สินค้าเกษตรและอาหาร : ผลผลิตลด…ส่งออกพุ่ง อานิสงส์ FTA

ในปี 2553 แม้ว่าการผลิตสินค้าเกษตรต้องเผชิญกับปัญหาแมลงศัตรูระบาด และปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง โดยเฉพาะผลผลิตที่ปลูกในช่วงฤดูแล้งหรือในช่วงไตรมาสสอง อย่างไรก็ตาม มาตรการประกันรายได้เกษตรกรสำหรับสินค้าข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้เกษตรกรขยายการผลิต ในขณะที่การส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 พุ่งสูงขึ้น จากปัจจัยหนุนคือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทำให้กำลังซื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอานิสงส์จาก FTA กรอบต่างๆ จากปัจจัยหนุนดังกล่าว ทำให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สินค้าเกษตรที่ยังคงมีปัญหาเพียงสินค้าเดียว คือ ข้าว เนื่องจากเผชิญภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงจากเวียดนาม ทำให้ปริมาณการส่งออกชะลอตัว และราคายังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี 2553 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ยังคงขยายตัว และอานิสงส์จาก FTA กรอบต่างๆที่ยังส่งผลให้การส่งออกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องจับตามอง คือ สภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอุปสรรคสำคัญที่ประเทศคู่เจรจานำมาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น ได้แก่ มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร (Non-Tariff Barrier Measures : NTMs)

การผลิต…เผชิญปัญหาแมลงศัตรูระบาด และปัญหาฝนทิ้งช่วง
ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และภาวะการแพร่ระบาดของแมลงศัตรู ที่สร้างความเสียหายให้กับปริมาณผลผลิต โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ซึ่งผลผลิตลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ จากปัญหาเพลี้ยแป้ง และผลผลิตในช่วงกลางปี 2553 เผชิญปัญหาฝนทิ้งช่วง ส่วนข้าวนาปีก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และปัญหาภัยแล้ง สำหรับยางก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำยางน้อยลงในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2553

คาดการณ์ว่าในปีเพาะปลูก 2553/54 ยังต้องติดตามปริมาณน้ำ และสภาพอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลขอความร่วมมือให้เลื่อนการผลิตข้าวนาปีไปอีก 1 เดือน และกำลังพิจารณาที่จะออกมาตรการให้ปลูกข้าวเพียงปีละ 2 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และปริมาณน้ำที่จะไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าว สำหรับสินค้าเกษตรที่ยังต้องจับตามอง คือ มันสำปะหลัง เนื่องจากคาดการณ์ว่าในปี 2553/54 ผลผลิตจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไม่เพียงพอกับความต้องการ

สำหรับสินค้าปศุสัตว์และประมงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วงมากนัก อีกทั้งเกษตรกรมีการขยายการเลี้ยง เนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูง อันเป็นผลมาจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่อยู่ในเกณฑ์ดี

แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญ…จับตามันสำปะหลัง และยาง
จากปัจจัยในเรื่องปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดลดลง ในขณะที่ความต้องการในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้น ยกเว้นข้าวอย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 3 ราคาอาจกระเตื้องขึ้นในช่วงที่มีคำสั่งซื้อล็อตใหญ่ โดยคาดว่าจะเป็นการส่งออกระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามมาตรการระบายสต็อกของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลระบายเป็นข้าวถุงสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะส่งผลกระทบค่อนข้างน้อยต่อราคา แต่ถ้ารัฐบาลใช้วีธีการให้ผู้ส่งออกมาประมูลเพื่อระบายไปตลาดต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลทางจิตวิทยา ทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะมีผู้ส่งออกเข้าร่วมประมูลน้อย เพราะอยู่ในช่วงจังหวะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวต่างรอดูราคาข้าวที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง ในไตรมาส 4 ผลผลิตข้าวนาปีฤดูการผลิต 2553/54 ออกสู่ตลาด ซึ่งผู้ส่งออกข้าวของไทยยังคงต้องเผชิญการแข่งรุนแรงจากทั้งเวียดนาม และอินเดียที่คาดว่าจะกลับมาส่งออกข้าวขาว(หลังจากงดส่งออก 2 ปี) ซึ่งอินเดียจะมาเบียดแย่งตลาดข้าวในแอฟริกา และตะวันออกกลางกลับคืนไป รวมทั้งยังต้องแข่งขันกับคู่แข่งรายใหม่ โดยเฉพาะพม่าและกัมพูชาด้วย ซึ่งตั้งแต่ปี 2553 ใช้เวียดนามเป็นทางผ่านในการส่งออกข้าวส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าประเทศผู้นำเข้าสำคัญคือ ฟิลิปปินส์และไนจีเรีย ผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าข้าวลดลง

สำหรับแนวโน้มราคาข้าวปี 2554 คาดการณ์ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ในขณะที่คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวนาปีในปีเพาะปลูก 2553/54 ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2552/53 และมาตรการประกันรายได้เกษตรกรยังกำหนดราคาประกันเท่ากับปี 2553 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้ข้าวไทยอาจจะยังคงเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสภาพอากาศที่แปรปรวนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตของทั้งประเทศคู่แข่งและคู่ค้า

ส่วนสินค้าเกษตรที่น่าจับตามอง คือ มันสำปะหลัง และยางพารา สำหรับมันสำปะหลังคาดว่าราคาทรงตัวในระดับสูง จากความต้องการของจีน และคาดการณ์ปริมาณการผลิตปี 2553/54 ที่ลดลง (ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดในเดือนกันยายน) จากปัญหาภัยแล้งและเพลี้ยแป้ง กอปรกับมาตรการประกันรายได้เกษตรกรที่ยังคงอัตราประกันไว้ที่ 1.70 บาท/ก.ก. แนวโน้มปี 2554 คาดว่าจีนยังคงมีความต้องการมันเม็ดและแป้งมันจากไทยเพิ่มขึ้น ราคาน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่ราคาอาจจะผันผวน ต้องติดตามปริมาณการผลิตของเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดจีน

ส่วนยางพาราราคาแนวโน้มกระเตื้องต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย และแนวโน้มราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งส่งผลให้ราคายางสงเคราะห์ ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนอยู่ในเกณฑ์สูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และผันผวนในบางช่วง เนื่องจากประเทศผู้ซื้อจะทยอยซื้อเพื่อเก็บเข้าสต็อกให้เพียงพอป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศของตน และป้องกันปัญหาการขาดแคลนในบางช่วงที่ปริมาณผลผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากเป็นช่วงยางผลัดใบ โดยเฉพาะในช่วงปลายปี แนวโน้มปี 2554 คาดการณ์ผลผลิตยางไทย และประเทศผู้ผลิตยางสำคัญ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าอุตสาหกรรมรถยนต์ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ราคายางก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องกังวลคือ การที่รัฐบาลจีนปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น และอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนเริ่มชะลออัตราการเติบโต อาจจะส่งผลให้ความต้องการยางของจีนชะลอตัว ความต้องการนำเข้ายางของจีน

การส่งออก…เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ากระเตื้อง และอานิสงส์ FTA
ในช่วงครึ่งแรกปี 2553 มูลค่าการส่งออกทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 10,023.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.3 (y-o-y) และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.0(y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6,917.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ากระเตื้องขึ้น ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้แรงหนุนจาก FTA กรอบต่างๆ ที่ทำให้การส่งออกพุ่งสูงขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าปัจจัยหนุนดังกล่าวจะยังคงหนุนเนื่องการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรตลอดทั้งปี 2553 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น18,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 (y-o-y) โดยประเทศคู่ค้าสำคัญคือ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3(y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 13,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ อาเซียน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

อานิสงส์จากเอฟทีเอ…ปัจจัยหนุนส่งออกพุ่ง
การปรับลดอัตราภาษีของสินค้าเกษตรและอาหารลงเหลือร้อยละ 0 มีส่วนช่วยให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยมีราคาต่ำลง ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดที่มีข้อตดลงการค้าเสรีกับไทย ซึ่งการลดภาษีในปี 2553 โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนเดิม 6 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นการลดเพิ่มเติมจากที่ทยอยลดภาษีลงมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ในปี 2559-2563 กรอบการลดภาษีจะเห็นผลชัดเจนมากขึ้น จากการที่สินค้าอ่อนไหวส่วนใหญ่ต้องลดภาษีเป็นร้อยละ 0-5

ผลของการปรับลดภาษีในกรอบ FTA ต่างๆ มีส่วนผลักดันให้มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าสำคัญ และเป็นคู่เจรจา FTA กล่าวคือ การส่งออกสินค้ากสิกรรม(สินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้น)ไปยังจีน และอาเซียน เพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกสินค้ากสิกรรมในช่วงครึ่งแรกปี 2553 โดยเฉพาะยางและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 90.5 (y-o-y) มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.7(y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1,513 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าแปรรูป (สินค้าประมง ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมเกษตร) ไปยังตลาดอาเซียนขยายตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ผักผลไม้กระป๋อง และผลิตภัณฑ์ข้าว โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 2,258 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.8(y-o-y)

ในด้านการนำเข้าในช่วงครึ่งแรกปี 2553 มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหรือวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปจากกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ไทยจะมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค คือ นำเข้าวัตถุดิบมาผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งออกกลับไปยังอาเซียน และประเทศอื่นๆ เนื่องจากไทยมีมาตรฐานการผลิต และสุขอนามัยในการผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปจากอาเซียนในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 611 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการบริโภคในช่วงครึ่งแรกปี 2553 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจากตลาดจีน และอาเซียน รวมทั้งนิวซีแลนด์ ซึ่งบางส่วนเป็นการนำเข้าสินค้าที่ไทยผลิตได้ไม่เพียงพอ เช่น การนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากนิวซีแลนด์ แต่บางส่วนก็เป็นการนำเข้าเพื่อตอบสนองผู้ที่มีรายได้สูง หรือผู้ที่นิยมบริโภคสินค้าต่างประเทศ

เมื่อเปรียบเทียบดุลการค้าในกรอบ FTA ต่างๆ ในช่วงครึ่งแรกปี 2553 แล้วพบว่าไทยได้ดุลการค้ากับประเทศคู่เจรจา ยกเว้นกับนิวซีแลนด์ที่ไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม โดยประเทศคู่เจรจาที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร คือ อาเซียน ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งในช่วงครี่งแรกปี 2553 ไทยได้ดุลการค้า 2,797 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 2,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 1,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับ

ประเด็นที่ยังต้องติดตามภายหลังการเปิด FTA กรอบต่างๆ ก็คือ การเปิดเสรีเกษตรและอาหารในปัจจุบัน อุปสรรคด้านภาษีไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เนื่องจากประเทศคู่เจรจาลดอัตราภาษีสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำแล้ว แต่อุปสรรคสำคัญที่ประเทศคู่เจรจานำมาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น ได้แก่ มาตรการมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร (Non-Tariff Barrier Measures : NTMs) ทั้งมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศโดยทั่วไป (Technical Barriers to Trade : TBT ) และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS) ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่อาจมีความสามารถในการรับมือได้มากกว่าธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ ในระยะยาวไทยต้องเตรียมรับมือกับข้อพิพาททางการค้าเกี่ยวกับมาตรการมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร ซึ่งปัจจุบันอาเซียนกำลังมีการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหา NTMs ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการของไทยสามารถปรับตัว โดยสามารถผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรการ TBT/SPS ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และหากทำได้ตามแหล่งกำเนิดของสินค้าก็น่าจะได้สิทธิประโยชน์จาก FTA กรอบต่างๆ

โจทย์ใหญ่ที่ทางภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ คือ การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวยต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนทางด้านการขนส่ง เสริมสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขัน รวมถึงการให้ความรู้และความเข้าใจต่อเกษตรกรในการปรับตัวในกรอบ FTA โดยเฉพาะการกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยปรับตัว เพื่อรองรับการแข่งขันภายใต้กรอบ FTA ทั้งในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยการส่งเสริมทั้งทางด้านทรัพยากร และการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่

แม้ว่าปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรในปี 2553 บางส่วนจะได้รับความเสียหายจากปัญหาแมลงศัตรูระบาด และปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก แต่ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกเพิ่มขึ้น รวมทั้งอานิสงส์จากกรอบ FTA ต่างๆ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารพุ่งสูงขึ้นตลอดทั้งปี 2553 อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือ การที่ประเทศคู่เจรจานำมาตรการมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร ทั้งมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศโดยทั่วไป และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการกระตุ้นการปรับตัวของเกษตรกรรายย่อย โดยการให้ความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งการส่งเสริมทั้งทางด้านทรัพยากร และการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยปรับประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับมาตรฐานการผลิต เตรียมพร้อมรับการแข่งขันในตลาดโลก และรับมือกับสินค้านำเข้า