Thammasat Business School จัดสัมมนา ‘การจัดการองค์ความรู้เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ’

Thammasat Business school ฉลองครบรอบ 72 ปี แห่งการสถาปนาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (ส.พ.บ.ธ.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง ‘การจัดการองค์ความรู้เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ’ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่องค์กรต่างๆ ของไทยให้เข้าใจถึงแนวคิดของการจัดการกับองค์ความรู้ในองค์กรอย่างมีแบบแผน เพื่อนำองค์กรมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

เนื่องในโอกาสพิเศษอันเป็นวาระครบปีที่ 72 แห่งการสถาปนาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะฯ ได้เชิญกูรูด้านการจัดการองค์ความรู้และความยั่งยืนทางธุรกิจมาร่วมการสัมมนาด้วยอย่างคับคั่ง นำโดย Professor Ikujiro Nonaka นักวิชาการชั้นแนวหน้าของวงการการศึกษาที่นำเสนอ SECI Model อันโด่งดังและได้รับการอ้างอิงระดับนานาชาติ และ ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) Ms. Lyn Kok, President & CEO Standard Chartered Bank (Thailand) คุณพรเทพ  จรัสศรี Knowledge Management Manager บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ Dr. Edward Rubesch อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้ความรู้ในการจัดการความรู้อย่างรอบด้านแก่ผู้สนใจจากหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมฟังการสัมมนา

เป้าหมายหลักของการสัมมนาครั้งนี้เกี่ยวข้องกับ 2 แนวคิด คือ การจัดการองค์ความรู้ และความยั่งยืนทางธุรกิจ ซึ่งมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการองค์ในปัจจุบัน โดย รศ.ดร. กุลภัทรา สิโรดม คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงหัวข้อการสัมมนาที่กำลังได้รับความสนใจในวงกว้างนี้ว่า “ในสถานการณ์ของโลกที่ได้มุ่งไปสู่การเป็น “เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy)” อย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ความสำคัญของ “ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital)” เป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงและยอมรับมากยิ่งขึ้นทั้งในแวดวงวิชาการและนักบริหารจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ โดยมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า “ทุนทางปัญญา” นั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จที่ยั่งยืนขององค์กรอย่างแท้จริง เนื่องจากทุนประเภทนี้เป็นปัจจัยที่คู่แข่งไม่สามารถทำการลอกเลียนแบบหรือหาซื้อจากแหล่งอื่นๆ ได้ โดยรูปแบบของ “ทุนทางปัญญา” ที่มักจะพบเห็นและเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปก็คือ “ความรู้ (Knowledge)” ที่องค์กรแต่ละแห่งมีอยู่นั่นเอง ดังนั้น จึงไม่เป็นที่แปลกใจ หากจะเห็นองค์กรที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการ “จัดการความรู้” เหล่านั้นประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ไม่ยากนักในยุค “เศรษฐกิจฐานความรู้” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้”

แนวคิดของการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ได้ถูกคิดค้นขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรมีรูปแบบที่ชัดเจนของการสร้างความรู้ที่จำเป็นต่อความสำเร็จ รวบรวมความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ในองค์กรทั้งในตัวบุคคลหรือเอกสาร แล้วนำมาพัฒนาให้เป็นองค์ความรู้ ตลอดจนสร้างกระบวนการที่จะนำไปสู่การถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อให้สมาชิกทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และนำมาพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ ใช้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั่นเอง ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มแนวคิดดังกล่าวและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็คือ Professor Ikujiro Nonaka ได้นำเสนอ SECI Model ซึ่งเป็นผลงานที่โด่งดังและได้รับการอ้างอิงในงานวิชาการระดับนานาชาติหลายชิ้น ตลอดจนได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเภทธุรกิจ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน

ในส่วนของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability Development) นั้น เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นสู่การสร้างรากฐานของสังคม/องค์กรให้เกิดความเข้มแข็ง โดยอาศัยหลักคิดที่ครบวงจร เริ่มตั้งแต่การศึกษาสาเหตุของปัญหา คิดค้นวิธีการแก้ไขที่ตรงจุด กำหนดแผนการทำงานที่บูรณาการ ซึ่งนำไปสู่การทำงานร่วมกันจากฝ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยกระบวนการดังกล่าวจะนำไปสู่ “การเข้าใจ การเข้าถึง และการพัฒนาที่ยั่งยืน” อย่างแท้จริง จากบริบทดังกล่าว องค์กรจึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายการทำงานที่จะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กัน ในปัจจุบันนี้องค์กร ชั้นนำหลายแห่งได้มีการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ชัดเจน และได้มีการกำหนดแผนงานด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม

“สิ่งที่ปรากฎชัดเจนก็คือ แนวคิดทั้ง 2 นั้นสนับสนุนกันและกัน โดยการจัดการความรู้นั้นมุ่งเน้นด้านการพัฒนาองค์กรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งระบบ และท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง หลังจากนั้น ภาคส่วนและส่วนงานที่ประสบความสำเร็จแล้วก็จะได้ถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ไปสู่ภาคส่วนและส่วนงานอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการความรู้นั่นเอง”

ด้าน รศ.กิตติ สิริพัลลภ   ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์   คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้กล่าวถึงประโยชน์และความสำคัญของการจัดการความรู้ ซึ่งส่งผลสนับสนุนกันและกันกับความยั่งยืนขององค์กรไว้ในที่นี้ว่า “เนื่องจากแรงผลักทั้งจากภายในองค์กรและจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีการแข่งขันสูง ส่งผลให้การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องคำนึงถึงเรื่องการอยู่อย่างยั่งยืน และเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ ก็คือ การจัดการองค์ความรู้ โดยกระบวนการจัดการความรู้นั้นจะรวบรวมเอาความรู้ทั้งหมดที่มีการนำมาใช้ในองค์กรมาจัดระบบ ซึ่งความรู้นั้นหมายถึงความรู้ความสามารถ หรือแม้แต่พรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวคน และความรู้ที่อยู่ในระบบขององค์กร หากแต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดการที่จะทำให้สามารถเอาความรู้ที่มีอยู่เหล่านั้นไปสอนคนอื่นให้รู้ได้ เพราะฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การจัดการองค์ความรู้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการ เทคโนโลยี และการวางระบบการจัดการ เพื่อที่จะดึงเอาความรู้ที่มีอยู่มาใช้ และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร”

รศ. กิตติ สิริพัลลภ ยังได้กล่าวถึงการสัมมนาในครั้งนี้อีกด้วยว่า “การสัมมนาในวันนี้มีตัวอย่างขององค์กรทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่มาแสดงให้เห็นว่าองค์กรทั้งสองแบบที่มีทั้งระบบและรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างกันจะสามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไรภายใต้แนวทางการจัดการองค์ความรู้ เพราะการจัดการความรู้มีความสำคัญต่อทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐซึ่งด้วยระบบแล้วไม่เอื้อให้มีการถ่ายทอดความรู้ ทั้งที่ความจริงมีคนของส่วนราชการที่มีความสามารถอยู่มากมาย แต่กลับไม่สามารถดึงเอาองค์ความรู้ในตัวบุคคลเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันการจัดการความรู้ในองค์กรภาคเอกชนก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรก้าวเป็นเบอร์หนึ่งในการทำธุรกิจ โดยการสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยให้ท่านสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ในองค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้โดยไม่ต้องลงทุนแสวงหาความรู้อื่น เพราะเป็นการดึงเอาความรู้ที่ถือว่าเป็นทรัพย์ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์”

ในมุมมองทางการศึกษา Dr. Edward Rubesch ผู้อำนวยการหลักสูตร IMBA และอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้แสดงทัศนะในเรื่องความสำคัญของการจัดการความรู้ไว้ว่า “ด้วยความเชื่อและ ธรรมเนียมในการศึกษาแบบเดิม ทำให้ผู้เรียนเป็นเพียงผู้รับ ‘ข้อมูล’ จากอาจารย์ผู้สอน แต่ในสภาพแวดล้อมที่โลกกำลังหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว สิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้จากในห้องอาจไม่เกิดประโยชน์เมื่อเวลาผ่านไป อาจกล่าวได้ว่าอนาคตของการศึกษาซึ่งในความเป็นจริงก็คืออนาคตในทางธุรกิจ คือการสร้างบุคลากรที่ใฝ่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหลักสูตร MBA ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่เพียงถ่ายทอดข้อมูลและทักษะให้กับนักศึกษา แต่มุ่งสอนให้พวกเขารู้จักเรียนรู้ด้วยตัวเอง และด้วยเหตุนี้หลักสูตรการเรียนการสอนของ MBA จึงมุ่งเน้นกิจกรรมและการปฏิบัติภาคสนาม เพื่อให้นักศึกษาได้ออกไปเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง สิ่งที่พวกเขาจะได้รับแน่นอนคือข้อมูล แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือพวกเขาได้เรียนรู้กระบวนการซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอีกหลากหลายสถานการณ์ ในอนาคต รวมไปถึงการแก้ปัญหาในทางธุรกิจเพื่อนำองค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน”

ประโยชน์ของการจัดการองค์ความรู้ที่ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในการทำธุรกิจในปัจจุบัน Thammasat Business School จึงย้ำความจำเป็นขององค์ความรู้ที่ได้นำมาเผยแพร่ในวันนี้ สู่หน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้องค์กรของไทยมีการเจริญเติบโตและมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นแรงผลักดันให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมอุดมปัญญา