ธุรกิจค้าปลีกช่วงที่เหลือ ปี ‘53: คาดยังคงขยายตัว…แต่ยังมีหลากประเด็นที่ต้องติดตาม

จากภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่มีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงที่เหลือของปี 2553 ให้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 2553 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจค้าปลีกยังคงมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการขายกิจการของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมถึงการขายกิจการของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ คาดว่า จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่เหลือของปี 2553 ให้มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น

ค้าปลีกช่วงครึ่งแรกปี ’53 เผชิญปัญหาทางการเมือง…แต่ภาพรวมยังโตร้อยละ 10.9

ธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เริ่มฟื้นตัว จากที่ในปี 2552 ธุรกิจเกิดการหดตัวอย่างต่อเนื่อง สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีแรกกลับมาฟื้นตัวได้นั้น นอกเหนือจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้วนั้น ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นการขยายตัวของธุรกิจ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อและหันมาใช้จ่ายกันมากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งส่งผลให้เกิดการจ้างงานและการเพิ่มขึ้นของรายได้ นอกจากนี้ การกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างๆ เช่น มหกรรมลดราคาสินค้า การจัดแคมเปญลุ้นรางวัลต่างๆ จึงทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 กลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น

แต่เนื่องด้วยปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกเกิดการสูญเสียรายได้เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่ตั้งอยู่ในบริเวณหรือเส้นทางที่มีการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่กิจการค้าขายของผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงจำกัด รวมถึงการฟื้นตัวของธุรกิจที่พลิกกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีแรกยังคงขยายตัวได้ ถึงแม้จะได้รับผลกระทบบ้างจากเหตุความไม่สงบทางการเมือง โดยจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของดัชนีธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 (ณ ราคาปี 2545) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่อัตราการขยายตัวหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.2

ค้าปลีกช่วงที่เหลือของปี ’53 สัญญาณดี…แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม
สำหรับธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่เหลือของปี 2553 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น ซึ่งนอกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองไม่ยืดเยื้อ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตแล้ว ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก็นับได้ว่าเป็นช่วงฤดูแห่งการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ นอกจากนี้ ยังเป็นอีกช่วงหนึ่งที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ในช่วงนี้ผู้บริโภคจะมีการใช้จ่ายมากเป็นพิเศษ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ประกอบการต่างต้องเร่งทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค

จากที่ได้คาดไว้ว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้บริโภคจะมีการจับจ่ายมากขึ้นในช่วงเทศกาลต่างๆนั้น ทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกทั้งปี 2553 น่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 3-4 (ณ ราคาปี 2545) จากที่หดตัวถึงร้อยละ 4.2 ในปี 2552 ตามการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แนวโน้มของธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2553 ผู้ประกอบการยังคงต้องติดตามประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการดำเนินการของธุรกิจ ซึ่งปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่เหลือของปี 2553 ที่สำคัญ ได้แก่

ปัจจัยหนุน
แนวโน้มปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งหากเศรษฐกิจในประเทศยังคงปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งการส่งออกยังรักษาอัตราการเติบโตเป็นบวกได้อย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อโดยรวมของผู้บริโภคในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 ได้

ช่วงไตรมาสสุดท้าย เป็นช่วงเวลาของเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปี และยังเป็นอีกช่วงหนึ่งที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ผู้บริโภคจะมีการใช้จ่ายมากขึ้นเป็นพิเศษ

หากปัญหาการเมืองมีความสงบเรียบร้อยไปจนถึงสิ้นปี 2553 คาดว่า ผู้บริโภคน่าจะยังมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีความพร้อมทางการเงิน ก็อาจจะตัดสินใจซื้อสินค้ากันอย่างคึกคัก

ประเด็นที่ต้องติดตาม
อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจจะส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่าย หรือค่าครองชีพของผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้น และจะส่งผลให้ผู้บริโภคอาจจะเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ อาจได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถูกลง

การขายกิจการของบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ อาจส่งผลต่อการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กในประเทศ

ติดตามความคืบหน้าของพ.ร.บ. การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการจำกัดการขยายพื้นที่ของธุรกิจค้าปลีก
สถานการณ์ทางการเมือง ที่จะต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก ยังคงมีผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคด้วย

แนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกที่น่าติดตาม
การแข่งขัน หรือรูปแบบของธุรกิจค้าปลีกที่คาดว่าจะได้รับความนิยม หรือทำให้ธุรกิจค้าปลีกยังมีโอกาสในการขยายตัว ได้แก่

เน้นร้านค้าปลีกขนาดเล็กลง เพราะหาก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีผลบังคับใช้ ก็อาจจะส่งผลให้การขยายสาขาขนาดใหญ่ทำได้ยากขึ้น ซึ่งร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้น เช่น ร้านค้าสะดวกซื้อ มินิมาร์ท เป็นต้น
เน้นธุรกิจค้าปลีกเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (Niche Market) ซึ่งธุรกิจค้าปลีกประเภทนี้ ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็ก และขนาดกลาง ในการพัฒนากิจการเพื่อให้มีความทันสมัย ความแปลกใหม่ และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยเป็นการเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าต่างๆเช่าดำเนินการ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มครอบครัวคนรุ่นใหม่ขนาดกลาง-เล็กที่ยังมีกำลังซื้อในย่านชุมชน ซึ่งรูปแบบของธุรกิจที่ได้รับความนิยม เช่น คอมมูนิตี้มอลล์ เป็นต้น

เน้นการขยายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ โดยเฉพาะการขยายธุรกิจไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มีเศรษฐกิจรองลงมา เนื่องจาก บรรดาจังหวัดหรือหัวเมืองใหญ่ๆ ได้มีการขยายตัวไปมากแล้ว ทั้งนี้ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคในต่างจังหวัดที่หันมาคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานของสินค้ามากขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินชิวิตที่เป็นสังคมเมืองมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคต่างต้องการความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย โดยให้ความสำคัญกับทำเลที่ตั้งของสถานที่และความสะดวกสบายในการเดินทางค่อนข้างชัดเจน ควบคู่กับความครบครันของสินค้าและบริการ

แหล่งช้อปราคาถูกกว่าจะได้รับความสนใจค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยยังมีความกังวลต่อรายได้ในอนาคต จึงต้องเน้นการใช้จ่ายอย่างประหยัด และนิยมอยู่บ้านมากขึ้น ด้วยการเลือกซื้อหรือใช้บริการร้านค้าใกล้บ้านมากขึ้น และซื้อสินค้าด้วยความถี่ที่น้อยลง

เพื่อให้ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2553 ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมแผนกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โปรโมชั่นกระตุ้นกำลังซื้อ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และการขาย ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มความถี่มากขึ้น รวมถึงการจัดสถานที่หรือกิจกรรมให้มีความตื่นตาตื่นใจมากกว่าปกติเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ มหกรรมการลดราคา ยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้มาก เนื่องจากผู้บริโภคบางรายยังคงเคยชินกับการจับจ่ายใช้สอยอย่างประหยัด

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และสร้างภูมิคุ้มกันกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจมีความรุนแรง นอกเหนือจากการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแล้ว ผู้ประกอบการควรที่จะบริหารจัดการด้านต้นทุนการจำหน่าย เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายลงถือเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย อันจะช่วยเพิ่มโอกาสหรือทางรอดของธุรกิจภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2553 ผลการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีกน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวที่ดีขึ้น จนทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในปี 2553 นี้ น่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-4 (ณ ราคาปี 2545) เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ซึ่งนอกเหนือจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความมีเสถียรภาพทางด้านการเมืองมากขึ้นแล้ว ในช่วงไตรมาสสุดท้ายนับเป็นช่วงฤดูแห่งการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ นอกจากนี้ ยังเป็นอีกช่วงหนึ่งที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ในช่วงนี้ผู้บริโภคจะมีการใช้จ่ายมากเป็นพิเศษ จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ผู้ประกอบการต่างต้องเร่งทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค

สำหรับการแข่งขัน หรือรูปแบบของธุรกิจค้าปลีกที่คาดว่าจะได้รับความนิยม หรือทำให้ธุรกิจค้าปลีกยังมีโอกาสในการขยายตัว ได้แก่ การเน้นร้านค้าปลีกขนาดเล็ก การเน้นธุรกิจค้าปลีกเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (Niche Market) การเน้นการขยายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคในต่างจังหวัดที่เน้นคุณภาพของสินค้า และความสะดวกสบายมากขึ้น เป็นต้น