นันยางผุดไอเดียช้างดาว “เหลืองแดง-ไวท์พิ้งค์” รุ่น COVID Edition แก่ชาว “จุฬา-ธรรมศาสตร์”

เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่สร้างสีสันการตลาดในช่วง COVID-19 ได้ดีไม่น้อย นันยางผุดไอเดียใหม่ช่วงวิกฤตนี้ โดยการดีไซน์รองเท้าแตะช้างดาวรุ่น COVID Edition เหลืองแดง และไวท์พิ้งค์ สำหรับชาวจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ภายในกลุ่มตลาดนัดของทั้ง 2 สถาบัน

ช้างดาวรุ่นฝ่าโควิด!

หลงัจากที่ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บนโลกโซเชียลร้อนแรงไปด้วยตลาดนัดของชาวมหาวิทยาลัย ที่ต่างสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นพื้นที่ให้กับศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันได้ฝากร้าน ฝากธุรกิจของตัวเอง กลายเป็นการ Reunion พบปะรุ่นพี่รุ่นน้องแบบย่อยๆ ได้อัพเดตชีวิตว่าใครทำธุรกิจอะไรอยู่บ้าง

2 กลุ่มที่เป็นกระแสมากทุ่สดคงหนีไม่พ้นกลุ่ม “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธรรมศาสตร์ ที่รวบรวมศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันที่มีชื่อเสียง รวมถึงเจ้าของ หรือทายาทแบรนด์ดังๆ มากมาย

หนึ่งในนั้นได้มีผู้บริหารของ “นันยาง” ที่ไม่ใช่แค่ฝากร้าน ฝากแบรนด์นันยางแค่อย่างเดียว แต่ยังผุดโปรเจกต์ใหม่สำหรับชาวมหาลัยทั้ง 2 ด้วย เป็นรองเท้าแตะช้างดาวรุ่น COVID Edition ช้างดาวเหลืองแดงสำหรับชาวธรรมศาสตร์ และชางดาวไวท์พิ้งค์สำหรับชาวจุฬาฯ

โดยที่ “จั๊ก-จักรพล จันทวิมล” ทายาทรุ่นที่ 3 ของนันยาง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กลุ่ม ง.งู รหัส 46 ม.ธรรมศาสตร์ และกำลังศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยี และการจัดการนวัตกรรม หรือ CUTIP รุ่น 12 จึงได้ออกแบบช้างดาว 2 สถาบัน

เปิดพรีออเดอร์ ใช้เวลาทำ 90 วัน

รายละเอียดของช้างดาวทั้ง 2 รุ่นนี้ ได้แก่

– จะผลิตตามจำนวนที่สั่งซื้อเท่านั้น (Made to order)
– สามารถสั่งซื้อได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 เม.ย. 63 (Lazada และ Shopee)
– กำหนดส่งสินค้า ประมาณเดือน สิงหาคม 63 ใช้เวลาทำ 90 วัน
– ราคาคู่ละ 199 บาท (ส่งฟรี)
– มีไซส์พิเศษ 8.5 (22cm) และ 11.5 (29cm)

จักรพลได้เปิดเผยในส่วนหนึ่งของโพสต์ในกลุ่มจุฬาว่า “เมื่อสัปดาห์ก่อนผมจึงได้ขออนุญาตฝากร้านรองเท้านันยางบ้าง ได้รับ feedback อย่างเหลือเชื่อ จนทำให้นอนไม่หลับ หารือกับทีมงาน ปรึกษาเพื่อนๆ CUTIP จนมาถึงโพสต์นี้ กราบขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.ธาตรี ใต้ฟ้าพูล คณะนิเทศศาสตร์ และ รองผู้อำนวยการหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม และขอบคุณเพื่อนๆ CUTIP และชาวจุฬาฯ ทุกคนที่แอบช่วยกันออกแบบ และให้ความเห็นก่อนเปิดตัววันนี้”

ได้ทิ้งท้ายว่า กำไรจากการจำหน่ายรองเท้าช้างดาวรุ่นนี้จะขอมอบให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในนามของพวกเราทุกคน

ทำหรับรองเท้าทั้ง 2 รุ่นนี้ ใช้เวลาในการทำ 90 วัน เนื่องจากเป็นสินค้า Made to order จึงต้องแทรกการผลิตสินค้าปกติ โดยมีกำหนดการดังนี้

  • 30 เม.ย. ปิดรับออเดอร์
  • 1 – 10 พ.ค. รวบรวมสรุปและสั่งผลิตสินค้า
  • 11 พ.ค. (วันแรกพบ) เริ่มกระบวนการผลิตสินค้า
  • 20 มิ.ย. (น่าจะ) ผลิตรองเท้าเสร็จ
  • 20 มิ.ย. – 20 ก.ค. ทิ้งระยะเวลาหดตัวของยางพารา 30 วัน (เป็นกระบวนการสำคัญของรองเท้าช้างดาว)
  • 25 ก.ค. สินค้าพร้อมจัดส่ง

กรณีศึกษา แบรนด์ไม่หยุดพัฒนา

สำหรับนันยางเป็นแบรนด์เก่าแก่ ที่มีตำนานสำหรับรองเท้านักเรียนมายาวนาน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ได้มีการปรับตัว และพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ในแต่ละครั้งสามารถเรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าผ้าใบผู้หญิง, รองเท้า NanyangRED สำหรับแฟนลิเวอร์พูล, รองเท้า KYHA จากขยะทางทะเล สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของแบรนด์อย่างต่อเนื่อง

เพราะด้วยตัวสินค้ารองเท้านักเรียนมีช่วงเวลาการขายที่จำกัด อีกทั้งเมื่อเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ปกครองต่างไม่มีรายได้ในการซื้อรองเท้า รวมถึงอัตราการเกิดของเด็กไทยน้อยลง ทำให้จำนวนนักรเียนก็น้อยลงด้วย

การที่นันยางแตกไลน์ไปยังกลุ่มรองเท้าอื่นๆ สามารถสร้างสีสันให้ตลาด แต่ยังไม่ทิ้งจุดแข็งของแบรนด์คือรองเท้า ยิ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้น