AFTA ดันยอดส่งออกรถยนต์ไปอาเซียนปี 53 พุ่งร้อยละ 86 ถึง 91

จากรายงานตัวเลขยอดการส่งออกรถยนต์เดือนมิถุนายน 2553 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงถึงร้อยละ 95.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว คิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออก 69,279 คัน ส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศเป็นจำนวน 418,178 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันในปีที่แล้วที่มีจำนวนเพียง 234,822 คัน ถึงร้อยละ 78.1 โดยปัจจัยหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คือ ผลของการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดเสรีภายใต้กรอบความตกลงอาเซียน ซึ่งมีประชากรในกลุ่มประเทศสมาชิกรวมกันกว่า 500 ล้านคน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา สินค้าในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งหมดก็ได้มีการลดภาษีศุลกากรลงเหลือร้อยละ 0 ในกลุ่มประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ ส่งผลทำให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปยังอาเซียนขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก ทว่าแม้การเปิดเสรีทางการค้าจะช่วยทำให้การส่งออกสินค้าบางประเภทในกลุ่มยานยนต์ของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันทิศทางการเปิดเสรีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ก็อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขันในสินค้าบางประเภทเช่นเดียวกัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงผลจากการเปิดเสรีทางการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

การส่งออกรถยนต์นั่งไปอาเซียนขยายตัวสูงขึ้นอย่างมากหลังการเปิดเสรี

จากรายงานมูลค่าการส่งออกรถยนต์ของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุดพบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 นี้ ไทยส่งออกรถยนต์ไปยังอาเซียนเป็นมูลค่าสูงถึง 1,488.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 24.4 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย และแม้มูลค่าการส่งออกดังกล่าวจะเป็นรองจากมูลค่าการส่งออกรถยนต์รวมไปออสเตรเลียที่มีมูลค่าสูงถึง 1,669.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หากแยกเป็นประเภทรถยนต์แล้วพบว่า อาเซียนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของรถยนต์นั่งของไทย โดยไทยส่งออกรถยนต์นั่งไปยังอาเซียนคิดเป็นมูลค่า 1,147.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 35.3 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยทั้งหมด โดยปัจจัยกระตุ้นการส่งออกที่สำคัญ คือ การลดภาษีสำหรับสินค้าในกลุ่มรถยนต์นั่ง (HS: 8703) ให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเดิมอยู่ที่ร้อยละ 0 ถึง 5 ลงเหลือร้อยละ 0 ทั้งหมดตั้งแต่ต้นปีนี้ ทำให้มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังอาเซียนในช่วงครึ่งปีแรกนี้ขยายตัวสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 137.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มีมูลค่าการส่งออกเพียง 482.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การที่ไทยมีโอกาสในการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดอาเซียนสูงขึ้นนี้ นอกเหนือจากปัจจัยด้านภาษีนำเข้าที่ลดลงในกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว ทิศทางการขยายการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กมายังประเทศไทย จากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค และมีความพร้อมในแง่ต่างๆ เช่น ความรู้ความสามารถของทรัพยากรบุคคล อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และโครงสร้างระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้การส่งออกรถยนต์นั่งของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับกำลังการผลิตรถยนต์นั่งในปัจจุบันของประเทศในกลุ่มอาเซียน ยังคงไม่สามารถรองรับกับปริมาณความต้องการในประเทศได้ทำให้โอกาสส่งออกรถยนต์นั่งของไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น

โดยประเทศที่ไทยมีโอกาสในการขยายการส่งออกไปสูงที่สุด คือ อินโดนีเซีย จากปริมาณความต้องการที่อยู่ในระดับสูงขณะที่กำลังการผลิตปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 2 ใน 3 ของความต้องการใช้ในประเทศ รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ตามลำดับ ซึ่งมาเลเซียแม้จะเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้รถยนต์นั่งสูงมากเช่นกัน แต่กำลังการผลิตรถยนต์นั่งในประเทศที่มีมากกว่าร้อยละ 90 ของความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้โอกาสในการนำเข้ารถยนต์นั่งจากไทยน้อยกว่าอีก 2 ประเทศ

ยอดขายรถยนต์ในประเทศของ 6 ประเทศหลักของอาเซียนในช่วงครึ่งแรกปี 2553 แยกตามประเภทรถยนต์

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยข้อมูลจาก CEIC

จากประโยชน์ที่ได้รับจากการเปิดเสรีดังกล่าวส่งผลทำให้การส่งออกรถยนต์ไปยังอาเซียนในปี 2553 นี้มีโอกาสขยายตัวสูง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าการส่งออกรถยนต์รวมของไทยไปยังอาเซียนมีโอกาสขยายตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 86 ถึง 91 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 3,300 ถึง 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2552 ที่หดตัวถึงร้อยละ 19.9 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1,776.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งคาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์รวมทั้งหมดของไทยไปอาเซียน

แม้การส่งออกรถยนต์นั่งไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าทำให้สามารถส่งออกได้มากขึ้นดังกล่าวมาข้างต้น แต่สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนบางประเภท เช่น รถบัสและรถบรรทุก รวมถึงกระปุกเกียร์ เป็นต้น ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสินค้าที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเปิดเสรีทางการค้ายังมีมูลค่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวมในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน แต่การนำเข้าชิ้นส่วนและรถยนต์ราคาถูกจากประเทศจีนหรืออินเดีย ที่อาจจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศนั้น จะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนก็ยังคงต้องประสบกับประเด็นปัญหาต่างๆในทางปฏิบัติในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาดและการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุน ดังนี้
ปัญหากฎระเบียบทางภาครัฐ เช่น การออกกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อตกลง FTA ยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร เช่น การเปลี่ยนหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่จากเดิมใช้ CEPT Form D มาเป็น ATIGA Form D ซึ่งยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ รวมถึงระบบภาษีศุลกากรที่ยังไม่สอดคล้องระหว่างสินค้าต้นน้ำและปลายน้ำ เช่น รถบรรทุกขนาดใหญ่ของไทยยังคงมีภาษีชิ้นส่วนสำเร็จรูป (CKD) อยู่ที่ร้อยละ 10 ขณะที่ภาษีนำเข้ารถบรรทุกสำเร็จรูปจากอาเซียนลดลงเหลือร้อยละ 0 แล้ว ทำให้ไทยอาจเสียโอกาสในการเป็นฐานการผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่ในอาเซียนได้ ประกอบกับนโยบายของทางภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจนและสอดคล้องกันเท่าที่ควรระหว่างหน่อยงานต่างๆ โดยเฉพาะต่อแนวทางการกำหนดนโยบายเทคโนโลยีรถยนต์ในอนาคต

ปัญหาเรื่องความพร้อมภายในประเทศของอุตสาหกรรม เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือและวิศวกร ท่ามกลางทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตในลักษณะก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงการที่ไทยยังไม่มีศูนย์ทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนของประเทศ ซึ่งจะมีความสำคัญในแง่ของการพัฒนาสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพตามหลักสากล

ปัญหาจากภายนอก เช่น ทิศทางการเพิ่มมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs : Non Tariff Measures) ของประเทศคู่เจรจา ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อออกมาปกป้องตลาดภายในประเทศของตน เช่น มาตรการจำกัดการนำเข้ารถยนต์ของมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งนับเป็นการลดทอนโอกาสในการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนของไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่ได้รับประโยชน์การเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ภาครัฐจึงเป็นอีกส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่การเปิดเสรีเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ นอกเหนือไปจากการที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวในด้านการพัฒนาความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตของตน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่มาถึงนี้ได้

โดยสรุป จากการเปิดเสรีภายในอาเซียน จะเห็นได้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยได้รับประโยชน์ค่อนข้างมากจากการเปิดเสรีดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนของสินค้ารถยนต์นั่ง ซึ่งมีการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นมากหลังภาษีนำเข้าได้ลดลงเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 โดยประเทศที่ไทยมีโอกาสในการส่งออกรถยนต์นั่งมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ตามลำดับ ส่งผลทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าการส่งออกรถยนต์จากไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมีโอกาสที่จะขยายตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 86 ถึง 91 ในปี 2553 นี้ โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง การส่งออกจะยังคงมีมูลค่าสูงขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากมีหลายบริษัทที่จะเริ่มส่งออกรถยนต์จากสายการผลิตใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวช่วงครึ่งปีหลังคงชะลอลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 65 ถึง 74 จากร้อยละ 120 ในครึ่งปีแรก เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีภายในอาเซียนทำให้สินค้าบางประเภทได้รับผลกระทบด้านลบ เช่น รถบัสและรถบรรทุก รวมถึงกระปุกเกียร์ เป็นต้น ซึ่งมีการนำเข้ามายังไทยเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมาก นอกจากนี้ปัญหาและความไม่พร้อมในแง่ต่างๆของไทยทั้งในด้านกฏระเบียบของทางภาครัฐ เช่น ปัญหาเรื่องเอกสารต่างๆ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการขาดศูนย์ทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศ ประกอบกับปัญหาจากนอกประเทศ เช่น มาตรการที่มิใช่ภาษีต่างๆที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นนี้ ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับปัญหาในการส่งออก และไม่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มที่

อนึ่ง แนวทางในการจัดการกับปัญหาต่างๆดังกล่าว ภาครัฐในหลายภาคส่วนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันและเร่งเข้าไปดูแลในประเด็นต่างๆ เพื่อลดอุปสรรคให้กับผู้ประกอบการ เช่น การออกกฏระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อตกลง FTA การจัดทำโครงสร้างภาษีศุลกากรให้สอดคล้องระหว่างสินค้าต้นน้ำและปลายน้ำ การส่งเสริมการฝึกอบรมและพัฒนาผีมือแรงงาน การอำนวยความสะดวกในการจัดหาแรงงานในภาวะที่อุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานอย่างหนักเช่นในปัจจุบัน และการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงการเข้าไปเร่งเจรจาเพื่อลดปัญหาการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่างๆของประเทศผู้นำเข้า เป็นต้น เพื่อเป็นการช่วยขยายโอกาสในการส่งออกสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนไทย รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนที่น่าลงทุนในภูมิภาคในระยะยาว