แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น : กระทบตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศของไทย…โตช้าลง

ตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศของไทยที่ขยายตัวในอัตราสูงติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2552 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปในปี 2554 ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและวิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ทำให้ชะลอการเติบโตลง โดยการเดินทางไปญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่ชะงักลงหลังเกิดเหตุการณ์ เพราะต่างรอดูสถานการณ์เพื่อให้มั่นใจด้านความปลอดภัยจากอาฟเตอร์ช็อกและการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี รวมทั้งความพร้อมในด้านการจราจรขนส่งและสาธารณูปโภคต่างๆ

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า การเดินทางไปญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวคนไทยในปี 2554 จะมีแนวโน้มต่ำกว่า ที่คาดการณ์ไว้เดิมในช่วงก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นว่า จะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นประมาณ 300,000 คน และคาดว่าจะมีการใช้จ่ายในญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นต่อตลาดทัวร์ญี่ปุ่นของไทยออกเป็น 2 กรณี (เปรียบเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ฯ) ดังนี้

กรณีที่ 1 รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถควบคุมสถานการณ์ และเร่งดำเนินการบูรณะฟื้นฟูประเทศไปได้อย่างรวดเร็วส่งผลให้ตลาดทัวร์ญี่ปุ่นของไทยสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554

กรณีที่ 2 การควบคุมสถานการณ์และการบูรณะฟื้นฟูประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้ตลาดทัวร์ญี่ปุ่นของไทยถดถอยลงต่อเนื่องมาจนถึงสิ้นปี 2554

ญี่ปุ่น….หนึ่งในปลายทางท่องเที่ยวยอดฮิตของคนไทย

ในช่วง 2-3 ปีมานี้รัฐบาลญี่ปุ่นหันมาส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อดึงรายได้เข้าประเทศ เมื่อผนวกเข้ากับความหลากหลายของรายการนำเที่ยวญี่ปุ่น และความมีเสน่ห์ของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมในอันดับต้นๆแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว และตลาดกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว สำหรับฤดูกาลที่คนไทยนิยมเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมาก คือ ช่วงซากุระบาน (ปลายเดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายน) โดยมีคนไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงดังกล่าวประมาณเกือบร้อยละ 30 ของจำนวนคนไทยทั้งหมดที่เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นในแต่ละปี

ตลาดทัวร์ญี่ปุ่นของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา จากที่มีจำนวนคนไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น 223,217 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เป็นประมาณ 260,000 คนในปี 2553 สำหรับในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นว่า จะมีคนไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้นประมาณ 300,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากปีก่อนหน้า และมีการใช้จ่ายในญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 จากปีก่อนหน้า

ผลกระทบตลาดทัวร์ญี่ปุ่น : คาดปี’54 คนไทยเที่ยวญี่ปุ่นลดลง 1-1.5 แสนคน

ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิของญี่ปุ่นมียอดผู้เสียชีวิตและสูญหายที่ได้รับการยืนยันล่าสุด ( ณ 23 มี.ค.54) มีจำนวนเกินกว่า 25,000 คน และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประเมินมูลค่าความเสียหาย ซึ่งครอบคลุมถนน อาคารบ้านเรือน โรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ (โดยไม่รวมความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการดับไฟฟ้า หรือวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) อยู่ที่ประมาณ 197,000-308,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่ามูลค่าความเสียหายโดยรวมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่โกเบเมื่อปี 2538 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวตามมาอีกหลายครั้ง และมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งพบในน้ำนมดิบและผักหลายชนิดที่ปลูกอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้า เหล่านี้ล้วนบั่นทอนความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวคนไทย และกระทบต่อตลาดทัวร์ญี่ปุ่นของไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและวิกฤตนิวเคลียร์ต่อตลาดทัวร์ญี่ปุ่นของไทยออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 ตลาดทัวร์ญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 : คาดคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นลดลง 1 แสนคน และใช้จ่ายในญี่ปุ่นลดลง 5,000 ล้านบาท

ตลาดทัวร์ญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะงักไปในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่ต่างรอดูสถานการณ์ให้คลี่คลายลงสู่ภาวะปกติก่อน ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 40.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าตลาดทัวร์ญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอการถดถอยลงในช่วงไตรมาสที่ 3 และเริ่มฟื้นตัวกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้คาดว่าในปี 2554 จะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้นประมาณ 200,000 คน ลดลงร้อยละ 23.1 จากปีก่อนหน้า และมีการใช้จ่ายในญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 31.4 จากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้เดิมก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปญี่ปุ่นจำนวน 300,000 คน และใช้จ่ายในญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท) พบว่า มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังญี่ปุ่นลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมประมาณ 1 แสนคน และมีการใช้จ่ายในญี่ปุ่นลดลงประมาณ 5,000 ล้านบาท

กรณีที่ 2 ตลาดทัวร์ญี่ปุ่นถดถอยลงจนถึงสิ้นปี 2554 : คาดคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นลดลง 1.5 แสนคน และใช้จ่ายในญี่ปุ่นลดลง 7,000 ล้านบาท

ตลาดทัวร์ญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะงักไปหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและวิกฤตนิวเคลียร์ ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 51.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 คาดว่าตลาดทัวร์ญี่ปุ่นยังคงถดถอยลงอย่างรุนแรงต่อเนื่องจากช่วงกลางปีมาในช่วงไตรมาสที่ 3 และเริ่มชะลอการถดถอยลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 31.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้คาดว่าในปี 2554 จะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้นประมาณ 150,000 คน ลดลงร้อยละ 42.3 จากปีก่อนหน้า และมีการใช้จ่ายในญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 51.0 จากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้เดิมก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังญี่ปุ่นจำนวน 300,000 คน และใช้จ่ายในญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท) พบว่า มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังญี่ปุ่นลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมประมาณ 1.5 แสนคน และมีการใช้จ่ายในญี่ปุ่นลดลงประมาณ 7,000 ล้านบาท

บรรยากาศทัวร์ต่างประเทศไม่เอื้อ : คาดตลาดทัวร์นอกปี’54 ชะลอการเติบโต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ไม่เฉพาะการเดินทางไปยังญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวคนไทยที่ลดลงหลังเกิดภัยพิบัติครั้งร้ายแรงในญี่ปุ่น แต่คาดว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวและวิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นจะซ้ำเติมบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งถูกบั่นทอนจากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ทั่วโลก และสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศแถบตะวันออกกลาง รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง

ทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยจำนวนไม่น้อยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังญี่ปุ่นและประเทศอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงญี่ปุ่น รวมทั้งบรรดาประเทศที่ประสบภัยธรรมชาติ และเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่เปลี่ยนแผนการเดินทางไปยังประเทศในโซนอื่นที่ปลอดภัยกว่าแทนแต่ก็คงมีจำนวนไม่มากนัก

จากปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางไปต่างประเทศไม่เฉพาะญี่ปุ่น และค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่มีแนวโน้มสูงขึ้นดังกล่าว ส่งผลบั่นทอนตลาดทัวร์ต่างประเทศของไทยโดยรวมในปี 2554 ทำให้มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าในอัตราต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (ในปี 2554 จะมีคนไทยเดินทางไปต่างประเทศประมาณ 6.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 จากปีก่อนหน้า และมีการใช้จ่ายในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 130,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 จากปีก่อนหน้า)

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 ตลาดเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของไทยจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.7-8.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปต่างประเทศประมาณ 5.55-5.80 ล้านคน และมีการใช้จ่ายในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 117,000-123,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7-7.0 จากปีก่อนหน้า

สรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและวิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นต่อตลาดทัวร์ญี่ปุ่นของไทย ว่า มีแนวโน้มทำให้ตลาดทัวร์ญี่ปุ่นของไทยถดถอยลง โดยมีจำนวนคนไทยเดินทางไปญี่ปุ่นลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าประมาณ 100,000-150,000 คน และใช้จ่ายในญี่ปุ่นลดลงประมาณ 5-7 พันล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นกับระยะเวลาที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้ในการควบคุมสถานการณ์ให้คลี่คลายลงได้ และเร่งฟื้นฟูบูรณะประเทศให้กลับคืนสู่สภาพปกติ ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่น กลับคืนมาในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งรวมทั้งนักท่องเที่ยวคนไทย และต่างเริ่มทยอยกลับไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นตามปกติ

อย่างไรก็ตาม นอกจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและวิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นแล้ว ยังมีปัจจัยลบอื่นที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวต่างประเทศของไทย และบั่นทอนการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศของไทยในปี 2554 ทำให้มีแนวโน้มเติบโตในอัตราช้าลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมก่อนหน้า คือ จากอัตราร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นประมาณร้อยละ 3.7-8.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ดังนั้น แนวโน้มชะลอการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศโดยรวมของไทยในปี 2554 มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศ (ซึ่งมีเพียงไม่กี่รายที่เน้นตลาดเฉพาะประเทศ ส่วนใหญ่จะกระจายการท่องเที่ยวไปในหลายประเทศ) ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับกลยุทธ์การตลาด จัดรายการนำเที่ยวต่างประเทศในเส้นทางที่น่าสนใจและปลอดภัย รองรับความต้องการของตลาดกลุ่มครอบครัวที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงปิดเทอม รวมทั้งขยายตลาดท่องเที่ยวในประเทศด้วยรายการนำเที่ยวเส้นทางใหม่ๆพร้อมกิจกรรมต่างๆที่น่าสนใจ เพื่อสร้างรายได้ทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปจากตลาดทัวร์ญี่ปุ่นที่ชะงักไปในช่วงนี้