การเปิดเสรีภาคการท่องเที่ยว : โอกาส-ความท้าทายของธุรกิจท่องเที่ยวไทย

จากการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆที่สำคัญ เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิค และองค์การการค้าโลก ทำให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อผูกพันภายใต้ความตกลงต่างๆอันเป็นผลมาจากการเจรจา ทั้งในระดับพหุพาคีและทวิภาคี รวมถึงความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าภาคบริการ (The General Agreement on Trade in Services : GATS) ที่ประเทศไทยได้ทำการผูกพันไว้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเปิดเสรีตลาดทางด้านการค้าบริการให้กับประเทศสมาชิกต่างๆเข้ามาประกอบธุรกิจและอาชีพต่างๆในประเทศไทยมากขึ้น อันหมายรวมถึงสาขาบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยด้วย ซึ่งอาจจะเป็นทั้งโอกาสและปัจจัยเสี่ยงต่อภาคบริการของไทย ซึ่งหากประเภทธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของไทยมีศักยภาพสูงก็จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และก่อให้เกิดผลดีต่อไทยในการเปิดตลาดเข้าไปลงทุนยังประเทศต่างๆ แต่ถ้าประเภทธุรกิจด้านการท่องเที่ยวนั้นไม่มีศักยภาพในการแข่งขันเพียงพอ ก็จะเสียเปรียบประเทศอื่นๆที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่า

ธุรกิจท่องเที่ยว…ในยุคการค้าเสรี
ปัจจุบันการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมบริการที่มีบทบาทสำคัญมากในระบบเศรษฐกิจโลก เพราะคิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 1 ใน 3 ของภาคค้าบริการรวมของโลก และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศต่างๆมากมาย โดยเฉพาะการสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้กับประเทศเป็นมูลค่าไม่ใช่น้อย รวมถึงช่วยเพิ่มพูนการจ้างงานด้วย ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดขององค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ(World Tourism Organization :UNWTO) ณ เดือนเมษายน 2553 ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2553 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกรวมทั้งสิ้นประมาณ 900-920 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 จากปีก่อนหน้า และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวโลกประมาณ 870-880 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2-3) โดยมีจีนเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวโลกจากปี 2552

ขณะที่ประเทศไทยมีรายรับด้านการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนั้น พบว่า ไทยสูงเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซีย ขณะที่ลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น ในปี 2552 ไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 39 จากประเทศทั้งหมดที่ได้รับการจัดอันดับ ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นมาจากอันดับที่ 42 ของปี 2551 ตามเอกสารรายงานของ World Economic Forum เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกปี 2008-2009 และเป็นอันดับที่ 8 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ทั้งนี้ โดยภาพรวมแล้วพบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการและการทำตลาด อีกทั้งสินค้าท่องเที่ยวของไทยก็มีความโดดเด่นมิใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม มาตรฐานในระดับสากลของโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ขณะเดียวกันโรงแรมที่พักของไทยก็มีหลายรูปแบบให้เลือกสรร ภายใต้ระดับราคาที่หลากหลาย อีกทั้งอาหารไทยเองก็มีความโดดเด่นด้านรสชาติและวิธีการปรุง รวมถึงการบริการของไทยก็เป็นไปด้วยไมตรีจิตที่ดีเยี่ยม ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยกลายเป็นหนึ่งในรายการที่คู่เจรจาของไทยให้ความสนใจ ขณะที่ทางภาครัฐของไทยเองก็มองว่าธุรกิจท่องเที่ยวเป็นสาขาภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน จึงส่งผลให้สาขาท่องเที่ยวเป็นสาขาที่มีการทำข้อผูกพันในลำดับต้นๆเพื่อดำเนินการเปิดเสรีภาคบริการ

สถานะการเจรจา FTA ของไทยกับประเทศต่างๆ
ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวของไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่บังคับใช้แล้วทั้งในระดับทวิภาคีและในกรอบอาเซียนด้วยกันรวม 5 ฉบับจากคู่เจรจา 6 กลุ่มประเทศคือ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยรูปแบบการค้า

ซึ่งประเทศต่างๆมักจะไม่ขัดข้องที่จะเปิดเสรีภาคบริการในรูปแบบที่ 1 และ รูปแบบที่ 2 คือ การบริการข้ามแดน และการอนุญาตให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ แต่ในรูปแบบที่ 3 และ 4 ที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวนั้น บางประเทศก็เปิดโอกาสให้ไทยสามารถเข้าไปลงทุนดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวได้ โดยถือสัดส่วนหุ้นได้เพิ่มขึ้น หรือบางแห่งก็ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นในส่วนของต่างชาติ ขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็มีการเปิดโอกาสทางการลงทุนด้านการท่องเที่ยวแก่คู่เจรจาต่างชาติแตกต่างกันไปเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบกฎหมายไทย ข้อผูกพันการเปิดตลาดของสาขาบริการการท่องเที่ยวในปัจจุบันของแต่ละรูปแบบ เป็นไปดังนี้

รูปแบบที่หนึ่ง(MODE 1): Cross Border Supply เป็นการกำหนดให้ผู้ให้บริการในต่างประเทศสามารถบริการแก่ลูกค้าในประเทศไทยได้โดยตรง เช่น การให้บริการจัดการโรงแรมข้ามพรมแดน ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตข้ามประเทศ แต่ในส่วนของธุรกิจนำเที่ยวนั้น ไทยยังไม่อนุญาตให้ต่างชาติค้าบริการข้ามพรมแดน ภายใต้พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวปี พ.ศ. 2542(บัญชีสาม) และ พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาต้องมีถิ่นที่อยู่ในไทยเท่านั้น

รูปแบบที่สอง(MODE 2): Consumption Abroad ที่เป็นการยอมให้คนในประเทศหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศเพื่อบริโภคการบริการในประเทศนั้น หรือเป็นการบริโภคหรือใช้บริการในต่างประเทศ เช่น การเดินทางมาท่องเที่ยว การเดินทางเพื่อไปรักษาพยาบาลหรือศึกษาในต่างประเทศ ทางการไทยอนุญาตให้คนไทยเดินทางไปใช้บริการในต่างประเทศได้

รูปแบบที่สาม(MODE 3) : Commercial Presence หมายถึงการยอมให้มีการเข้าไปจัดตั้งกิจการในรูปแบบสาขาหรือนิติบุคคลในกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อให้บริการแก่ประชาชนของประเทศนั้นๆ และรวมไปถึงชาวต่างชาติที่พักอาศัยหรือเข้าไปท่องเที่ยว อาทิ การตั้งโรงแรม ร้านอาหาร/ภัตตาคาร บริษัทบริการนำเที่ยวในต่างประเทศ หรือให้กิจการดังกล่าวของต่างประเทศเข้ามาเปิดดำเนินการในไทย ซึ่งภายใต้กฎหมายไทยในปัจจุบัน แม้ว่าการลงทุนของต่างชาติยังต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวปี พ.ศ. 2542 คือถือหุ้นของต่างชาติจะต้องไม่เกินร้อยละ 49 หรือจำนวนผู้ถือหุ้นต่างชาติต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทที่เกี่ยวข้อง แต่หากได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจในการประกอบกิจการ หรือเป็นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ก็สามารถเข้ามาดำเนินกิจการได้
รูปแบบที่สี่(MODE 4) การเคลื่อนย้ายบุคคล คือ บุคคลชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปในกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อประกอบอาชีพ อาทิ บุคลากรทางด้านการโรงแรม สปา แพทย์แผนไทย และมัคคุเทศก์ เป็นต้น แต่หากประเทศคู่เจรจามีความเห็นร่วมกันว่ายังไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีในสาขาใด ก็จะเจรจาไม่เปิดเสรีต่อไปได้ ซึ่งวิชาชีพมัคคุเทศก์ยังเป็นวิชาชีพสงวนของคนไทย ภายใต้ พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าวปี พ.ศ. 2542