ยางพาราและผลิตภัณฑ์ : กรอบ FTA ผลักดันส่งออกพุ่ง…นำเข้าเพิ่ม

ในปี 2553 เป็นปีที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและผลิตภัณฑ์พลิกฟื้นจากภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2552 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีน และตามมาด้วยการฟื้นตัวของประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่งผลให้ความต้องการยางพาราและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนุนประการสำคัญที่ช่วยพยุงอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ของไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังปี 2552 คือ การที่จีนลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางตามกรอบข้อตกลง FTA อาเซียนจีนก่อนที่จะถึงกำหนดในปี 2553 ทำให้ในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ผู้ส่งออกของไทยมีการปรับตัวโดยการหันไปผลิตยางคอมปาวน์ ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ยาง แทนการผลิตยางแท่ง ซึ่งถือว่าเป็นยางแปรรูปขั้นต้น โดยอานิสงส์นี้ยังคงเป็นปัจจัยหนุนต่อเนื่องในปี 2553 ด้วย ในขณะที่กรอบข้อตกลง FTA อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงอาฟตา อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย และอาเซียน-นิวซีแลนด์ ช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวด้วย

นอกจากปริมาณความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแล้ว ราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงก็เป็นปัจจัยหนุนราคายางเช่นกัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ราคายางธรรมชาติจะมีแนวโน้มปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 คาดว่าจะส่งผลให้ราคายางชะลอการเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป เนื่องจากความต้องการยางสำหรับอุตสาหกรรมยางวงล้อยังเป็นปัจจัยหนุนอยู่ รวมทั้งความต้องการยางสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะยางเพื่ออุตสาหกรรมรองเท้า และอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยได้รับอานิสงส์ทั้งจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และกรอบ FTA ต่างๆ กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกยางเพิ่มขึ้นเป็น 3,551.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 109.2 (y-o-y) โดยเฉพาะการส่งออกยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.3 (y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3,013.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะการส่งออกยางคอมปาวน์ ยางรถยนต์ และถุงมือยาง ตลาดส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นประเทศคู่เจรจาของกรอบ FTA ยกเว้นสหรัฐฯ บราซิล และสหภาพยุโรป

ผลของกรอบFTA นอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์แล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ของไทยในปี 2553 เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ในช่วงครึ่งแรกปี 2553 การนำเข้ายางและเศษยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 134.6 (y-o-y)เป็น 417.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการนำเข้าเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้ายางสังเคราะห์ ส่วนมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นเป็น 423.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.3 (y-o-y) ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางที่นำเข้าแยกเป็น ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้นและปิดผนัง ผลิตภัณฑ์ยางวัลแคไนซ์ ท่อ ข้อต่อ และสายพานที่ทำด้วยาง ซึ่งประเด็นที่ต้องกังวล คือ การเข้ามาแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในประเทศของผลิตภัณฑ์ยาง 3 รายการ ในขณะที่ยางรถยนต์(โดยเฉพาะยางเรเดียลใช้กับรถบัส และรถบรรทุก และยางรถจักรยานยนต์) ไทยจะลดภาษีเป็นร้อยละ 5 ในปี 2561 ปัจจุบันอัตราภาษีอยู่ในระดับร้อยละ 20-30 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของยางรถยนต์

ประเด็นที่ยังต้องติดตามต่อไปเกี่ยวกับผลของกรอบ FTA ดังนี้
-อานิสงส์ที่ไทยได้รับจากประเทศคู่เจรจากรอบ FTA ประเทศคู่แข่งขันสำคัญของไทย คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนและเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกก็ได้รับอานิสงส์นี้ด้วย ทำให้ผู้ส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ของไทยก็ยังคงเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง

ในระยะยาวแล้วไทยยังจะสามารถขยายการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์จากการที่ประเทศคู่เจรจา FTA ทยอยลดภาษีตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป เช่น อินเดียลดภาษีนำเข้ายางผสมคาร์บอนเบล็กหรือซิลิก้า ผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเภสัชกรรม(ไม่รวมถุงยางอนามัย) และถุงมือเล่นกีฬา จากร้อยละ5-7 เหลือร้อยละ 0 ในปี 2556 จีนลดภาษีนำเข้ายางธรรมชาติในลักษณะปฐมจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 ในปี 2558 เป็นต้น

-การย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยของนักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน โดยอาศัยอานิสงส์จากกรอบ FTA เข้ามาตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์ยางในไทย ทั้งยางแผ่น ยางแท่ง ยางคอมปาวน์ และยางรถยนต์ แล้วส่งกลับไปจีน ประเด็นที่นักลงทุนจีนเลือกมาลงทุนในไทย เนื่องจากไทยเป็นแหล่งผลิตยางอันดับหนึ่งของโลก มีความพร้อมของสาธารณูปโภคพื้นฐาน และมีการสร้างถนนเชื่อมระหว่างไทยกับจีน โดยขนส่งผลิตภัณฑ์ยางจากแหล่งผลิตยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังจีน หรือเลือกเส้นทางขนส่งไปยังท่าเรือดานัง ในเวียดนามแล้วส่งต่อไปจีน ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าขนส่งมากกว่าการใช้เส้นทางขนส่งมาท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรืองกรุงเทพฯ นอกจากนี้ นักลงุทนต่างประเทศยังสามารถอาศัยฐานการผลิตจากไทย ส่งออกไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาค และประเทศที่สามได้อีกด้วย

-การย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนไทยไปยังต่างประเทศ ซึ่งแยกออกได้เป็นการเข้าลงทุนปลูกยางในกัมพูชา ลาว และพม่า ทำให้ในอนาคตไทยจะมีคู่แข่งรายใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากทั้งจีนและเวียดนามก็เข้าไปลงทุนปลูกยางในประเทศเหล่านี้เช่นกัน ในขณะที่ประเทศเหล่านี้ก็จะเป็นแหล่งวัตถุดิบของไทยในอนาคตเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติการนำเข้าของทั้งจีนและไทย เริ่มมีการนำเข้าจากประเทศเหล่านี้แล้ว แม้ว่ามูลค่ายังไม่มากนัก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนไทยการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์ยางในเวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งในอนาคตจะเป็นคู่แข่งในการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทย

ยางและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับอานิสงส์กรอบ FTA ผลักดันการส่งออก เนื่องจากประเทศคู่เจรจาเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ ผนวกกับการพลิกฟื้นของอุตสาหกรรมรถยนต์ส่งผลให้ความต้องการยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กรอบ FTA ส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ของไทยเพิ่มขึ้นด้วย ผู้ผลิตยางและผลิตภัณฑ์ในบางสินค้าต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้านำเข้า ประเด็นที่จะต้องติดตามต่อไปคือ การทยอยลดภาษีในกรอบ FTA ต่างๆ รวมทั้งการเตรียมรับมือกับการย้ายฐานการลงทุนทั้งการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ