ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ที่สื่อได้อย่างถูกต้องชัดเจน

แคมเปญ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์” ยังเป็นแคมเปญที่ใช้แข่งขันในตลาดต่างประเทศได้อยู่หรือไม่ เดวิด คีน (Mr David Keen) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทคีน (Keen) ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ระดับโลกที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพ ได้แสดงความคิดเห็นว่าแคมเปญ อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 นั้นควรได้รับการเปลี่ยนแปลง

ในการประชุมสามัญประจำปีของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณเดวิด คีน ได้ยกตัวอย่างถึงแคมเปญการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง เช่น “Inspired by Iceland,” “Incredible India,” “100% Pure New Zealand,” “I Love NY,” “Egypt – Where It All Begins,” and Queensland’s “Island Caretaker — Best Job in the World” โดยแคมเปญเหล่านี้ถือเป็นตัวอย่างแคมเปญการสร้างแบรนด์ได้อย่างยอดเยี่ยม

“แคมเปญอะเมซิ่ง ไทยแลนด์นั้นไม่โดดเด่นและล้าสมัยไปแล้ว เมื่อเทียบกับแบรนด์ของประเทศจุดหมายปลายทางอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” คุณเดวิด คีนกล่าว

คุณเดวิด ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “แคมเปญอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ไม่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงอนาคตของประเทศไทยได้ ซ้ำยังทำให้มูลค่าในตลาดการท่องเที่ยวลดต่ำลงอีกด้วย และทุกวันนี้นักท่องเที่ยวในตลาดต่างประเทศมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับคำว่า อะเมซิ่ง”

คุณเดวิดได้กล่าวในการประชุมของพาต้าว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทาย “การสร้างแบรนด์ของประเทศไทยควรเริ่มสร้างจากภายในประเทศ โดยการระดมความคิดและความสนใจของคนไทยทุกคนที่พร้อมร่วมมือกันด้วยหัวใจ”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทคีนได้กล่าวในที่ประชุมเพิ่มเติมด้วยว่า “ถือเป็นหน้าที่ของเราที่จะให้ความหมายที่แท้จริงของความเป็นไทย เราไม่ควรปล่อยให้คนอื่นมองประเทศของเรา คนของเรา และค่านิยมของเราในทางที่ผิด”

ประธานสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค คุณ เบิร์ท แวนวัลบีค (Mr Bert van Walbeek) ได้แสดงความคิดเห็นต่อว่า “การสร้างแบรนด์ที่เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญของความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ประเทศไทยควรมีภาพลักษณ์ในเชิงบวกในจิตใจของนักท่องเที่ยว เราจึงไม่ควรยึดติดกับสิ่งเดิมๆ เพียงเพราะมันเคยประสบความสำเร็จมาก่อน”แ

คุณเดวิดได้กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า แบรนด์หรือภาพลักษณ์ที่ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องเกิดจากการผสมผสานของจิตวิญญาณ และความมุ่งมั่นของผู้คนในประเทศ รวมทั้งแง่มุมต่างๆ ที่สำคัญของประเทศ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ความมีเสน่ห์ ประวัติศาสตร์ ดนตรี ภาษา และวัฒนธรรม “ในการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ เราควรพิจารณาจากจุดแข็งต่างๆที่เรามี เป้าหมาย ก็คือเข้าการเข้าไปให้ถึงแก่นและนำเสนอสิ่งนั้นออกมาให้เห็นอย่างแท้จริง”

นอกจากนี้ คุณเดวิดยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงประเทศไทยที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีว่า “เมื่อคุณภาพของแบรนด์ต่ำลง คุณภาพของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศก็จะลดลงด้วย นี่เป็นความรับผิดชอบของประเทศไทยที่จะต้องกอบกู้และรักษาภาพลักษณ์เอาไว้ มิฉะนั้นประเทศไทยจะติดอยู่ในวังวนที่ดำดิ่งลงเรื่อยๆ”