ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (โดยครอบคลุมสินเชื่อเงินสดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และNon-Bank โดยไม่รวมสินเชื่อบัตรเครดิต) เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ดูจะยังไม่คึกคักมากนักในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย เมื่อผู้ประกอบการบางรายยังคงชะลอแคมเปญการตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล โดยหันมาเน้นการรุกตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคประเภทอื่นๆ แทน ทำให้การฟื้นตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดีในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 นี้ คาดว่าธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลน่าจะเริ่มกลับมามีความคึกคักมากขึ้น เมื่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์การเติบโตของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มการเติบโตในช่วงที่เหลือของปี 2553 ดังนี้
สินเชื่อส่วนบุคคลทิศทางดีขึ้น … แต่ความเสี่ยงแวดล้อมธุรกิจยังคงมี
ในช่วงที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับผู้บริโภครายย่อยนั้นมีทิศทางการฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ ซึ่งน่าจะมาจากปัจจัยแวดล้อมเฉพาะทางธุรกิจหลายประการ อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงจัดอยู่ในประเภทสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ โดยเฉพาะเมื่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ในขั้นที่กำลังฟื้นตัว นอกจากนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อที่มีความต้องการเฉพาะ เมื่อภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงมีความผันผวน ทำให้ผู้บริโภคจึงชะลอการใช้บริการสินเชื่อลง
อย่างไรก็ดีธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเริ่มกลับมามีสีสันมากขึ้น ภายหลังจากที่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงสะท้อนให้เห็นถึงการปรับลดลงของจำนวนบัญชีสินเชื่อ และยอดสินเชื่อคงค้างจากยอด ณ สิ้นปี 2552 ในกลุ่มลูกค้าเก่า แต่ในช่วงเดือนเมษายน และ พฤษภาคม ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเริ่มเห็นภาพของการเติบโตที่เป็นบวกได้ โดยภาพรวมของจำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลในเดือนพฤษภาคม ปี 2553 ที่ผ่านมานั้น เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยจำนวนบัญชีทั้งระบบมีประมาณ 8,831,105 บัญชี เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ที่ผ่านมา แม้ว่าเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2552 จำนวนบัญชีจะหดตัวร้อยละ 4.6 ก็ตาม แต่นับเป็นอัตราที่ชะลอลงจากที่หดตัวร้อยละ 15.3 ณ สิ้นปี 2552 โดยจำนวนบัญชีสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมานั้น เป็นการเติบโตในทุกกลุ่มผู้ประกอบการ
จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนบัญชีสินเชื่อในเดือนพฤษภาคม ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม โดยยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม มีมูลค่าประมาณ 220,598 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงหดตัวร้อยละ 1.2 แต่มีอัตราการหดตัวที่ชะลอลงจากที่หดตัวร้อยละ 6.6 ณ สิ้นปี 2552
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แนวโน้มของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 นี้ น่าจะมีสีสันและมีความคึกคักมากกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญหลายประการ โดยแรงหนุนที่สำคัญ คือ ทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีทิศทางการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และน่าจะส่งผลดีต่อทิศทางการว่าจ้างงานในระยะข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มลูกค้าใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบ ในขณะที่แนวโน้มการเลิกจ้างงานที่ลดลง จะส่งผลดีต่อคุณภาพของสินเชื่อในระบบเช่นกัน นอกจากนี้ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ต่างเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ เช่น การปรับเงื่อนไขรายได้ขั้นต่ำของผู้ขอสินเชื่อให้ลงมาอยู่ในระดับเดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จากรายได้ต่อเดือน 15,000 – 20,000 บาท ลงมาอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน เพื่อที่จะกระตุ้นตลาดสินเชื่อให้ขยายตัวได้ในปีนี้ รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีความหลากหลาย และระยะเวลาที่ผ่อนชำระยาวนานขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อของตนเอง
อย่างไรก็ดีเส้นทางการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเผชิญกับความเสี่ยง เมื่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยลบที่อาจจะมาฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญ คือ เสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ ที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย และส่งผลต่อธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งในด้านของจำนวนลูกค้าใหม่และความเสี่ยงของคุณภาพสินเชื่อในระบบได้เช่นกัน ในขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ช้าลงจากที่ได้คาดการณ์ เนื่องมาจากปัญหาวิกฤติหนี้ในประเทศยุโรปที่ยังคงมีความเปราะบาง รวมถึงปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ขาดความต่อเนื่อง และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมายังภาคธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการเติบโต รวมถึงธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเช่นกัน
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2553 โดยคาดว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2553 นี้ จะมีมูลค่าประมาณ 228,000-231,250 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.5 – 8.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 6.6 ในปี 2552 โดยจะเติบโตในอัตราที่ค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอาจมีความผันผวนเกิดขึ้น ดังนั้นการอนุมัติสินเชื่อของผู้ประกอบการจึงยังคงอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง โดยจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพมากกว่าการเน้นจำนวนบัญชีที่เพิ่มขึ้น
โดยสรุป ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นคงจะเป็นเหมือนธุรกิจสินเชื่อประเภทอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว และภาวะที่เศรษฐกิจมีการเติบโต โดยผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ต่างต้องการที่จะขยายสัดส่วนการตลาดของตน ทำให้ผู้ประกอบการจึงต้องพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้มีความแตกต่างจากคู่แข่ง แต่อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจการเงินที่มีความเข้มข้นอย่างในขณะนี้ ผู้ประกอบการยังคงเน้นกลยุทธ์ด้านราคามาใช้ เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเลือกใช้บริการสินเชื่อของตนเอง อาทิ การจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษระยะสั้น เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.0 ในช่วง 1-2 เดือนแรกของสัญญา การกำหนดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าเพดานที่กำหนด (อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลรวมค่าธรรมเนียมไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี) เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเพิ่มความแข็งแกร่งของตน โดยการใช้จุดแข็งทางธุรกิจในการขยายฐานลูกค้ารายใหม่ อาทิ ธนาคารพาณิชย์ไทยจะใช้จุดแข็งในเรื่องของช่องทางการขาย ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ฐานลูกค้าบัญชีเงินฝากที่มีจำนวนมาก บริษัทที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงฐานลูกค้าของบริษัทในเครือธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งทางธุรกิจที่สำคัญ ในการขยายฐานลูกค้าสินเชื่อ ในขณะที่กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศจะเสริมความแข็งแกร่งในการทำธุรกิจ โดยเปิดให้บริการสมัครสินเชื่อออนไลน์ โดยเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในการจูงใจลูกค้า เช่น สมัครออนไลน์รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 18.5 เป็นต้น รวมถึงการใช้ช่องทางการขายตรงเช่นกัน
สำหรับกลุ่ม Non-Bank จะมีจุดเด่นในด้านของความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจรวมทั้งในเรื่องของกระบวนการทำงานและการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็ว (เช่น อนุมัติสินเชื่อด่วน 30 นาที) รวมไปถึงการมีจุดให้บริการสินเชื่อที่กระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด อีกทั้งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังเปิดให้บริการสมัครสินเชื่อออนไลน์บนเว็บไซต์ของตน ที่เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของลูกค้า ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้คงจะใช้จุดแข็งทางธุรกิจของตนรุกตลาดอย่างหนักต่อไป ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลคงจะมีความคึกคักและเข้มข้นมากขึ้น โดยคาดว่าผู้ประกอบการคงจะต้องสรรหากลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องในการจูงใจลูกค้าให้ใช้บริการของตน
ในด้านของผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ภาวะการแข่งขันที่สูงทำให้ผู้ประกอบการมีการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในการจูงใจผู้บริโภค เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงเมื่อขอกู้เป็นวงเงินที่สูง และระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวนานขึ้น เป็นต้น นั้น ผู้บริโภคควรจะทำการศึกษาในแต่ละผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจ โดยคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริง และความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อในแต่ละเดือน เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาในภายหลัง โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคมีภาระการผ่อนสินเชื่อมากกว่า 1 ประเภท