ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กำหนดวันจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 2,966,533,592 หุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ในอัตรา 2 หุ้นใหม่ต่อ 9 หุ้นเดิม ในราคา 1 บาทต่อหุ้น ระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม 2553 นี้ โดยกลุ่มซีไอเอ็มบี ประเทศมาเลเซีย พร้อมเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนที่อยู่ในธนาคารจำนวน 93.15%
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 16 ของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 ได้อนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียน โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 2,966,533,592 หุ้น ราคาพาร์ 0.50 บาท ต่อหุ้น ทั้งนี้ ธนาคารจะเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคาร (Rights Offering) ในอัตรา 2 หุ้นใหม่ต่อ 9 หุ้นเดิม ที่ราคา 1 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ ธนาคารได้กำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารตามสัดส่วนการถือหุ้นในวันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2553 ( Record Date ) และให้รวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นตามมาตรา 225 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยวิธีปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น ในวันอังคารที่ 28 กันยายน 2553 และกำหนดวันจองซื้อและรับชำระเงินค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนระหว่างวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2553 ถึงวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2553 โดยการเพิ่มทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 8,157,967,378 บาท จากปัจจุบัน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 6,674,700,582 บาท และหากมีหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายเหลือจากการเสนอขายตามสิทธิ ให้นำหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เหลือดังกล่าวไปจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายที่จองเกินสิทธิตามสัดส่วนการถือหุ้นจนกว่าหุ้นดังกล่าวจะหมด
นายสุภัคยังกล่าวว่า การเพิ่มทุนของธนาคารในครั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการขยายธุรกิจและการเติบโตของธนาคารในอนาคต นอกจากนี้ ทางกลุ่มซีไอเอ็มบี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้แจ้งถึงความพร้อมในการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารตามสัดส่วน ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มซีไอเอ็มบี ที่ต้องการจะสร้างความเติบโตให้กับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ตลอดจนแสดงถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารสามารถพลิกกลับมามีกำไรครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2552 จำนวน 1.7 ล้านบาท หลังจากที่มีผลขาดทุนตลอด 3 ปีก่อนหน้านี้ อีกทั้งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ก็มีกำไรสูงถึง 714 ล้านบาท ดังนั้นจึงเชื่อว่าการขายหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารในครั้งนี้จะได้รับความสนใจจากผู้ถือหุ้นปัจจุบันอย่างแน่นอน