่มีปริมาณการขนส่งขยายตัวมากถึงเกือบ 14% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 20 ปีข้างหน้า

ทินเซธเกล่าวเสริมว่า “หลังจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ปริมาณการขนส่งสินค้าสูงขึ้นมากในปี 2553 นี้ ทำให้โบอิ้งเชื่อว่าการขนส่งสินค้ามีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต อย่างไรก็ดี การเติบโตของธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น ความเร็ว และความเชื่อถือได้ของบริการ นวัตกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และการพึ่งพาระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก”

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายงานการคาดการณ์ภาวะตลาดและบทความที่เกี่ยข้องซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคาดการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้จากเว็บไซต์www.boeing.com/cmo หรือสามารถคลิกที่ http://bit.ly/9DXjtc เพื่อชมวีดิโอการแถลงรายงานการคาดการณ์ภาวะตลาดโดยแรนดี ทินเซธ