เจนเอ็กซ์ เจนวาย เจนซี ต้องถอยไป…ถึงยุคของ มิลเลนเนียล เจนเนอเรชั่น หรือ Gen M ที่กำลังกลายเป็นกลุ่มลูกค้าสุดแจ่ม มาแรงสุดในยุคนี้ “ติดหนึบออนไลน์ บ้าแชต ขี้เบื่อ เห่อแบรนด์ ชอบแสดงตัวตน ไม่อยากซ้ำใคร” เป็นตัวอย่างนิยามของคน “เจนเอ็ม” กลุ่มเป้าหมายที่นักการตลาดต้องจับตา
จัดว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่ “มาแรง” และ “ท้าทาย” นักการตลาดยุคนี้ ถึงขนาดที่นิตยสาร Time ยังต้องหยิบเอา Gen M ขึ้นปกมาแล้ว ด้วยพฤติกรรมสุดเหวี่ยง ที่นักการตลาดต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” เพื่อให้โดนใจคนกลุ่มนี้ที่เกิดมาพร้อมกับยุคสมาร์ทโฟน แชตตลอดเวลา ขาดเครือข่ายไม่ได้ แถมยังขี้เบื่อ ชอบอะไรใหม่ๆ แบบมาไวไปไว ไม่ภักดีกับแบรนด์ ชอบแสดงตัวตน ติดเพื่อน เห่อแบรนด์ และอยากรวยเร็วๆ
นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด รุ่น 14 B วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภควัยรุ่นยุค “Millennial Generation” หรือ Gen M ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่เกิดระหว่างปี 2532 -2538 มีอายุระหว่าง 18-24 ปี มีทั้งกำลังศึกษาระดับปริญญาตรีหรือโท และกลุ่มคนเริ่มทำงาน หรือ First Jobber ที่มีอายุงานไม่เกิน 4 ปี มีพฤติกรรมโดดเด่นจนน่าศึกษา
ที่สำคัญ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นถึง 14% ของประชากรไทย หรือประมาณ 8.96 ล้านคน
นอกจากนี้ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย 2551 ยังได้สำรวจค่าใช้จ่ายของวัยรุ่นกลุ่มนี้ พบว่า มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5,000 -10,000 บาท ต่อคนต่อเดือน หรือคิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายคิดเป็น 44,800 ล้านบาท ต่อเดือน และคิดเป็น 537,000 ล้านบาท ต่อปี ในทางการตลาดถือว่าเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อสูง และมีการจับจ่ายใช้สอยน่าสนใจ
เพราะไลฟ์สไตล์ของ “เจนเอ็ม” ใช้ชีวิตแบบ “ขาดเครือข่ายไม่ได้” เนื่องจากโตมาในยุคเทคโนโลยีเฟื่องฟู อยู่กับโลกออนไลน์เกิน 24 ชั่วโมง ทั้งการรับข่าวสาร และการใช้แอปพลิเคชั่นอย่างสนุกสนาน
ขณะเดียวกันผู้ที่ผ่านประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น ให้มุมมองเกี่ยวกับกลุ่ม “เจนเอ็ม” ว่า คนรุ่นี้จะกล้าคิดกล้าทำ แหวกแนว ล้ำสมัย อินเทรนด์ ดูดีมีสไตล์ สดใสไร้สิว แต่จุดอ่อนของคนรุ่นนี้ ใช้เงินเก่ง บ้าแชต ชอบตามกระแส เอาแต่ใจไร้เหตุผล ไม่เคารพผู้ใหญ่ ไม่อดทน ใช้ภาษาผิดเพี้ยน
หนุ่มสาวเจนเอ็ม มุ่งมั่นตั้งใจ ทันสมัย อยากรวย
ส่วนหนุ่มสาวเจนเอ็มมองตัวเองว่า เป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจ จริงใจ ทันสมัย เป็นตัวของตัวเอง ช้อป กิน เที่ยว ชอบแฟชั่น เล่นเกม เก็บออม อยากรวย แต่จุดอ่อน มักจะติดเพื่อน ขี้เบื่อ
ขณะสาวเจนเอ็ม ความสุขของพวกเธอคือการกิน แต่งตัว ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ใช้วิธีเล่นอินเทอร์เน็ต และออกไปพบปะกับผู้คนเพื่อหาความรู้ กล้องดิจิตอล และนาฬิกา คืออุปกรณ์สองชนิดที่ต้องพกติดตัวตลอดเวลา สนใจเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะอยากรวย อยากมีเงิน มีเงินใช้ก่อนแก่
ส่วนหนุ่มเจนเอ็มยุคนี้จะชอบออกกำลังกาย แฟนเป็นเรื่องสำคัญ และชอบเฮฮาอยู่กับเพื่อน สมาร์ทโฟนเป็นของคู่กายพกติดตัว ต้องดูดี มีสไตล์
สื่อจี๊ดโดนใจเจนเอ็ม
มาดูกันว่า “สื่อ” ไหนที่มีมีอิทธิพลกับคนเจนเอ็ม ปรากฏว่า ทีวี ยังมาแรงเป็นอันดับแรกมีสัดส่วน 40% รองลงมาคือเว็บไซต์ 26% และโซเชี่ยลมีเดีย 19% แม้ว่าสื่อทีวีจะยังมีบทบาทสูง แต่การที่คนกลุ่มนี้โตมาในยุคออนไลน์ การใช้สื่อใหม่จึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้
ส่วนสถานีโทรทัศน์ยอดนิยมของคนกลุ่มนี้ ช่อง 3 มาเป็นอันดับแรก ด้วยสัดส่วน 29% รองลงมาคือ เคเบิลทีวี 20% และช่อง 7 มีสัดส่วน 19%
ถ้าเป็นรายการคนเจนเอ็ม นิยมดูละครเป็นอันดับแรก โดยจะเลือกรับชมจากเนื้อหา ไม่ใช่เลือกดูพระเอกหรือนางเอก เพราะพวกเขาสามารถตามได้จากอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก แฟนเพจได้อยู่แล้ว ส่วนที่ไม่ชอบถึงขั้นเปลี่ยนช่องหนี คือ ละครที่นำเสนอเรื่องราวเกินจริง
รายการข่าวที่เปิดดูประจำ คือ ข่าวเช้า โดยจะเริ่มดูตั้งแต่ 6-9 นาฬิกา โดยจะเปิดทีวีทิ้งไว้ ฟังทีวีไปด้วยทำอย่างอื่นไปด้วย รายการโปรดจึงเป็นเรื่องเล่าเช้านี้ เพราะแค่ฟังก็เข้าใจได้ และอีกช่วงคือก่อนนอน 01.15 นาฬิกา ที่เจนเอ็มจะดูอย่างตั้งใจ
ส่วนรายการวาไรตี้ ชิงร้อยชิงล้าน ยังครองใจเป็นอันดับแรก แต่จะเลือกดูเฉพาะ ช่วงแก๊งสามช่าและตุ๊กกี้เป็นหลัก เช่นเดียวกับรายการทูไนท์โชว์ จะเลือกรับชมเฉพาะท่องเที่ยวต่างแดนเท่านั้น เพราะพาไปดูสถานที่แปลกใหม่
ส่วนรายการประเภทประกวดแข่งขันที่ชื่นชอบมากที่สุด ต้อง เดอะวอยซ์ รายการเดียวเท่านั้น
โฆษณาแบบไหนโดนใจเจนเอ็ม
เมื่อรู้จักสื่อและรายการที่คนเจนเอ็มชื่นชอบแล้ว คราวนี้มาดูโฆษณาที่โดนใจคนเจนเอ็ม
ต้องมีเพลงประกอบ เพื่อสร้างการจดจำให้กับคนเจนเอ็ม ตัวอย่างเพลงโฆษณาที่ติดหูคนเจนเอ็มเวลานี้ คือ มันฝรั่งเลย์ ที่มีญาญ่า อุรัสยา เป็นพรีเซ็นเตอร์ คนเจนเอ็มให้เหตุผลว่าเพลงประกอบไม่ได้กระตุ้นให้ซื้อทันที แต่เมื่อเข้าร้านสะดวกซื้อ เพลงเลย์จะผุดขึ้นมาในหัว ทำให้ต้องหยิบเลย์จ่ายเงินกลับบ้าน
จะเห็นได้ว่าสินค้าและบริการที่จับกระแสวัยรุ่น เจนเอ็มยุคนี้ ที่นอกจากใช้ดาราดังแล้ว ยังต้องออกแบบท่าเต้นและเพลงประกอบเพื่อสร้างการจดจำ คือโฆษณา ทรูมูฟ เอช ที่มีณเดชน์เป็นพรีเซ็นเตอร์ และล่าสุดแบรนด์วีต้า ที่ใช้ณเดชน์เป็นพรีเซ็นเตอร์ชายคนแรก ก็ใช้เพลงเป็นส่วนประกอบของหนังโฆษณา
สโลแกนต้องโดน ข้อความต้องสั้นกระชับ ทำให้จดจำได้ เช่น ลดพุง ลดโรค หรือ เลิกเหล้าเลิกจน ของ สสส. หรือ เป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ ของจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ เป็นสโลแกนที่คนเจนเอ็มจำได้ติดหูติดตา
เล่าเป็นเรื่องราว แต่โฆษณาที่นำเสนอเรื่องราวกินใจ เรียกน้ำตา อย่างโฆษณาของไทยประกันที่นำเสนอมาทีไร ก็ซึ้งใจกันคนเจนเอ็มที่จดจำเรื่องราวได้อย่างดี แต่ข้อเสีย คือ พวกเขาจดจำชื่อแบรนด์ไม่ได้ เป็นข้อควรระวังเจ้าของสินค้าและบริการ หากนำเสนอเรื่องราวยาวเกินไป คนเจนเอ็มจดจำแบรนด์ไม่ได้
ใช้พรีเซ็นเตอร์อย่างเดียวไม่ได้
การเลือกใช้ “พรีเซ็นเตอร์” เพียงอย่างเดียวอาจไม่สร้างการจดจำให้กับคนเจนเอ็มได้มากนัก จะต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การใช้สีและประโยคที่เชื่อมโยงกับแบรนด์อย่างชัดเจน เช่น โฆษณายาแก้ปวดซาร่า ที่ให้ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต พรีเซ็นเตอร์สวมใส่เสื้อผ้าสีชมพู ซึ่งเป็นสีที่เชื่อมโยงกับแบรนด์ และตอกย้ำด้วยประโยคสั้นๆ ทำให้คนเจนเอ็มเกิดการจดจำได้
สื่อออนไลน์
คนเจนเอ็มเกิดมาพร้อมกับโลกออนไลน์ ดังนั้น “กูเกิล” เป็นเครื่องมือที่คนเจนเอ็มใช้เป็นอาวุธประจำกายในการค้นหาข้อมูล ซึ่งคนรุ่นนี้จะไม่จดจำชื่อเว็บไซต์เลย ดังนั้นการทำการตลาดโดยเลือกสื่อออนไลน์ แบรนด์ควรต้องนำกลยุทธ์ SEO มาใช้ เพื่อให้แบรนด์ถูกเสิร์ชเป็นอันดับต้นๆ
โซเชี่ยลมีเดียโดนใจ
เฟซบุ๊ก ยังเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ครองใจคนกลุ่มนี้ แต่ถ้าเป็นเฟซบุ๊ก แฟนเพจขององค์กรหรือสินค้า คนกลุ่มนี้อาจจะกดไลค์ให้เป็นเรื่องปกติ แต่ไม่อ่านข้อมูลที่แบรนด์ฟีดมา จะเลือกอ่านเฉพาะต้องการใช้งานเท่านั้น
ส่วนรายการในยูทูบที่คนเจนเอ็มชื่นชอบ จะเป็นรายการนำเสนอเรื่องราวสั้นๆ ง่ายๆ อย่าง ขอ 3 คำ VRZO ชอบคาแร็กเตอร์พิธีกรที่ดูสนุก หรือ เจาะข่าวตื้น
กลยุทธ์ล้วงเงินในกระเป๋าเจนเอ็ม
จากพฤติกรรมความชอบและความสนใจของกลุ่มนี้ สามารถแบ่งกลุ่มเจนเอ็มออกเป็น 4 กลุ่ม 1.กลุ่ม Independent รักชีวิตอิสระ 39% 2.กลุ่ม Conservative ชอบเก็บตัว 26% 3.กลุ่ม Fashionista ชื่นชอบแฟชั่น 18% และ 4.กลุ่มชอบการลงทุน Investor 17%
เทคนิคเข้าถึง กลุ่มลูกค้ารักชีวิตอิสระ Independent สินค้าจะต้องสะท้อนตัวตนของแบรนด์ โดยต้องบ่งบอกคุณสมบัติว่า ช่วยแก้ปัญหาอะไร และตอบโจทย์อะไรอย่างชัดเจน
กลุ่มสอง ชอบชีวิตเรียบง่าย กลุ่มนี้จะเขินอายกับการที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ จะติดเพื่อน เชื่อเพื่อน พฤติกรรมการเลือกซื้อของคนกลุ่มนี้ มักจะเทียบราคาและคุณภาพสินค้าเสมอ แต่ถ้าเชื่อแล้วจะตัดสินใจซื้อเลย
สื่อที่จูงใจคนกลุ่มนี้ คือ ทีวี โดยต้องใช้พรีเซ็นเตอร์ถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และคล้อยตาม และกลยุทธ์ที่ขาดไม่ได้ คือ บอกต่อแบบเพื่อนบอกเพื่อน (WOM) ใช้ต้นทุนต่ำแต่มีประสิทธิภาพ
กลุ่มแฟชั่นนิสต้า กลุ่มนี้มีนิยามว่า “ติดดารา บ้าแฟชั่น” ชอบความแปลกใหม่ ชอบติดตามเทรนด์ ติดตามดารา
การทำตลาดกับคนกลุ่มนี้ จะต้องใช้ดาราดัง และ Influencer ที่อยู่ในกระแสมาช่วยกระตุ้นต่อมซื้อ เช่น รองเท้านิวบาลานซ์ ใช้ดารา ใช้ชมพู่-อารยา พลอย-เฌอมาลย์ ขึ้นอินสตาแกรม รวมถึงกลยุทธ์การใช้ไวรัลมาร์เก็ตติ้งก็สำคัญสำหรับคนยุคนี้ เช่นกรณีของ “พี่มากพระโขนง” ก็เป็นหนึ่งภาพยนตร์ที่ใช้กลยุทธ์โซเชี่ยลมีเดียจนประสบความสำเร็จ
กลุ่มอินเวสเตอร์ เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการลงทุน พฤติกรรมการซื้อสินค้าจะคิดอย่างรอบคอบ ซื้อเพราะความคุ้มค่า คุ้มราคา โดยนำสินค้าและบริการมาเปรียบเทียบจนกว่าจะแน่ใจ การทำตลาดกับคนกลุ่มนี้จะต้องสร้างมูลค่าสินค้า หรือแบรนด์ให้ชัดเจน
โปรโมชั่นต้องชัดเจน ไม่ซับซ้อน
เมื่อดูจากพฤติกรรมของคนเจนเอ็มแล้ว การทำ “โปรโมชั่น” กับคนกลุ่มนี้ ต้องง่ายไม่ซับซ้อน สื่อสารด้วยข้อความง่ายๆ ชัดเจน เช่น สโลแกน ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” และต้องมีเพลงโฆษณามาประกอบ ส่วนแพ็กเกจจิ้งมีสันสดใส และเชื่อมโยงกับสีของแบรนด์ และอย่าลืมบอกคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการให้ชัดเจน
นอกจากนี้คนกลุ่มนี้มักใจร้อน เมื่ออยากได้อะไรต้องได้เดี๋ยวนั้น แคมเปญที่ทำออกมาแล้วประสบความสำเร็จ เช่น พิซซ่า คอมปานี ออกโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1 หรือกรณีของร้านวัตสัน จัดโปรโมชั่น บอกชัดเจนว่า ซื้อชิ้นนี้ ลดเท่าไหร่ ชิ้นต่อไปจะจ่ายเท่าไหร่
ยุทธศาสตร์ครองใจเจนเอ็ม
ส่วนคนทำงานในธุรกิจต้องคลุกคลีอยู่กับเจนเอ็มมาตลอด อย่าง กฤษฎา ชุณศาสตร์ ผู้จัดการทั่วไปและการตลาด บริษัทมีเดีย ทรานส์เอเชีย จำกัด เจ้าของนิตยสารเซเว่นทีน และ กังสดาล เจริญผล แบรนด์เมเนเจอร์ ของรองเท้า Onitsika Tiger ได้บอกเล่าประสบการณ์ และกลยุทธ์ในการทำตลาดกับกลุ่มเจนเอ็มไว้อย่างน่าสนใจ
ทั้งกฤษฎา และกังสดาล สะท้อนภาพรวมของตลาดเจนเอ็มว่า เป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจมาก นอกจากได้เงินจากพ่อแม่แล้ว พวกเขายังต้องการมีธุรกิจของตัวเอง ส่วนใหญ่จะเปิดร้านค้าออนไลน์ขายสินค้าบนเฟซบุ๊ก นิยมสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ ชื่นชอบการเป็นเน็ตไอดอล ถ้าแบรนด์สามารถสื่อสารหรือทำตลาดกับกลุ่มนี้ จะสร้างโอกาสธุรกิจเพิ่มขึ้นได้มาก เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง แต่พฤติกรรมคนกลุ่มนี้ค่อนข้างใจร้อน ขี้เบื่อ ตามกระแสตามเทรนด์ ต้องทันสมัยตลอดเวลา
ที่ผ่านมานิตยสารเซเว่นทีนต้องเตรียมพร้อมให้ทันกับลูกค้าเจนเอ็มตลอดเวลา หนึ่งในกลยุทธ์หลัก คือ การทำโฟกัสกรุ๊ปในกลุ่มนักศึกษาเดือนละครั้ง เพื่อนำข้อมูลพฤติกรรม และความต้องการของลูกค้าเจนเอ็มไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือเนื้อหาให้ทันและเร็วพอกับความต้องการ หรือบางทีต้องนำหน้าเพื่อให้ลูกค้ากลุ่มนี้ รู้เร็ว รู้ก่อน การทำกิจกรรมการตลาดก็เช่นกัน ต้องเลือกทำสิ่งที่ตรงกับความต้องการของคนกลุ่มนี้ เช่น การทำเวิร์คช็อปแฟชั่น หรือให้พิวิเลจ เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขาได้รู้ก่อนใคร ดูเป็นคนพิเศษ
เช่นเดียวกับแบรนด์เมเนเจอร์ Onitsika Tiger ก็ต้องติดตามไลฟ์สไตล์ความชอบของลูกค้ากลุ่มนี้ตลอดเวลา เพื่อนำสินค้าเข้ามาตอบสนองให้ตรงกับความต้องการที่หลากหลาย เช่น นำรุ่นรองเท้าที่มีสีสันมาตอบสนองกลุ่มคนที่ชื่นชอบแฟชั่น หรือคนกลุ่มนี้ชื่นชอบตามดาราหรือคนดังในโซเชี่ยลมีเดีย เจ้าของสินค้าก็ต้องนำแบรนด์ไปอยู่ในที่ที่ลูกค้าชื่นชอบ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม
ส่วนความท้าทายในการทำตลาดเจนเอ็ม ทั้งสองมองว่า ความสนใจของคนเจนเอ็มเปลี่ยนเร็วมาก เพราะคนกลุ่มนี้ชื่นชอบตามเทรนด์ และกระแสยุคนี้มาเร็วไปเร็วมาก ยกตัวอย่าง แอปฯ ติ๊กเกอร์ที่ออกมาดังได้แค่ไม่กี่วัน เวลานี้กระแสก็หายไปแล้ว มาวันนี้ก็ต้องเพลงแน่นอก ของใบเตย กำลังเป็นกระแส หรืออย่าง จุงเบย เวลานี้ก็ไม่พูดกันแล้ว เพราะคนรุ่นนี้มักจะเปิดรับสื่อและกระแสต่างๆ ได้ง่าย แต่ความจงรักภักดีในแบรนด์มีน้อย
การจะสื่อสารทำตลาดกับกลุ่มเจนเอ็มจึงต้องตามให้ทันความชอบ กรณีของนิตยสารเซเว่นทีน ที่กลุ่มเป้าหมายเป็นคนเจนเอ็ม ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย คนกลุ่มนี้อยากมีปฏิสัมพันธ์กับทีมงาน จึงต้องมีการจัดโร้ดโชว์ นำมินิสตูดิโอไปตามมหาวิทยาลัยให้รู้จักทีมงาน และวิธีการทำงาน
ส่วน Onitsika Tiger เป็นแบรนด์รองเท้าที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ด้วยการพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับราคา บางคนอาจมองว่ารองเท้ามีราคาค่อนข้างแพง สิ่งที่แบรนด์ต้องทำ คือ การทำให้ลูกค้าใช้แล้วเกิดความมั่นใจ รักในแบรนด์ จนบอกต่อ ดังนั้นความจริงใจจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างแบรนด์กับลูกค้าเจนเอ็ม
ส่วนข้อควรระวังในการทำตลาดกับลูกค้าเจนเอ็ม ซึ่งเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว เปลี่ยนแปลงเร็ว และคนรุ่นนี้คุ้นเคยกับการใช้โลกออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่เป็นดาบสองคม เพราะทำให้ลูกค้ามีช่องทางร้องเรียนได้ง่าย และคนเหล่านี้เมื่อเกิดข้อผิดพลาด หรือเกิดความไม่พอใจ พวกเขาจะกล้าร้องเรียนบนสื่อออนไลน์ทันที เป็นเรื่องที่แบรนด์ต้องระวัง
เคล็ดลับทำตลาดเจนเอ็ม
1. ต้องทำวิจัย หรือทำโฟกัส กรุ๊ปกับคนกลุ่มนี้ตลอดเวลา
2. คนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอหลากหลาย เช่น ขณะที่ดูทีวีในมือก็มีแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เข้าสู่โลกออนไลน์ตลอดเวลา
3. การทำตลาดคนกลุ่มนี้ต้องมองให้รอบ แบรนด์ต้องเข้าไปในทุกๆ สื่อที่ลูกค้าเจนเอ็มจะไปเจอ
4. ไวรัลมาร์เก็ตติ้ง ยังใช้ได้ดี เช่น ไอศกรีมแม็กนั่ม ที่ประสบความสำเร็จกับการใช้ ไวรัลมาร์เก็ตติ้งบวกกับโซเชี่ยลมีเดีย โดยให้ดาราดังอย่าง ชมพู อนันดา กินแม็กนั่มขึ้นอินสตาแกรม
5. การวางขายสินค้า และการทำโปรโมชั่น ณ จุดขาย ต้องชัดเจน
6. ยุคนี้ต้อง User Generate Content หมดยุค Branded Content ที่แบรนด์นำสินค้าไป Tie-in ในรายการต่างๆ เนื่องจากคนเจนเอ็มสามารถสร้างตัวตนเป็นคนดังในโลกออนไลน์ จนเกิดมีคลิปให้เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นสิ่งที่แบรนด์และโปรดักต์ต้องทำ คือ การสนับสนุนให้เขามีตัวตน เช่น การส่งเสริมให้มีการจัดประกวดต่างๆ
Tips รับมือเรื่องร้ายๆ บนเฟซบุ๊ก
1. เมื่อมีข้อร้องเรียนเข้ามา ควรใช้ภาษาแบบเพื่อนคุยกับเพื่อน อย่าทำตัวเป็นแบรนด์ ควรทำตัวเป็นบุคคล
2. ให้ยอมรับผิดไว้ก่อน
3. การตอบกลับต้องเร็วที่สุด ถ้าวิกฤติมากๆ ไม่ควรเกิน 30 วินาที
4. อย่าตอบคำถามแบบตอบรวม ต้องตอบทีละคำถาม
5. ให้อินเซนทีฟเพิ่มกับคนที่เข้าต่อว่า