ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสรุปภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 และปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อแนวโน้มของธุรกิจกองทุนรวมในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงปี 2554 ดังนี้
ธุรกิจจัดการกองทุนรวมช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553
ธุรกิจจัดการกองทุนรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 เติบโตชะลอลงทั้งในส่วนของจำนวนกองทุนและมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากจำนวนกองทุน พบว่า มีจำนวนกองทุนรวมที่เปิดดำเนินการทั้งหมด 1,394 กอง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 รวม 130 กองหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.49 โดยเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2552 ซึ่งจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.39
หากพิจารณาตามนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมแล้ว พบว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ขยายตัว 103 กอง รองลงมาคือ กองทุนรวมตราสารทุนเพิ่มขึ้น 20 กอง แต่หากพิจารณาตามประเภทของกองทุนรวมพิเศษแล้ว พบว่า กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 66 กอง ขณะที่กองทุนรวมตลาดเงิน มีจำนวนกองลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552
หากพิจารณาตามมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (Net Assets Value: NAV) ของธุรกิจกองทุนรวมในช่วง 9 เดือนแรก พบว่า NAV ของธุรกิจกองทุนรวมเพิ่มขึ้นเพียง 66,358.32 ล้านบาทหรือร้อยละ 3.60 โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2552 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.64 ทั้งนี้ หากพิจารณา NAV ตามนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมแล้ว จะพบว่า NAV ของกองทุนรวมเกือบทุกประเภทขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าปี 2552 โดย NAV ของกองทุนรวมตราสารทุนเพิ่มขึ้น 36,621.15 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.58 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2552 (โดยเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่น้อยกว่าอัตราการเติบโตของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ 29.59% ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการขายคืนหน่วยลงทุนของลูกค้า โดยเฉพาะช่วงที่มีเหตุรุนแรงในประเทศ และการจ่ายเงินปันผลของหลายกองทุน) ขณะที่ เมื่อพิจารณาตามประเภทกองทุนรวมแบบพิเศษแล้ว พบว่า กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นกองทุนที่ NAV ขยายตัวสูงสุด โดยเพิ่มขึ้น 17,386.93 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.34 ส่วน NAV ของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) หดตัวลง 120,760.97 ล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 21.62 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2552 และ NAV ของกองทุนรวมตลาดเงินหดตัวร้อยละ 8.67 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2552
การเติบโตของธุรกิจกองทุนรวมที่ชะลอลง ทั้งในแง่ของจำนวนกองและมูลค่าสินทรัพย์สุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 นั้น เป็นผลมาจากประเด็นต่างๆ ดังนี้
นักลงทุนในประเทศชะลอการลงทุน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก ท่ามกลางปัญหาการเมืองในประเทศและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ของปี และปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ได้กดดันให้นักลงทุนลดการถือครองหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ดังจะเห็นได้จาก มูลค่าขายหน่วยลงทุนสุทธิของกองทุนรวม (Net Cash Flow) ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2553 ที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีแล้วร้อยละ 17.63โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลค่าขายหน่วยลงทุนสุทธิของกองทุนรวมตราสารทุน และกองทุนรวมตราสารผสมที่มีอัตราการหดตัว (%YoY) ที่ค่อนข้างสูง ขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้นำการหดตัวในเชิงปริมาณ
ครึ่งปีแรกบรรยากาศการลงทุนไม่สดใส…ถ่วงกองทุนรวมตราสารทุน การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ของปี อันเป็นผลมาจากบรรยากาศการลงทุนที่ไม่สดใส ได้ส่งผลให้ NAV ของกองทุนรวมตราสารทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดทุนไทยมากขึ้น ได้ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น และช่วยหนุนให้ NAV ของกองทุนรวมตราสารทุนสามารถฟื้นตัวขึ้นได้เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี
กองทุนรวมตราสารหนี้บางส่วน ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ ผ่านการปฏิบัติตามนโยบายการบันทึกราคาตามมูลค่าบัญชี (Mark to Market: MTM) โดยเน้นไปที่กองทุนแบบเปิดที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว (กว่ากองทุนรวมตลาดเงิน) ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากนัก ขณะที่กองทุนรวมตลาดเงินซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่า 80-90% ของพอร์ตกองทุนรวมตราสารหนี้ในภาพรวม1 และกองทุนรวมตราสารหนี้แบบปิดนั้น แทบไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว เพราะอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้
พันธบัตรเกาหลีครบกำหนด เงินทุนไหลกลับ จากข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 2552 – 2553 เงินลงทุนจากประเทศไทยเข้าไปลงทุนพันธบัตรเกาหลีสูงสุดถึง 550,165 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีเงินลงทุนของไทยในพันธบัตรเกาหลีที่ครบกำหนดไถ่ถอนแล้วมากกว่า 145,085.65 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ NAV ของกองทุนรวม FIF ลดลง
ปัจจัยที่อาจมีอิทธิพลต่อธุรกิจกองทุนรวมในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2553 ต่อเนื่องถึงปี 2554
แม้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ธุรกิจกองทุนรวมจะประสบกับภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2554 ยังมีปัจจัยบวกที่สามารถหนุนให้ธุรกิจกองทุนรวมบางประเภทสามารถเติบโตต่อไปได้ ดังนี้
กองทุนรวมตลาดเงินโต…ในฐานะแหล่งพักเงินที่มีศักยภาพ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กองทุนรวมตลาดเงินยังมีแนวโน้มเชิงบวก ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบให้ทิศทางการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ ยังขาดความชัดเจน หรือมีราคาที่ปรับขึ้นไปมากแล้ว จนเผชิญความเสี่ยงต่อการปรับฐานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินยังมีศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุน เนื่องจากมีสภาพคล่องสูงและอัตราผลตอบแทนยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้มีความเหมาะสมจะเป็นแหล่งพักเงิน เพื่อรอการจัดสรรไปสู่การลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เมื่อถึงจังหวะเวลาที่เอื้ออำนวยมากขึ้น
ตลาดทุนโลกผันผวน เงินทุนไหลเข้า…หนุนกองทุนตราสารทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า กองทุนรวมตราสารทุนมีโอกาสขยายตัวได้ โดยมีแรงหนุนจากทิศทางการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์และกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระแสเงินลงทุนมักจะเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงอาจจะมีปัจจัยลบที่ส่งผลทางจิตวิทยาต่อนักลงทุนและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ให้ปรับตัวผันผวนหรือมีโอกาสของการปรับฐาน อาทิ ความเป็นไปได้ที่ทางการในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งทางการไทย อาจจะออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าและมาตรการดูแลตลาดปริวรรตเงินตราในลักษณะที่เข้มงวดหรือรุนแรงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ตลอดจนประเด็นเชิงนโยบายและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ซึ่งท้ายที่สุด อาจมีผลกระทบต่อ NAV หรือการลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี หนุน LTF และ RMF พุ่งช่วงท้ายปี กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มักเป็นที่สนใจของนักลงทุนโดยเฉพาะในช่วงก่อนสิ้นปี เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการลดหย่อนภาษีและกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain Tax) ไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กองทุนรวม LTF และ RTF จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนให้เข้ามาลงทุนในกองทุนรวมได้ในช่วงท้ายปีเหมือนเช่นทุกๆปีที่ผ่าน ซึ่งจะช่วยหนุนมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนในภาพรวมให้ขยายตัวขึ้นในช่วงท้ายปีนี้
สิ้นสุดการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน โอกาสของกองทุนรวม การคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนตามพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากกำลังจะทยอยลดวงเงินฝากคุ้มครองในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ฝากเงินใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในการจัดสรรเงินออม ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผู้ฝากเงินส่วนหนึ่งจะหันมาให้ความสนใจกับทางเลือกในการลงทุนรูปแบบอื่นๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสของ บลจ.ที่จะนำเสนอกองทุนรวมประเภทต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวมซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียง เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น และกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนให้แก่นักลงทุนที่ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงมากนักและสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนที่สม่ำเสมอให้กับนักลงทุน
มาตรการผ่อนคลายเงินทุนไหลออก…หนุนกองทุนรวม FIF ในระยะถัดไป ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะขยายเกณฑ์การอนุญาตให้นักลงทุนสถาบันของไทยซึ่งรวมถึงกองทุนรวม เข้าไปลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่อนุญาตให้ลงทุนได้ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยังเหลือวงเงินมากกว่า 14,506 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กองทุนรวมออกไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ แม้ว่าในภาวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและนักลงทุนยังคงชะลอการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ผนวกกับความผันผวนของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน อาจทำให้การผ่อนคลายวงเงินลงทุนในต่างประเทศดังกล่าว ยังไม่ปรากฏผลเลิศในการกระตุ้นให้มีการออกกองทุนรวม FIF ใหม่มากนัก อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติและความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศกลับคืนมา การขยายวงเงินลงทุนในต่างประเทศน่าจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวให้กับ บลจ.ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
ปัจจัยท้าทายธุรกิจกองทุนรวม
แม้ว่าจะมีมุมมองในเชิงบวกต่อแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจกองทุนรวมในปีข้างหน้า แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินธุรกิจของกองทุนรวมจะยังต้องเผชิญหลายปัจจัยท้าทายในระยะถัดไป ทั้งการเลือกผลิตภัณฑ์กองทุนรวมรูปแบบอื่นๆเพื่อทดแทนกองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีที่ครบกำหนด ต้นทุนการประกันความเสี่ยง (Hedging) ที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และแนวโน้มการทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวม LTF ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
กองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีครบกำหนด ประเด็นท้าทายของ FIF ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีกองทุนพันธบัตรเกาหลีครบกำหนดไถ่ถอนไปแล้วมากกว่า 145,085.65 ล้านบาท โดยยังเหลืออีกกว่า 67,418.85 ล้านบาทที่จะทยอยครบกำหนดในไตรมาสสุดท้ายของปี และมากกว่า 214,973.15 ล้านบาทจะครบกำหนดในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ NAV ของกองทุนรวม FIF รวมถึง NAV ของบลจ.ในภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับกองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีเริ่มมีความน่าสนใจลดลงในมุมมองของนักลงทุน เนื่องจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้เกาหลีเริ่มอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนในประเทศและต้นทุนการบริหารความเสี่ยงของพันธบัตรเกาหลีเพิ่มสูงขึ้น หลังรัฐบาลเกาหลีบังคับใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา ดังนั้น บลจ.ซึ่งจัดการกองทุนรวม FIF อาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์กองทุนรวมรูปแบบใหม่ที่สามารถทำตลาดได้ง่ายและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าซึ่งสนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำพร้อมทั้งให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อทดแทนกองทุนพันธบัตรเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน
เงินบาทแข็ง ต้นทุนประกันความเสี่ยงพุ่ง กระทบผลตอบแทนของ FIF ความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตราอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศนั้น ได้ผลักดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2553 เงินบาทอยู่ที่ระดับ 29.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2552 และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผลตอบแทนสุทธิของกองทุนรวม FIF ปรับลดลง โดยเฉพาะกองทุนใหม่ ที่บลจ.จะนำเสนอแก่นักลงทุนในระยะถัดไป (แม้ว่าต้นทุนค่าประกันความเสี่ยงสุทธิในกรณีที่เกี่ยวข้องกับหลายสกุลเงิน อาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอัตราการแข็งค่าของเงินบาท เมื่อเทียบกับการแข็งค่าของสกุลเงินนั้นๆ) ดังนั้น บลจ. ซึ่งจัดการกองทุน FIF อาจต้องพิจารณาแนวทางเพื่อลดผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น การลดทอนอายุของกองทุนลง หรืออาจเลือกจุดหมายปลายทางของการลงทุนที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
ประเด็นด้านมาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่บุคคลที่ลงทุนในกองทุนรวม LTF จากการที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดจะทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จากเดิมที่จะลดหย่อนถึงปี 2559 เนื่องจากการให้สิทธิพิเศษดังกล่าว ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐที่ต้องการส่งเสริมการออมในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมากกว่า ดังนั้น การปรับลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่อาจเกิดขึ้นในปี 2554 (ซึ่งหมายความว่า การลงทุนในกองทุน LTF ในปี 2553 จะไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้) จะส่งผลให้กองทุนรวม LTF มีความน่าสนใจลดลงในมุมมองของนักลงทุน เนื่องจากสิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษีนั้นค่อนข้างมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมการลงทุนในกองทุนรวม LTF จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับบลจ.ในการหาแนวทางปรับตัว เพื่อรักษาระดับมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (Assets Under Management: AUM) ของกองทุนในภาพรวม
จากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น คงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับ บลจ. ในการคัดสรรผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนที่มีแนวโน้มยอมรับความเสี่ยงได้จำกัดและต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันในการระดมเงินทุนซึ่งเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความผันผวนทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศ