บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ปี 2554 รายได้เติบโตเพิ่มขึ้น โดยบริการบรอดแบนด์จากทรูออนไลน์เติบโต สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่รายได้กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สายเพิ่มสูงขึ้น จากการรวมผลการดำเนินงานของฮัทช์ และรายได้ของทรูมูฟเติบโตขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลประกอบการโดยรวมของทรูวิชั่นส์อยู่ในระดับคงที่
ในไตรมาส 2 ปี 2554 กลุ่มทรูมีรายได้จากการให้บริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) 14.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่จากการรวมผลการดำเนินงานของฮัทช์ การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้จากบริการบรอดแบนด์ และบริการที่ไม่ใช่เสียงสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้ กลุ่มทรูมีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA 4.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 จากไตรมาสเดียวกันปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลประกอบการของ ทรูออนไลน์และทรูมูฟปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รายได้จากการให้บริการและ EBITDA อ่อนตัวลง ส่วนใหญ่จากผลของฤดูกาล ที่กระทบต่อธุรกิจทรูมูฟ
ผลการดำเนินงานปกติ (NIOGO) ไม่รวมภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ปรับลดลงเป็นขาดทุน 187 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจฮัทช์ โดยในไตรมาสนี้ ทรูรายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 1.25 พันล้านบาท ส่วนใหญ่จากผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากการแปลงค่าหนี้สินต่างประเทศเป็นเงินไทย (Mark to Market) ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันสิ้นงวด
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา จำนวนครัวเรือนที่ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มทรู ตั้งแต่ 2 บริการขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า เป็น 2.5 ล้านครัวเรือน
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “รายได้ของกลุ่มทรู ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจาก การรวมผลประกอบการของฮัทช์ รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของบริการบรอดแบนด์ และการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของบริการที่ไม่ใช่เสียงจากยอดขายเครื่องและแพ็กเกจ สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การลงทุนในฮัทช์ เพื่อให้บริการ 3G+ เชิงพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์ “ทรูมูฟ เอช” ในฐานะผู้ขายต่อบริการ (รีเซลเลอร์) ของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะทำให้กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สายเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างดีขณะที่การลงทุนขยายเครือข่าย อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ด้วยเทคโนโลยี DOCSIS 3.0 ให้ครอบคลุมกว่า 2 ล้านครัวเรือน จะเสริมให้ธุรกิจทรูออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด อีกทั้งยังสนับสนุนให้ทรูวิชั่นส์สามารถก้าวสู่ยุค HD TV และ Internet TV ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ทรูวิชั่นส์ยังพัฒนากล่องรับสัญญาณใหม่เข้าสู่ยุค MPEG 4 เพื่อให้บริการในระบบ High Definition ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันการถอดรหัสเพื่อรับชม รายการแบบผิดกฎหมายได้ ซึ่งการลงทุนทั้งหมดนี้ จะเสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการคอนเวอร์เจนซ์ของกลุ่มทรูได้อย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งยังเป็นการปรับฐานทางเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบริษัทใน 5 ปีข้างหน้า”
กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สาย ซึ่งประกอบด้วย ทรูมูฟ ทรูมูฟ เอช และฮัทช์ มีรายได้จากการให้บริการ ไม่รวมค่า IC จำนวน 6.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า จากการรวมผลการดำเนินงานของฮัทช์ และการเติบโตของรายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียงและบริการแบบรายเดือน
ทรูมูฟ มีรายได้จากการให้บริการ ไม่รวมค่า IC จำนวน 5.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากไตรมาส เดียวกันปีก่อนหน้า โดยการเติบโตของรายได้บริการแบบรายเดือน (ร้อยละ 19.0 จากไตรมาสเดียวกันปีที่ผ่านมา และร้อยละ 5.5 จากไตรมาสที่ผ่านมา) และบริการที่ไม่ใช่เสียง (ร้อยละ 34.7 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า และร้อยละ 4.0 จากไตรมาสที่ผ่านมา) ทั้งนี้ ยอดขายเครื่องและแพ็คเกจสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่การใช้งานโซเชียลมีเดียต่างๆ แพร่หลายมากขึ้น
รายได้จากบริการแบบเติมเงินยังคงอ่อนตัว ส่วนใหญ่จากการแข่งขันในโปรโมชั่นโทรภายในโครงข่าย ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี โปรโมชั่นโทรทุกโครงข่าย และการขยายโครงข่ายในต่างจังหวัด ช่วยให้รายได้บริการแบบเติมเงินเริ่มฟื้นตัวในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ในไตรมาส 2 ปี 2554 ทรูมูฟมียอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิของบริการแบบรายเดือน เพิ่มขึ้นถึง 46,000 ราย (จากยอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิทั้งหมด 261,000 ราย) เทียบกับ 26,000 ราย ในไตรมาส 1 ปี 2554 ส่วนใหญ่จากแพ็กเกจสมาร์ทโฟนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2554 กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สายมีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 18.5 ล้านราย
ทรูออนไลน์ มีรายได้จากการให้บริการจำนวน 6.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เนื่องจากการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากของรายได้จากบริการบรอดแบนด์ (ร้อยละ 14.6 จากไตรมาส 2 ปี 2554 และร้อยละ 2.9 จากไตรมาส 1 ปี 2554) ซึ่งเป็นผลจากการเปิดตัวแพ็กเกจใหม่ของบริการ Ultra hi-speed Internet นอกจากนี้ ในไตรมาส 2 บริษัทได้ปรับเพิ่มความเร็วมาตรฐานของบริการบรอดแบนด์เป็น 7 Mbps และบริการ Wi-Fi เป็น 8 Mbps (ความเร็วตามมาตรฐานตลาด ประมาณ 2-4 Mbps) รวมทั้งเพิ่ม จุดเชื่อมต่อสัญญาณ หรือ Hotspot จาก 21,000 จุด เป็น มากกว่า 30,000 จุด ทั้งนี้ ทรูออนไลน์สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการบรอดแบนด์รายใหม่สุทธิได้ 40,000 รายในไตรมาส 2 ทำให้มีฐานผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 1.25 ล้านราย
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการจำนวน 2.3 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับคงที่ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เนื่องจากการเติบโตของรายได้จากการรับทำการโฆษณา (เพิ่มขึ้นเป็น 143 ล้านบาท) ถูกชดเชยด้วยการลดลงของรายได้จากค่าสมาชิก ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันและการลักลอบการใช้สัญญาณ ทั้งนี้ รายได้จากการให้บริการลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากผลของฤดูกาล จากรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีกสิ้นสุดฤดูกาล ปี 2553/2554 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์มีจำนวนสมาชิกโดยรวมทั้งสิ้น 1.7 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2554
กลุ่มทรูชำระคืนหนี้ระยะยาวจำนวน 4.0 พันล้านบาท (ไม่รวมสัญญาเช่าทางการเงิน) ในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ระดับหนี้ระยะยาวลดลงเล็กน้อยเป็น 66 พันล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทได้นำเงินทุนส่วนใหญ่ที่ได้จากการระดมทุน จำนวนทั้งสิ้น 13.1 พันล้านบาท จากการจัดสรรหุ้นสามัญใหม่เพื่อเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม (Rights Offering) ในไตรมาส 2 (ซึ่งมีผู้ถือหุ้นจองซื้อหุ้นสูงถึงร้อยละ 110.5 ของจำนวนที่เสนอขายทั้งหมด) ไปใช้เพื่อขยายการให้บริการ ของทรูมูฟ เอช
นายนพปฎล เดชอุดม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินกล่าวว่า “บริษัทคาดว่าการเดินหน้าขยายธุรกิจและบริการใหม่ๆ เช่น 3G และ DOCSIS 3.0 รวมทั้งการให้บริการในระบบ High Definition ของทรูวิชั่นส์ อาจกระทบต่อ EBITDA ในช่วงแรก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่อยู่ในช่วงเริ่มลงทุน แต่พัฒนาการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และช่วยสร้างกำไรของบริษัทในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้ถือหุ้นจองสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเกินกว่าจำนวนหุ้นที่เสนอขาย ยังยืนยันความเชื่อมั่นของตลาดที่มีต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวของบริษัท”