แม้เงินเฟ้อทั่วไปค่อนข้างทรงตัวในไตรมาส 3/2553…แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงขยับขึ้น

จากการที่ระดับราคาสินค้าทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2553 โดยเฉพาะราคาในหมวดอาหาร ยังคงมีทิศทางขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแต่ในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่ ระดับราคาในหมวดพลังงานไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นมากนักในระหว่างเดือน ซึ่งส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2553 เพิ่มขึ้นน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เพียงร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาส 3/2553 น่าที่จะทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2/2553 ที่ผ่านมา แต่จะมีโอกาสขยับขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี 2553 ถึงต้นปี 2554 ขณะที่ ภาพของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปี เข้าใกล้ร้อยละ 2.0 ในช่วงปลายปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นแวดล้อมและประเมินทิศทางของเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีไว้ดังนี้ :-

? ภาพรวมตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2553
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2553 เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ ของนักวิเคราะห์ ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงรักษาทิศทางการทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามคาด

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคม 2553 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.16 จากเดือนก่อนหน้า (Month on Month: MoM) โดยเป็นผลจากการที่ราคาอาหารและสินค้าอุปโภคหลายรายการเริ่มทยอยปรับลดลง ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศก็ไม่ได้เร่งสูงขึ้นมากนักในช่วงระหว่างเดือน อย่างไรก็ดี ราคาอาหารสดบางรายการยังคงทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งรวมถึงเป็นปลายฤดูการผลิตของผลไม้บางชนิด ขณะที่ ราคาไข่ไก่ยังคงมีระดับที่สูงจากเดือนก่อนหน้าตามต้นทุนอาหารสัตว์ แม้ว่ารัฐบาลจะเข้ามาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่และกำหนดราคาขายหน้าฟาร์มแล้วก็ตาม

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (Year on Year: YoY) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ในเดือนกรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 ในผลสำรวจโดย Reuters ก่อนการรายงานข้อมูลเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะผักและผลไม้สด ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ รวมถึงและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ล้วนมีระดับราคาที่สูงกว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม 2552

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนกรกฎาคม 2553 ขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (MoM) เพียงร้อยละ 0.04 มาอยู่ที่ระดับ 103.67 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวขึ้นตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ในเดือนกรกฎาคม จากร้อยละ 1.1 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งนับเป็นการปรับตัวอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.5-3.0 ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

? ประเมินภาพแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2553 และประเด็นที่เกี่ยวข้อง
เป็นที่น่าสังเกตว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในส่วนที่มาจากราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food Items) ไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากนักในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย (ราวร้อยละ 2.1 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2553 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 79.5 ในช่วงเดียวกันปี 2552) ขณะที่ การคงอยู่ของมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน และการตรึงราคาก๊าซ LPG ก๊าซ NGV ก็มีผลในการช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อลงได้ด้วยอีกทางหนึ่ง แต่กระนั้นก็ดี ผลกระทบจากภาวะภัยแล้งกลับหนุนให้ราคาสินค้าในหมวดอาหารปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 7 เดือนแรกของปี 2553 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อภาพของแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะที่เหลือของปี 2553 ดังนี้
แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาส 3/2553 อาจมีทิศทางที่ทรงตัว…ก่อนจะขยับขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้ผลจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ (YoY) อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงในช่วง 1-3 เดือนหลังจากนี้ และก็น่าที่จะทำให้ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 3/2553 มีระดับที่ค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2/2553 ที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็ดี คาดว่า แนวโน้มการขยับขึ้นเดือนต่อเดือน (MoM) ของระดับราคาสินค้าโดยรวมทั้งในส่วนของราคาในหมวดอาหารและพลังงาน น่าที่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว และนำไปสู่การขยับขึ้นอีกครั้งของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงปลายปี 2553

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงที่เหลือของปี 2553 ยังคงเป็นขาขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนับจากนี้จนถึงสิ้นปี 2553 อาจให้ภาพที่แตกต่างไปจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเล็กน้อย โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าที่จะทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเข้าหาระดับร้อยละ 1.5 ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3/2553 และเข้าใกล้ร้อยละ 2.0 ในช่วงปลายปี 2553

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าจากผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมทั้งขยายอายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและราคาพลังงานออกไปอีก 6 เดือน แต่ยังคงมีหลากหลายปัจจัยที่สนับสนุนการปรับขึ้นของระดับราคาสินค้าโดยรวมในช่วงเวลาที่เหลือของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าในหมวดอาหารที่น่าจะได้รับแรงผลักดันจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวน และเทศกาลกินเจในช่วงเดือนแรกๆ ของไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ขณะที่ ราคาในหมวดพลังงาน อาจทยอยไต่ระดับขึ้นได้ตามทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลก ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงกรอบประมาณการของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับปี 2553 ที่ร้อยละ 3.0-4.0 (ค่ากลางที่ร้อยละ 3.5) และกรอบประมาณการของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสำหรับปี 2553 ที่ร้อยละ 1.0-1.5 (ค่ากลางที่ร้อยละ 1.3) ไว้เช่นเดิม

โดยภาพของแรงกดดันเงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2553 และมีโอกาสเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2554 (ซึ่งต้องจับตาปัจจัยการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานในภาคเอกชน และการครบกำหนดสิ้นสุดมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของรัฐบาลในช่วงต้นปี 2554) น่าที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธปท.ต้องดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้เริ่มวัฏจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินไปแล้วในการประชุมเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเครือธนาคารกสิกรไทยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับขึ้นสู่ระดับร้อยละ 2.0 ภายในสิ้นปี 2553 นี้ อย่างไรก็ดี แนวทางการคุมเข้มทางการเงินดังกล่าว อาจมีลักษณะที่ค่อนข้างระมัดระวังท่ามกลางการประเมินความเสี่ยงของผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยเป็นระยะๆ