ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง (เบื้องต้น) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 เทียบกับสิ้นเดือนก่อนหน้า และสิ้นปี 2552 พร้อมประเมินแนวโน้มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป ดังนี้
เดือน ธ.ค. 53 : สินเชื่อเพิ่มขึ้นในระดับสูงกว่าเงินฝาก
สินเชื่อเพิ่มด้วยขนาดที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินฝาก โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 ยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย มีจำนวน 6.50 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2.38 แสนล้านบาท จาก 6.27 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 (จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในทุกกลุ่มธนาคาร1 นำโดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่) โดยการขยายตัวของสินเชื่อในระดับสูง เป็นผลมาจากความต้องการสินเชื่อเพื่อการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีและปีใหม่ และการเร่งขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายทั้งปีที่วางไว้ ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงมีแรงส่งของการขยายตัวต่อเนื่อง
ด้านยอดเงินฝาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 มีจำนวน 6.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.76 แสนล้านบาท จาก 6.65 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 (ตามการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในทุกกลุ่มธนาคาร นำโดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่) และเงินกู้ยืม เพิ่มขึ้นเช่นกัน 2.27 หมื่นล้านบาท จาก 9.75 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน มาที่ 9.98 แสนล้านบาท โดยเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการในช่วงต้นเดือนธันวาคม รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากและตั๋วแลกเงินที่จูงใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้าและรับมือกับสภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นจากทางเลือกการออมอื่นๆ ที่เน้นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับลูกค้าในช่วงท้ายปี
สินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทยตามความหมายกว้าง2 (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์) ลดลงจากเดือนก่อน โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.20 ล้านล้านบาท ลดลงจำนวน 1.14 หมื่นล้านบาท จาก 2.21 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 อันเป็นผลจากการลดลงในองค์ประกอบอย่างเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ และเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ขณะที่เงินสดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งนี้ การลดลงของสภาพคล่องดังกล่าว สะท้อนการลดลงของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดกลางมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
สินเชื่อเพิ่มมากกว่าเงินฝาก แต่สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ยืม สำหรับภาพรวมของสินเชื่อปี 2553 นั้น เงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) เพิ่มขึ้น 7.22 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตสูงถึงร้อยละ 12.50 จาก ณ สิ้นปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆในแต่ละช่วงเวลา อาทิ ความไม่สงบทางการเมือง ผลกระทบจากอุทกภัย ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจคู่ค้า และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน จะส่งผลกระทบต่อการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อในบางภาคธุรกิจบ้างก็ตาม ขณะที่เงินฝากปี 2553 เพิ่มขึ้น 3.26 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 5.02 จาก ณ สิ้นปี 2552 ส่วนเงินกู้ยืม เพิ่มขึ้น 2.89 แสนล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2552 อันเป็นผลจากการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากและตั๋วแลกเงินที่แข่งขันได้อย่างต่อเนื่องของธนาคารพาณิชย์ เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจและรักษาฐานลูกค้าของธนาคาร รวมทั้งเป็นไปตามวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของระบบการเงินไทย
สภาพคล่องตามความหมายกว้างเพิ่มขึ้น โดยปี 2553 สภาพคล่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น 7.64 หมื่นล้านบาท จากระดับ 2.12 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2552
สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือน ม.ค. 54 : สินเชื่อน่าจะเพิ่มขึ้น ในอัตราที่ชะลอลง จากเดือนก่อน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของเงินฝาก อาจช่วยหนุนสภาพคล่องให้ทรงตัว
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เดือนแรกของปี 2554 สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจจะไม่ได้ลดลงมากหรือมีโอกาสขยับสูงขึ้นได้เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 โดยความต้องการสินเชื่อในเดือน ม.ค. 54 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง (แม้ด้วยอัตราที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อน) ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตได้ดี และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มในเชิงบวกมากขึ้น ประกอบกับความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน หลังต้นทุนการผลิตต่างๆ เร่งตัวสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน เงินฝากอาจเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ปรับขึ้นครั้งแรกในรอบกว่า 16 ปีครึ่ง หลังทางการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางเดือน ม.ค. นอกจากนั้น ธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มที่จะเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมที่จูงใจและแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้าและรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต ในขณะที่ การโยกเงินฝากไปยังทางเลือกอื่นๆ ที่มุ่งเน้นสิทธิประโยชน์ทางภาษีในช่วงสิ้นปี น่าจะชะลอลงเมื่อเข้าสู่ช่วงต้นปี ทั้งนี้ จากภาพดังกล่าว ทำให้คาดว่า สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงเดือนแรกของปี 2554 อาจมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับในปัจจุบัน
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ไทย น่าจะยังอยู่ในจังหวะขาขึ้น (แม้สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงต่อเนื่องในปี 2554) สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกคาดหมายว่าอาจปรับขึ้นอีกประมาณ 0.5% เป็นอย่างน้อยภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 นี้ อย่างไรก็ดี ขนาด จังหวะเวลา และความต่อเนื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจน การนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมที่หลากหลายและตอบโจทย์ลูกค้า นอกจากจะขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว คงจะขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสินเชื่อในระยะข้างหน้า รวมไปถึงกลยุทธ์การแข่งขันทั้งในตลาดสินเชื่อและเงินฝากของแต่ละธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน