สำหรับแกรมมี่เอง การลาออกของธนาอาจไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดหมายนัก เพราะก่อนหน้านี้มีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกเดินเข้าออกแกรมมี่มาแล้วหลายคน
เริ่มตั้งแต่การดึงตัว วิสิฐ ตันติสุนทร มืออาชีพด้านการเงิน ที่เคยผ่านงานบริหารองค์กรขนาดใหญ่ เช่น เคยเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด รองประธานอาวุโสฝ่ายการลงทุน บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ หรือ เอไอเอ ถือเป็นมืออาชีพคนแรกๆ ที่เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาธุรกิจบันเทิงอย่างแกรมมี่
เป้าหมายของอากู๋เวลานั้น ต้องการให้องค์กรแกรมมี่บริหารงานแบบองค์กรธุรกิจมากขึ้น และยังต้องการใช้ประสบการณ์ของวิสิฐมาช่วยผลักดันแกรมมี่โกอินเตอร์ออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อหารายได้เข้ามาชดเชยธุรกิจเพลง แต่ไม่ทันที่ฝันของอากู๋จะเป็นจริง วิสิฐก็โบกมืออำลาไปนั่งเป็นเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.
ซีอีโอคนถัดมา คือ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” มืออาชีพอีกคนที่ผ่านงานด้านโฆษณาและการตลาดในองค์กรข้ามชาติอย่างเป๊ปซี่ เคยบุกเบิกฟริโต-เลย์ เจ้าของมันฝรั่งทอดเลย์ในเครือเป๊ปซี่มาแล้ว เคยได้รับการชักชวนจากอากู๋มานั่งเก้าอี้ “ซีอีโอ” ในแกรมมี่ ช่วงปี 2543โดยหวังว่าจะใช้ประสบการณ์ความเป็นมืออาชีพที่ผ่านองค์กรข้ามชาติ และคุ้นเคยดีกับตลาดคอนซูเมอร์โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น มาช่วยให้แกรมมี่ที่กำลังเจอแรงเหวี่ยงจากธุรกิจเพลง จึงต้องการแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ มาทดแทนรายได้ธุรกิจเพลงที่อยู่ในช่วงขาลง และทำให้แกรมมี่ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจบันเทิงมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งภายในเองก็มีจัดทัพใหม่ แยกเป็น Business Unitให้คนที่เป็นศิลปินหันมาเรียนรู้เรื่องของบิสซิเนส รับผิดชอบกำไรขาดทุน
แต่ด้วยวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกันมาก หลังจากใช้เวลาทำงานที่แกรมมี่ได้ 2 ปีกว่าๆ อภิรักษ์เป็นมืออาชีพอีกคนที่ต้องโบกมืออำลาไปนั่งเก้าอี้ซีอีโอให้กับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ก่อนจะกระโดดเข้าสู่แวดวงการเมือง ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เต็มตัว
แหล่งข่าวในแกรมมี่เล่าว่า ธุรกิจหลักของแกรมมี่เป็นเรื่องการบริหารคนและศิลปิน มีรูปแบบการทำงานเฉพาะตัว เป็นเรื่องยากสำหรับคนนอกที่ผ่านงานและประสบการณ์มาคนละแบบจะเข้ามาบริหารงาน
“เอาแค่เวลาทำงาน คนนอกที่เข้ามาจะทำงานตามเวลาออฟฟิศทั่วไป เข้า 9 โมง เลิก 6 โมงเย็น แต่คนแกรมมี่ กว่าจะเริ่มงานก็บ่ายโมง เวลาคุยงานไม่ได้คุยในห้องประชุม แต่เป็นร้านอาหารตอนเย็น เลยไปจนถึงดึก คนทำงานก็เป็นศิลปิน ในขณะผู้บริหารคนนอกเขาผ่านงานมาอีกแบบ การพูดคุยก็เลยแตกต่างกันมาก จนบางทีก็เข้ากันได้ยาก”
เมื่อไม่ได้รับความร่วมมือจากคนใน การทำงานมีอุปสรรคมากๆ โอกาสบรรลุเป้าหมายไม่ง่าย หรือบางทีต้องใช้เวลา ในขณะที่อากู๋ตั้งความหวังกับมืออาชีพไว้สูง เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้มืออาชีพเข้ามาแล้วก็จากไปบ่อยครั้งเข้าจนช่วงหลังอากู๋ต้องให้ลูกหม้อเก่าที่คุ้นเคยกันมานั่งเก้าอี้บริหารระดับสูง อย่าง บุษบา ดาวเรือง แทนซีอีโอ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มาจนทุกวันนี้
แม้ว่าที่ผ่านมาธนาจะไม่เจอปัญหาเหมือนอย่างที่ผู้บริหารก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่มีรูปแบบธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่อนาคตจีเอ็มเอ็ม แซท ก็ต้องหันมาเน้นหนักเรื่องการผลิตเนื้อหามากขึ้น รวมถึงการตลาด ที่มีการใช้ทรัพยากรภายในที่มีอยู่ ต้องอาศัยความร่วมมือกับคนเก่าแก่เหล่านี้มากขึ้น
การผลักดันให้ “ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม” ลูกชายคนโต ขึ้นนั่งเก้าอี้ซีอีโอในจีเอ็มเอ็ม แซท น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแกรมมี่ และเป็นช่วงจังหวะที่อากู๋จะส่งไม้ต่อให้กับทายาทได้ขึ้นกุมบังเหียน
นอกจากนี้ ด้วยความเป็นธุรกิจใหม่ และเป็นธุรกิจหลักของแกรมมี่ในอนาคต หาก “ฟ้าใหม่” บุกเบิกธุรกิจสำเร็จ จะเป็นแรงส่งให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำองค์กรได้เร็วขึ้น และยังสร้างการยอมรับในฐานะผู้นำองค์กรได้ง่ายกว่าการไปเริ่มต้นในธุรกิจเดิมที่มืออาชีพบริหารดีอยู่แล้ว เพราะหากทำได้ดีก็เสมอตัว
ด้วยความที่จีเอ็มเอ็ม แซทเป็นองค์กรใหม่ และมีรูปแบบการทำงานแตกต่างออกไป ไม่ใช่การบริหารศิลปินแต่เป็นรูปแบบของการซื้อมาขายไป มีการคัดเลือกทีมงานใหม่เข้ากับสไตล์ของผู้นำองค์กรได้ง่ายกว่าการเลือกใช้ทีมงานเดิม ที่มีกรอบความคิดมากกว่า รวมทั้งการขอร่วมมือกับคนในองค์กรไม่เป็นอุปสรรคมากเท่าผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอก
โครงสร้างองค์กร จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (มหาชน) ประกาศใช้ตั้งแต่ มกราคม 2555 |
||
บุษบา ดาวเรือง | สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา | ธนา เธียรอัจฉริยะ |
ธุรกิจเพลง | ธุรกิจมีเดีย | ธุรกิจนิวมีเดีย |
รับจัดกิจกรรมและบริหารคอนเสิร์ต | ธุรกิจวิทยุ | แพลตฟอร์มโอเปอเรเตอร์ |
บริหารศิลปิน ธุรกิจดิจิทัล | ธุรกิจสร้างสรรค์และบริหารกิจกรรมทางการตลาด | โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม |
ธุรกิจโทรทัศน์, ธุรกิจสิ่งพิมพ์ | จำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม |