เฟซบุ๊กเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ “Graph Search” ระบบค้นหารูปภาพ ข้อมูลจากคลังข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้พันล้านคนทั่วโลก ถูกคาดหมายว่าจะเป็นฟีเจอร์เด็ดต่อจาก Timeline และ Newsfeed งานนี้เฟซบุ๊กหวังว่า เสิร์ชตัวล่าสุดนี้ จะรับมือกับศึกรอบด้าน และปูทางไปสู่การแก้โจทย์ในเรื่องของการหารายได้ให้กับเฟซบุ๊ก
หลังจากที่ปล่อยให้นักข่าวและนักวิเคราะห์คาดการณ์กันไปต่างๆ นานา เมื่อเฟซบุ๊กได้ร่อนการ์ดเชิญนักข่าวไปที่สำนักงานใหญ่ ในวันที่ 15 มกราคม โดยให้ข้อมูลเพียงว่า ให้นักข่าวมาดูว่าเฟซบุ๊กกำลังทำอะไรอยู่ ในที่สุดเฟซบุ๊กก็เฉลยปริศนานี้ โดยเปิดตัวบริการใหม่ที่ชื่อว่า “Graph Search”
เน้นการเสิร์ชแบบเฉพาะเจาะจง
ถึงแม้จะชื่อว่ากราฟ เสิร์ช แต่ความจริงแล้วคอนเทนต์ที่ฟีเจอร์นี้จัดการเสิร์ชออกมาจะมีทั้งสถานที่ รูปภาพ ผู้คน ตลอดจนความสนใจของคนคนนั้น ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารที่เพื่อนเราชอบไปในเมืองๆ หนึ่ง ผลเสิร์ชก็จะดึงเอาข้อมูลร้านอาหารที่เพื่อนของผู้เล่นเฟซบุ๊กเคยไปขึ้นมาโชว์ หรือแม้แต่รูปภาพที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเคยคลิกไลค์ ผลเสิร์ชก็จะปรากฏ หรือแม้แต่โชว์เพลง โชว์ภาพยนตร์ที่เพื่อนกดไลค์เอาไว้ โดยสามารถจำแนกได้ขนาดว่า คนที่ชื่นชอบมิตต์ รอมนี่ย์ส่วนมากชอบฟังเพลงของใครกันเลยทีเดียว
Mark Zuckerberg ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก อธิบายว่า สิ่งที่ทำให้ Graph Search แตกต่างจากเสิร์ชเอ็นจิ้นอื่นๆ ที่เป็นเว็บเสิร์ช ก็ตรงที่มันพาไปหาคำตอบที่ต้องการหาเลย ไม่ใช่แค่พาไปสู่ลิงค์ที่เป็นคำตอบ อีกทั้งคอนเทนต์ที่นำเสนอออกมายังเป็นผลลัพธ์ที่ดึงมาจากปฏิสัมพันธ์ที่ผู้เล่นเฟซบุ๊กมีต่อเพื่อนคนนั้น เช่น เพื่อนที่มีระดับความสัมพันธ์มากกว่าก็จะถูกจัดอันดับความสัมพันธ์อยู่ในอันดับต้นๆ ของเสิร์ช แต่ก็ไม่ทิ้งรากเหง้าของตัวเองที่อยากจะนำผู้คนให้สร้างคอนเนกชั่นใหม่ๆ ระหว่างกัน
ผลเสิร์ชจะสามารถโชว์ข้อมูลบางส่วนจากเพื่อนของเพื่อน (Friend of Friend) ได้ด้วย และถ้าหากว่าคำตอบจากปฏิสัมพันธ์ที่มีอยู่ในเฟซบุ๊กไม่เจอ ผลลัพธ์ก็จะดึงข้อมูลจาก Bing พันธมิตรของเฟซบุ๊ก ตอนนี้ฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นเพียงตัวทดลอง (Beta) จะเปิดให้ผู้บริโภคได้ใช้จริงเร็วๆ นี้ สำหรับฟีเจอร์หลัก Graph Search นี้ Mark Zuckerberg มองว่าเป็น 1 ใน 3 ฟีเจอร์หลักที่เป็นหัวใจของเฟซบุ๊กต่อจาก Timeline และ Newsfeed เลยทีเดียว
ความแตกต่างอีกข้อ คือ การค้นหาด้วยคำ (Keyword) แต่สำหรับ Graph Search จะค้นหาเป็นประโยค เพื่อเข้าถึงหัวข้อและข้อมูลต่างๆ ในกลุ่มเพื่อนของผู้ใช้ เช่น หากผู้ใช้พิมพ์คำว่า “Friends who like Star Wars” (เพื่อนที่ชอบหนังเรื่อง Star Wars) ผลการค้นหาก็จะปรากฏออกมาเป็นรายชื่อเพื่อนที่ชอบหนังเรื่องดังกล่าว
หรือจะถามคำถามที่ว่า “Japanese restaurants in Bangkok my friends have been to” (ร้านอาหารญี่ปุ่นที่เพื่อนของฉันชอบไป) ผลการค้นหาก็จะออกมาเป็นชื่อร้านต่าง ๆ และจะเรียงลำดับตามความสำคัญ อย่างเช่น ร้านอาหารที่ถูกกด Like มากที่สุด นอกจากนั้นก็ยังจะมีข้อมูลด้านอื่นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ใช้ Facebook ค้นหา ปรากฏออกมาเป็นลำดับต่อไป
ผลการค้นหาจะแตกต่างกันออกไปสำหรับผู้ใช้แต่ละคน ตามจำนวนเพื่อนที่มี และเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามประวัติการใช้งาน Facebook ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับรูปถ่าย สถานที่ซึ่งตนเองและเพื่อนของแต่ละคนเคยไปเยือน รวมถึงเรื่องความชื่นชอบส่วนตัวของเพื่อนแต่ละคน เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร ดารานักร้อง สัตว์เลี้ยง การหาคู่ แน่นอนว่ามันจะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงการหางาน หรือสินค้าและบริการ ต่างๆ ด้วย
ถึงตอนนี้ Graph Search ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเท่านั้น ซึ่งเวอร์ชั่น Beta ได้เปิดให้ทดลองใช้กันในจำนวนจำกัดในกลุ่มผู้ใช้เพียงหลักพันหรือหมื่นคน และซัคเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่าทีมงานของเขาคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ในการทำ Graph Search ให้สมบูรณ์แบบ โดยตอนนี้ระบบค้นหาใหม่ล่าสุดของ Facebook ยังจะไม่สามารถตอบอะไรที่ซับซ้อนไปกว่าผลด้าน ตัวบุคคล รูปถ่าย สถานที่ หรือความสนใจต่างๆ ได้ และทาง Facebook จะค่อยๆ พัฒนา Graph Search ไปตามการทำงานจริงของผู้ใช้ และอาจเพิ่มเติมการค้นหาด้วยเสียงพูดสำหรับโทรศัพท์มือถือในอนาคตต่อไป
นักวิเคราะห์เชื่อว่า Graph Search คือความพยายามในการขยายขอบเขตของ Facebook ให้กว้างขวางครอบคลุมกว่าเดิม และกินเวลาของผู้ใช้นานให้มากขึ้น
นักวิเคราะห์รายหนึ่งมองว่า ที่แล้วมาการจัดระบบสืบค้นข้อมูลจำนวนมหาศาลของ Facebook คือปัญหามาตลอด ส่วนความกังวลเรื่องการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้จาก Graph Search ก็มีคำตอบจากผู้พัฒนาว่าผู้ใช้สามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่ไม่ต้องการเปิดเผยสำหรับทุกคน โดยภาพรวมในสายตาของคนในวงการความเคลื่อนไหวของ Facebook ครั้งนี้ ยังถือว่าเป็นการก้าวไปข้างหน้าของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก
เฟซบุ๊กสู้ศึกรอบด้าน
การนำเสนอระบบค้นหาแบบใหม่ ก็ชัดเจนว่าเป็นการท้าทาย Google แต่จะเน้นการค้นหาในโลก Facebook ของผู้ใช้แต่ละคน แม้แต่ตัวของซัคเคอร์เบิร์ก ก็ยอมรับว่า เขาฝันว่าสักวันหนึ่ง ยอดผู้ใช้ Graph Search ในการค้นหาเรื่องต่างๆ จะสามารถเทียบเคียงกับ Google ได้อยู่ลึกๆ
นอกจากนี้ยังเป็นความพยายามของเฟซบุ๊กเพื่อต่อสู้กับโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอื่นๆ ที่มาแรง อย่างเช่น Pinterest ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกได้รับความนิยมอย่างมาก เฟซบุ๊กจึงพยายามจัดหาเอาความสนใจของผู้คน ทั้งรูป สถานที่ คน มารวมกันเอาไว้ที่เดียวเพื่อทำให้คนใช้เวลาบนเฟซบุ๊กมากขึ้น อย่างไรก็ตาม Graph Search จะแสดงผลคอนเทนต์ที่น่าสนใจหรือไม่ ก็อยู่ที่การปฏิสัมพันธ์กันในกลุ่มเพื่อน จึงเป็นที่น่าจับตาว่าพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริงจะชื่นชอบการหาข้อมูลรอบตัวจากกลุ่มเพื่อนหรือไม่
และ Graph Search คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในระยะสั้น เพราะนอกจากจะนำเสนอเครื่องมือใหม่ที่สามารถให้คำตอบต่างๆ กับบรรดาผู้ใช้แล้ว ทาง Facebook เองก็ยังมีคำถามมากมายที่ต้องตอบเช่นเดียวกัน
นักการตลาดได้อะไรจาก Graph Search
อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทธอมัสไอเดีย จำกัด ออนไลน์เอเยนซี่ ให้ความเห็นว่า ความน่าสนใจของ Graph Search ระบบค้นหาใหม่ของเฟซบุ๊ก คือ การที่เฟซบุ๊กใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความสัมพันธ์ (Relationship) ของผู้ใช้เฟซบุ๊กพันล้านคนทั่วโลก ผ่านรูปภาพที่ผู้ใช้ได้ Tag ขึ้นเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นฐานข้อมูล Insight พฤติกรรมของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ที่ผู้ให้บริการเสิร์ชเอ็นจิ้นรายอื่นๆ อย่างกูเกิลไม่มี
เช่น ค้นหาร้านอาหารที่เพื่อนๆ ชื่นชอบ ระบบGraph Search จะค้นหารูปภาพร้านอาหารที่เพื่อนๆ เคย Tag รูปภาพไว้ หรือค้นหาร้านขายรองเท้าหรือกระเป๋าที่เพื่อนชอบไป โดยระบบจะจัดลำดับความสัมพันธ์ด้วยการขึ้นภาพของเพื่อนสนิทก่อนจะขยายผลไปยังเครือข่ายของคนที่รู้จักกัน หรือเพื่อนของเพื่อน
นอกจากนี้จะมีระบบแนะนำ (Recommend) เช่น เมื่อค้นหาสถานที่ ร้านอาหารในย่านสุขุมวิทที่เพื่อนๆ ชอบไป นอกจากจะมีรูปภาพเพื่อนๆ ขึ้นมาแล้ว จะมีข้อมูลร้านอาหารใกล้เคียงที่ได้รับการแนะนำขึ้นมาประกอบด้วย ฟีเจอร์ลักษณะนี้ จะใกล้เคียงกับเว็บแนะนำร้านอาหาร Yelp Yelp คือ ศูนย์รวมข้อมูลรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารโดยคนที่ไปเที่ยวทานอาหารมาก่อน ซึ่งจะให้ผลการค้นข้อมูลเฉพาะเจาะจงใกล้เคียงกัน
เธอยังมองอีกว่า ระบบ Recommend เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ และจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค เพราะจะช่วยในการค้นหาข้อมูลได้ตรงกับที่ผู้ใช้ต้องการมากขึ้น นอกเหนือไปจากการหาข้อมูลคำแนะนำจากบล็อกเกอร์
“ในแง่ของเจ้าของแบรนด์ สินค้า บริการ ตลอดจนนักการตลาด อาจต้องทำการบ้านมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้แบรนด์ได้รับความสนใจ เพื่อจะได้รับการแนะนำ หรือบอกต่อมาก จะมีโอกาสถูกค้นหามากด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อที่น่ากังวล คือ การรักษาข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากรูปภาพและข้อมูลที่ถูกค้นหาออกมาจะมีคนอื่นค้นพบได้ด้วย และแม้ว่าเฟซบุ๊กแก้ไขปัญหานี้ด้วยการให้ผู้ใช้สามารถ Set เป็นไพรเวทได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายสำหรับผู้ใช้กับการที่จะต้อง Set Privateกับทุกภาพที่ Tagขึ้นเฟซบุ๊ก
เชื่อมสู่การซื้อขายจริง อีคอมเมิร์ซ
ปุณณดา เหลืองอร่าม Sales Manager, Social (Facebook Authorized Reseller) กล่าวถึง Graph Search ฟีเจอร์ล่าสุดของเฟซบุ๊คว่า “ก็คงอยู่ในช่วงทดลองใช้ว่าจะตรงกับความต้องการของผู้บริโภคหรือเปล่า แต่ว่าเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กตั้งใจจะทำมานานแล้ว เดิมเรียกว่า Open Graph ที่พัฒนามาตั้งแต่ปี 2011 จุดประสงค์อยู่ที่การหาคนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกันแล้วมาแมตช์กัน สำหรับประเทศไทยข้อมูลที่น่าจะเอามาใช้ได้คงเป็นพวก Behavior หรือ Interest ต่างๆ เพราะว่าคนไทยมีกิจกรรมบนเฟซบุ๊กเยอะมาก เยอะที่สุดในบรรดาเพื่อนบ้านเราเลย แต่เรื่องของการที่จะให้ข้อมูลว่าอาศัยในเมืองไหน คงเป็นเรื่องที่อาจจะไม่ตรงกับอุปนิสัยคนไทยนัก ไม่เหมือนอเมริกันที่วัฒนธรรมเขาจะบอกเลยว่าเป็นคนที่ไหน มาจากรัฐไหน เมืองไหน”
และถ้าหากว่า Graph Search ทำงานได้ตรงตามที่เฟซบุ๊กคาดหวัง เชื่อว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยนักการตลาดจำแนก เจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่อยากสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กชัดเจนขึ้น จากเดิมที่การทำมาร์เก็ตติ้งในเฟซบุ๊กทำหน้าที่ได้เพียงสร้างกระแส Word of Mouth หรือสร้างแบรนด์ แต่งานนี้จะพาไปสู่การขายได้จริงผ่าน E-commerce แล้วในที่สุดก็แปลงเป็นความคุ้มค่าต่อการลงทุนของนักการตลาด อย่างไรก็ตาม ตัวแทนเฟซบุ๊กในประเทศไทยก็ยังระบุไม่ได้ว่าฟีเจอร์หลักตัวใหม่ของเฟซบุ๊กนี้จะถูกพัฒนาให้เข้าสู่ตลาดเมืองไทยได้เมื่อไหร่
“ต้องยอมรับก่อนว่าเฟซบุ๊กวันหนึ่งๆ มีข้อมูลเข้ามาเยอะมาก จนทำให้เราต้องจัดการกับข้อมูลเหล่านี้ เฟซบุ๊กมีการปรับแบบ Minor Change อย่างน้อยวันละ 1 อย่างทุกวัน บางทีก็เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่สังเกตไม่มีทางรู้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดของเฟซบุ๊กคือการคอนเนกผู้คนให้ครบ แล้วค่อยมองไปที่ดีไวซ์” ส่วนโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอื่นๆ ที่มาแรงในช่วงนี้อย่างเช่น LINE เฟซบุ๊กมองว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีวัตถุประสงค์ต่างกันออกไป และมองว่า LINE เหมาะสำหรับการสื่อสาร 2 ทางทีละจุด ไม่สามารถพัฒนาบทสนทนาออกไปในวงกว้างได้แบบที่เฟซบุ๊กทำ
ติดตามอ่าน “เจาะลึกGraph Searchแนวรบใหม่ด้าน “เสิร์ช” จากเฟซบุ๊ก” ได้ที่ POSITIONING on iPad และเว็บไซต์ www.positioningmag.com