นับเป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายปี 2555 สำหรับการโบกมืออำลาจากเก้าอี้ซีอีโอ จีเอ็มเอ็ม แซท (GMM Z) ของธนา เธียรอัจฉริยะ อดีตผู้บริหารดีแทค ที่เข้ามาร่วมงานในบริษัทแกรมมี่ได้เพียง 1 ปีเต็ม เพื่อร่วมบุกเบิกธุรกิจทีวีดาวเทียมที่อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม หมายมั่นปั้นมือจะให้เป็น “ธุรกิจดาวรุ่งดวงใหม่” เพื่อจะมาชดเชยกับธุรกิจเพลงที่อยู่ในช่วงขาลง
ธนา เข้ามาร่วมงานในจีเอ็มเอ็ม แซท ช่วงต้นปี 2555 หลังจากที่ได้รับการชักชวนจากไพบูลย์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับแกรมมี่มาพักใหญ่ ซึ่งมี บุญคลี ปลั่งศิริ อดีตซีอีโอ เอไอเอส เป็นประธานที่ปรึกษาของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และ สุวภา เจริญยิ่ง อดีตเจ้านายเก่า สมัยที่ทำงานในเงินทุนหลักทรัพย์เอกธำรง ซึ่งเวลานี้นั่งกรรมการอิสระของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่มีส่วนในการสนับสนุนการทำงานครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ ธนาเคยสร้างความฮือฮาโดยเป็นหนึ่งตัวอย่างผู้บริหารยุคใหม่ที่คิดนอกกรอบ เมื่อเขาตัดสินใจเลือกออกจากคอมฟอร์ทโซน ด้วยการยื่นลาออกจากรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร เข้ามานั่งเก้าอี้ซีอีโอในบริษัท พี.เค.การ์เม้นท์ (อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย แม็คยีนส์ ที่เป็นธุรกิจครอบครัว
ธนาให้เหตุผลว่า งานที่ทำในดีแทคอยู่ตัวแล้วจึงต้องการแสวงหาความท้าทายใหม่ๆ ไม่ชอบยึดติดอยู่กับที่ แม็คยีนส์อยู่ระหว่างการสร้างแบรนด์ และเจ้าของแม็คยีนส์เองก็ต้องการเปลี่ยนแปลงองค์กร จึงต้องการมืออาชีพเข้ามาบริหารงาน เต่เอาเข้าจริงกลไกของธุรกิจครอบครัวที่อยู่มานานทำให้การขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงธุรกิจทำได้ยาก ธนาจึงเลือกอำลาแม็คยีนส์มานั่งทำงานจีเอ็มเอ็ม แซทเต็มตัว แทนที่จะเป็นที่ปรึกษาทำงาน 2 วันต่อสัปดาห์
ในมุมมองของธนา ธุรกิจทีวีดาวเทียมเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรง มีอนาคตดี นอกจากลักษณะการทำธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม แซท ที่มีทั้งแพลตฟอร์มโอเปอเรเตอร์ จำหน่ายกล่องรับสัญญาณและบริหารคอนเทนต์ เป็นงานด้านบริการและซื้อมาขายไป ไม่ต่างไปจากธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ธนาคุ้นเคยดี ทั้งการตลาด การดูแล ดีลเลอร์ รวมถึงการสร้างแบรนด์ ซึ่งเขาเคยสร้างผลงานร่วมในการรีแบรนด์ดีแทคและแฮปปี้จนสำเร็จมาแล้ว
เมื่อนำประสบการณ์ธุรกิจที่มีมาบวกผสมกับความเป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญเรื่องของการผลิตคอนเทนต์ของแกรมมี่ จะเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ผลักดันธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่อากู๋ใฝ่ฝันไว้แจ้งเกิดได้ เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งที่อากู๋เคยสร้างธุรกิจเพลงไทยตีเพลงฝรั่งมาแล้ว และต่อมาได้ร่วมกับดีเจพี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ที่เคยบุกเบิกธุรกิจมีเดียให้กับอากู๋จนทำสำเร็จมาแล้ว
นอกจากนี้ จีเอ็มเอ็ม แซท เป็นหน่วยธุรกิจใหม่ที่แกรมมี่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีรูปแบบธุรกิจซื้อมาขายไป ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับศิลปิน ตำแหน่งซีอีโอในหน่วยงานใหม่ทำให้ธนามี “พื้นที่” ในการทำงานของตัวเอง ขึ้นกับอากู๋โดยตรง
ธนา เข้ามาปรับโครงสร้างการทำงานในจีเอ็มเอ็ม แซท และรีแบรนด์จากจีเอ็มเอ็ม วัน สกาย เป็น จีเอ็มเอ็ม แซท และเดินสายพูดคุยเพื่อระบบดีลเลอร์จัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียมทั่วประเทศ รวมถึงการจำหน่ายห้างโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อ
ส่วนในด้านหนึ่ง ก็ต้องมีคอนเทนต์ที่จะมาเป็นตัว “จุดระเบิด” ซึ่งการคว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2012 ที่อากู๋ยอมควักกระเป๋าชิงลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมาได้ ตั้งใจจะใช้เป็นเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ ที่ใช้ในการขยายฐานสมาชิกจีเอ็มเอ็ม แซท แบบม้วนเดียวจบ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง แนวรุกที่ไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการทีวีดาวเทียมจนส่งผลให้ปรากฏการณ์ปัญหา “จอดำ” เมื่อจีเอ็มเอ็ม แซทยืนยันว่า ยูฟ่าเข้มงวดกับลิขสิทธิ์ การรับชมต้องชมผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียม และกล่องจีเอ็มเอ็ม แซทเท่านั้น ฟรีทีวีดูได้เฉพาะช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 ส่วนกล่องรับสัญญาณดาวเทียมอื่นๆ หมดสิทธิ์
การเปลี่ยนกติกาในครั้งนั้นนอกจากจะสั่นสะเทือนไปทั้งวงการเคเบิลทีวี จีเอ็มเอ็ม แซทถูกโจมตีอย่างหนัก สร้างความไม่สบายใจให้กับ “ธนา” ในฐานะซีอีโอ ที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้ธนาตัดสินใจลาออกกับอากู๋ตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่ถูกขอให้อยู่ต่อ เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ไม่ต้องการให้ถูกมองว่ามีปัญหาภายใน จะเป็นจุดอ่อนให้คู่แข่งโจมตี และเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าของจีเอ็มเอ็ม แซท
ธนาใช้เวลา 6เดือนที่เหลือ ทำตัวโลว์โพรไฟล์ ลดบทบาทเบื้องหน้าไปเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับ “ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม” ทายาทคนโตของอากู๋ ที่จะเข้ามารับช่วงบริหารงานแทนหลังจากใช้เวลาศึกษางานมา 3 ปีเต็ม
จนมาถึงช่วงสิ้นปี 2555 เมื่อธนามองว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะบุกเบิกธุรกิจนี้มาได้ในระดับที่น่าพอใจแล้ว มียอดติดตั้งจานดาวเทียมไปถึง 1ล้านกล่อง ปัญหาฟุตบอลยูโรเองนิ่งในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ฟ้าใหม่เองก็พร้อมแล้วกับการขึ้นรับตำแหน่ง หากยืดเวลาออกไปอาจจบไม่สวย ที่มาแล้วก็ไป เพราะอากู๋เองก็ตั้งความหวังไว้สูง
ธนาจะพูดคุยกับอากู๋อีกครั้งหลังปีใหม่ โดยที่ผ่านมายังไม่ได้ยื่นใบลาออกอย่างเป็นทางการ และยังไม่ได้ตกลงใจว่าจะเลือกไปทำงานที่ไหน แต่ยอมรับว่ามีหลายองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มาทาบทาม ทั้งธุรกิจสื่อสาร สถาบันการเงิน อสังหาริมทรัพย์ แต่คงจะเลือกทำงานในธุรกิจที่แตกต่างไปจากประสบการณ์เดิมไม่มากนัก
หากเลือกได้ เขาจะขอกลับมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ระบบ3จีที่เขาคุ้นเคยดี และยังเคยผลักดันให้ดีแทคได้รับอนุมัติในการอัพเกรด และทดสอบคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ เป็น 3จี แบบ HSPA และน่าจะเป็นเวลาเหมาะสมของตลาดมือถือ 3จี ที่จะเริ่มต้นในปี 2556
นี่คือเส้นทางของผู้บริหารมืออาชีพที่ได้ชื่อว่า คิดนอกกรอบ ธนา เธียรอัจฉริยะ กับการผจญภัยครั้งใหม่ของเขา ติดตามอ่าน “ธนา เธียรอัจฉริยะ เส้นทางที่ยังอีกยาวไกล ได้ที่ POSITIONING on iPadและเว็บไซต์ www.positioningmag.com
ประวัติ | |
Education | ปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับ 2 ปริญญาโท ด้านการเงิน จากมหาวิทยาลัย Washington State University |
Career Highlight | ปี 2535 บริษัทหลักทรัพย์ เอกธำรง จำกัด ปี 3539 บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เริ่มจากผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการเงิน ดูแลด้าน Investor Relations จากนั้นมาทำงานในฝ่ายวางแผน ฝ่ายกลยุทธ์การตลาด การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ลาออกไปอยู่ Hutch แค่ 2 เดือน บุญชัย เบญจรงคกุล ตามตัวกลับมาดูแลส่วนงาน Prepaid โดยธนาได้รีแบรนด์มาเป็น Happy จนกลับมาเป็นที่รู้จักในตลาด |
ในยุคที่ซิคเว่ เบรคเก้ ผู้บริหารจากเทเลนอร์ เข้ามาเป็นซีอีโอ ได้สร้างสีสันการตลาดให้กับวงการมือถือ โดยมีธนาเป็นมือการตลาดทำงานเคียงคู่ ดูแลงานด้านพาณิชย์ทั้งหมดของ DTAC ในตำแหน่ง Chief Commercial Officer
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายใน ธนาเข้ามารับตำแหน่งล่าสุด คือ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ที่ต้องทำงานติดต่อกับภาครัฐ เป็นช่วงรอยต่อในการขอใบอนุญาต 3จี และเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกไปอยู่ที่แม็คยีนส์