คนไทยบ้าเห่อแบรนด์ในเฟซบุ๊ค

จากงานวิจัยของมายด์แชร์โดย ปิยะนุช มีมุข, Head of Digital Strategy ระบุว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊คในประเทศไทยมีกิจกรรมและมีส่วนร่วมกับเฟซบุ๊คมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการตลาดผู้ใช้งานเฟซบุ๊คของไทยมีปฏิสัมพันธ์(Engagement) และกิจกรรม(Active)กับแฟนเพ็จของแบรนด์มากถึง 73% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วโลกที่มีอยู่ 59% แปลว่าคนไทยเปิดรับการสื่อสารของแบรนด์ผ่านเฟซบุ๊คมากกว่าตลาดอื่นๆ และเปิดโอกาให้แบรนด์ได้สื่อสารเชิงลึกกับผู้บริโภคมากกว่าแค่ TVC 30 วินาที หรือ 1 หน้ากระดาษบนสื่อสิ่งพิมพ์

ดังนั้นสิ่งที่นักการตลาดต้องทำความเข้าใจและใช้เป็นโอกาส ก็คือ การสื่อสารบนเฟซบุ๊ค เป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง (2-ways communication) ต้องระลึกอยู่เสมอว่า การใช้ภาษาต้องใช้มู้ดและโทนที่ตรงกับคาแร็กเตอร์ของตัวเอง และเป็นภาษาทั่วไปที่ผู้คนใช้กัน ไม่ใช่ภาษาที่ส่งจากแบรนด์สู่คน และการสื่อสารบนเฟซบุ๊คยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่สนใจในคอนเทนต์นั้นๆ แชร์หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้อีกด้วย ด้านการบริหารคอนเทนต์ แบรนด์ต้องใส่คอนเทนต์ที่คิดว่าน่าจะเชื่อมโยงถึงผู้คนในช่วงเวลานั้นๆ ได้อย่างมีความหมาย ไม่ใช่แค่สักแต่ใส่คอนเทนต์ให้เต็มแฟนเพ็จ โดยไม่คำนึงถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์เลย