เสี่ยวหมี่โมเดล! ผลิตแบบ Apple หาเงินแบบ Amazo

พลวัตรในโลกแหล่งเทคโนโลยีของจีนแผ่นดินใหญ่หมุนไวกว่าพายุไต้ฝุ่น ใครจะไปคิดว่าบริษัทที่อายุเพียง 3 ปีอย่าง “เสี่ยวหมี่ (Xiaomi หรือ 小米)” จะถูกสื่อตะวันตกตีราคาให้มีมูลค่าถึง 3.2 แสนล้านบาท!

“เหลย จุน” หนึ่งในผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเสี่ยวหมี่ย้ำว่ากลยุทธ์ของบริษัทก็คือ “กังฟูจีน” ที่หมายถึงเร่งสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่เจ๋งสุดในเวลาที่เร็วที่สุด ที่สำคัญคือ ราคาถูกที่สุด

ถึงตอนนี้เราไม่สามารถนั่งเช็กลิสต์สินค้าและบริการของบริษัทเสี่ยวหมี่ได้ทั้งหมด เพราะนอกจากมือถือสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ 3 รุ่นแล้ว ยังมีตัวเครื่องและกล่องสมาร์ททีวีอย่าง “หมี่เหอจึ” และ “หมี่ทีวี” รวมไปถึงแอปฯ แชตอย่าง “หมี่เหลียว” และอุปกรณ์เสริมหลายร้อยรายการที่พร้อมออเดอร์ออนไลน์ที่ www.xiaomi.com

ปีแรกคนเดาว่าเสี่ยวหมี่คือแอปเปิลจีน แต่เวลาผ่านไปโมเดลธุรกิจของเสี่ยวหมี่เริ่มชัดเจนขึ้น ซึ่งวันนี้เราพร้อมแจกแจกให้คุณได้รับทราบอย่างละเอียดเลยทีเดียว!

สเปคไฮโซ ราคาซานไจ้

เมื่อขายสินค้าเทคโนโลยี ผู้บริโภคย่อมตัดสินที่สเปคและฟีเจอร์ของสินค้า ดังนั้นเพื่อการได้ใจผู้บริโภค เสี่ยวหมี่จับมือกับโรงงาน OEM ไต้หวัน เช่น มือถือผลิตจากหงไห่ (Foxconn) โรงงานเดียวกับแอปเปิล สมาร์ททีวีโรงงานเดียวกับโซนี่ เพื่อการันตีคุณภาพและความไฮเทคของสินค้า แต่ราคากลับหั่นเหลือเพียง 1 ใน 3 ของแบรนด์ดัง! ซึ่งถือว่าแพงกว่า “ของเก๊” (ภาษาจีนเรียกติดปากว่าซานไจ้) ไม่เท่าไหร่ จึงไม่แปลกใจที่ผู้บริโภคจะอ้าแขนรับได้ง่ายๆ เช่น มือถือแอนดรอยด์ 16 กิกฯ จอ 5 นิ้ว กล้อง 8 ล้านพิกเซล ราคาเพียง 1 หมื่นบาท จอทีวี 3 มิติ 47 นิ้ว ราคาเพียง 15,000 บาท กล่องสมาร์ททีวี สตรีมหนังและซีรีส์เป็นพันๆ เรื่องด้วยความคมชัดสูง ราคาเพียง 2,000 บาท เป็นต้น

และสำหรับปีนี้ทางเสี่ยวหมี่ตั้งเป้าว่าจะขายมือถือของตนให้ยอดทะลุ 20 ล้านเครื่อง! ตัวเลขนี้ทำให้แอปเปิลรู้ซึ้งดีว่าเสี่ยวหมี่ไม่ได้มองตนเป็นคู่แข่งอีกต่อไป

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ กลยุทธ์การขายของเสี่ยวหมี่ ที่เน้นการปรับต้นทุนให้ต่ำที่สุด จึงเลือกขายผ่านเว็บของตัวเอง (www.xiaomi.com) เว็บขายของพันธมิตรอย่างเท็นเซ็นต์ และโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กดังอย่าง “เวยป๋อ” เท่านั้น ไม่มีหน้าร้านในโลกออฟไลน์แต่อย่างใด

ดูคลิปวิดีโอเปิดตัวมือถือเสี่ยวหมี่รุ่น 3 และหมี่ทีวี สมาร์ททีวีหลากสีโลว์คอร์สได้ที่นี่

หากำไรจากคอนเท้นต์

เสี่ยวหมี่ย้ำชัดว่าโมเดลการสร้างสินค้าถึงแม้จะตามแบบแอปเปิล แต่วิธีการหารายได้เลือกที่จะเป็นแบบแอมะซอน เพราะฮาร์ดแวร์ไม่ว่าจะมือถือ แท็ปเบล็ต หรือ ทีวี ก็เป็นเพียงแค่สื่อ แต่สารที่ผู้บริโภคเสพต่างหากที่สำคัญกว่า นั่นคือ เน้นการหารายได้จากคอนเท้นต์ และที่ผ่านมาแอปสโตร์ของเสี่ยวหมี่เองมียอดโหลดทะลุ 1,000 ล้านครั้งแล้ว (เดือนที่แล้วมียอดขายทะลุ 100 ล้านบาท) ซึ่งสินค้าก็มีตั้งแต่ธีม แอปฯ และของเล่นในแอปฯ โดยการตั้งราคาของคอนเท้นต์ก็ไม่่ต่างจากแอปเปิล คือ เริ่มต้นที่ 30 บาท โดยรูปแบบการจ่ายเงินซื้อคอนเท้นต์ก็เป็นแบบการเติมเงินจาก Alipay, มือถือ, บัตรเครดิต เพื่อแลกเป็นสกุลเงินของตัวเองเรียกว่า “หมี่ปี้” (1 หมี่ปี้=1หยวน) ในการช้อปสินค้าทุกอย่างบนเว็บ xiaomi.com

สร้างเฟิ่นซือ เข้าใจลูกค้า

ต้องเข้าใจก่อนว่ากว่าเสี่ยวหมี่จะมีวันนี้ ไม่ใช่ความฟลุค เพราะทางบริษัทได้สร้างฐานแฟนนักพัฒนาโปรแกรมที่จงรักภักดีกับแบรนด์ไว้มากมายทั่วโลก (แฟนๆ ในภาษาจีนเรียกว่า เฟิ่นซือ) ตั้งแต่สมัยยังไม่ได้ผลิตมือถือ และเพิ่งมีแต่ MIUI หรือโปรแกรมที่ออกแบบหน้าตาเมนูของแอนดรอยด์ ซึ่งวันนี้นอกจากที่จีนยังมีเว็บไซต์เสี่ยวหมี่ในประเทศต่างๆ ถึง 17 เว็บไซต์ใน 17 ประเทศ เป็นอาสาสมัครคอยดูแลเรื่องการอัปเดทเฟิร์มแวร์ และการออกแบบเมนูของเสี่ยวหมี่เป็นภาษาต่างๆ เพื่อให้เข้ากับผู้ใช้ในแต่ละท้องถิ่น โดยที่แบรนด์ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างนักพัฒนาแต่อย่างใด เห็นถึงพลังของ Crowd Sourcing ได้อย่างชัดเจน ซึ่งพลังของแฟนๆ ที่กระตือรือร้นอยากช่วยพัฒนาโปรแกรมของเสี่ยวหมี่นั่นเอง ทำให้มือถือของเสี่ยวหมี่มีการอัปเดทฟีเจอร์ใหม่ๆ ทันคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา

และล่าสุดโปรเจคใหญ่ของเสี่ยวหมี่คือ การสร้างระบบปฏิบัติการของตนเองในชื่อ MIOS เป็นระบบปฏิบัติการเสมือนจริงที่ทำงานด้วยเบราว์เซอร์ ใช้รากฐานของลินุกซ์ คาดว่าจะออกพร้อมกับมือถือเสี่ยวหมี่รุ่นที่ 4 ภายในเดือนกันยายนปีหน้า

ดูวิดีโอแนะนำ MIUI รุ่น 5 ได้ที่นี่

เสี่ยวหมี่กับการโกอินเตอร์

ในจีนชื่อของเสี่ยวหมี่ดังไม่แพ้แอปเปิ้ล แต่ที่อเมริกาเพิ่งจะรู้จักฤทธิ์ของเสี่ยวหมี่เมื่อบริษัทประกาศดึงตัว “ฮิวโก บาร์ร่า (Hugo Barra)” ผู้บริหารของผลิตภัณฑ์แอนดรอยด์จากกูเกิลมานั่งทำงานที่ปักกิ่ง เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาสินค้าให้เทียบชั้นเวิร์ลคลาส

อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงการเข้าตลาดหลักทรัพย์ซีอีโอก็ย้ำชัดว่า ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ยังไม่เข้าแน่นอน เพราะเกรงว่าคนทั่วไปยังไม่รู้ซึ่งถึง “โมเดลของเสี่ยวหมี่” ได้อย่างดีพอ

แต่แผนของเสี่ยวหมี่ภายใน 5 ปีนี้ก็เตรียมการโกอินเตอร์เอาไว้แล้ว โดยเฉพาะกับตลาดที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจใหม่ อย่าง อินโดนีเซีย อินเดีย ลาตินอเมริกา เป็นต้น

แบรนด์และสินค้าของเสี่ยวหมี่ เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่าความสามารถจำเพาะของชาวจีนในการ Adopt และ Adapt เทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อป้อนตลาดท้องถิ่นได้ดีกว่าฝรั่ง อย่างไรก็ดีความสำเร็จของเสี่ยวหมี่ก็ยังมีอีกหลายฝ่ายที่ได้ประโยชน์ตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น “เทมาเส็ก” จากสิงคโปร์ที่ร่วมทุนมาแต่แรกก่อตั้ง และอีกหลายบริษัท OEM ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จากไต้หวันนั่นเอง