เทเลนอร์ กรุ๊ป ประกาศในงาน GSMA World Congress 2011 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองบาร์เซโลน่า ว่ายอดผู้ใช้บริการ ในเอเชียล่าสุด มีจำนวนสูงกว่า 100 ล้านคนแล้ว ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งของเทเลนอร์ กรุ๊ป ในการประกอบกิจการในภูมิภาคเอเชีย
“ด้วยจำนวนลูกค้ากว่า 100 ล้านรายที่เรามีอยู่ในตอนนี้ เทเลนอร์ กรุ๊ป จะยังคงเดินหน้ารักษาตำแหน่งผู้ให้บริการชั้นนำในเอเชียต่อไป ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง การให้ความสำคัญกับลูกค้า และความเชื่อที่ว่าบริการสื่อสารเคลื่อนที่ผ่านโทรศัพท์มือถือ คือเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนจำนวนมากในภูมิภาคนี้” มร. ซิคเว่ เบรกเก้ รองประธานบริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ เอเชียกล่าว
เทเลนอร์ กรุ๊ป เข้ามาในภูมิภาคเอเชียในปี พ.ศ. 2539 และกลายเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ชั้นนำในภูมิภาคตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ณ สิ้นปี พ.ศ. 2553 รายได้จากภูมิภาคเอเชีย คิดเป็นร้อยละ 39 ของรายได้ทั้งหมดของเทเลนอร์ กรุ๊ป สร้างกระแสเงินสดสูงกว่า 10 พันล้านโครนนอร์เวย์ (ประมาณกว่า 52 พันล้านบาท) และเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ทั้งสิ้น กว่า 23 ล้านคน
ปัจจุบัน เทเลนอร์ กรุ๊ป ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ใน 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยให้บริการในนาม แกรมีนโฟน (บังคลาเทศ) ยูนินอร์ (อินเดีย) ดีแทค (ไทย) ดิจิ (มาเลเซีย) และเทเลนอร์(ปากีสถาน)
นับเป็นระยะเวลาเกือบ 15 ปีแล้วที่เทเลนอร์เป็นผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านการให้บริการและสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในภูมิภาคเอเชีย ความโดดเด่นในเรื่องการออกแบบบริการสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม และระบบการบริหารช่องทางการจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ ได้สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับบริษัทอย่างมาก และช่วยให้ผู้คนหลายล้านคนมีโอกาสเข้าถึงบริการสื่อสารไร้สาย และด้วยแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ทำให้เทเลนอร์ติดอันดับผู้ให้บริการชั้นนำในประเทศที่เข้าไปดำเนินกิจการในเอเชีย
“ในฐานะผู้ให้บริการด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีพื้นฐานทางด้านอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง เทเลนอร์ กรุ๊ป มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการดำเนินงานของเราอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เริ่มเข้ามาในตลาดเอเชีย เรามีการลงทุนไปแล้วจำนวนมาก ทั้งยังได้จัดตั้งทีมงานที่มีศักยภาพด้านการบริหารจัดการ และเชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรม” มร. ซิคเว่ เบรกเก้ กล่าวเพิ่มเติม
“ตลาดยังมีความต้องการใช้บริการพื้นฐานอยู่สูง โดยเฉพาะในประเทศที่อัตราการใช้งานยังค่อนข้างต่ำ แต่ บริการที่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในเอเชีย คือบริการทางด้านข้อมูลและบริการอินเทอร์เน็ต และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าบริการทางด้านอินเทอร์เน็ตจะได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว รัฐบาลในแต่ละประเทศควรกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง” มร. ซิคเว่ เบรกเก้ กล่าวสรุป