วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 นับเป็นวันเฉลิมฉลองวันแรงงานแห่งชาติปีแรกที่แรงงานในประเทศไทยได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาอยู่ในอัตราเท่ากันที่ 300 บาทต่อวันทั่วทั้งประเทศนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องจากการปรับนำร่องใน 7 จังหวัดไปแล้วก่อนหน้านั้น ซึ่งสำหรับลูกจ้างผู้ใช้แรงงานแล้วย่อมเป็นการยกระดับมาตรฐานรายได้ให้สอดรับมากขึ้นต่อค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างแรงงานอย่างก้าวกระโดดนี้ ในแง่หนึ่งก็อาจส่งผลกระทบบางด้านตามมา เช่น ผู้ประกอบการไทยย่อมมีต้นทุนแรงงานสูงขึ้น และมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของสินค้าบางกลุ่มได้ ขณะเดียวกันก็อาจมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติในการเลือกประเทศเป้าหมายการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ยังต้องการอาศัยประโยชน์จากแรงงานต้นทุนต่ำ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการติดตามและรวบรวมประเด็นของสถานการณ์ตลาดแรงงานล่าสุดไว้ดังนี้
• เครื่องชี้สถานการณ์ในตลาดแรงงาน ยังไม่สะท้อนผลกระทบที่ชัดเจนนัก แม้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน จะมีผลโดยสมบูรณ์มาระยะหนึ่งแล้ว โดยอัตราการว่างงานล่าสุดยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเพียงร้อยละ 0.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งอาจเป็นตัวสะท้อนว่า สภาพความตึงตัวของตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานพื้นฐาน (ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ) ทำให้เกิดสถานการณ์การปรับตัว โดยที่สาขาการผลิต ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และบริการบางประเภท อาทิ บริการที่พักแรมและร้านอาหาร ที่ขาดแคลนแรงงาน เป็นส่วนที่สามารถดูดซับแรงงานบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างในสาขาการผลิตอื่น และทำให้จำนวนผู้ถูกเลิกจ้างไม่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน เห็นได้จากจำนวนผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องมาจากการถูกเลิกจ้างในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งอยู่ที่ 4,975 คน ไม่แตกต่างจากในช่วงเดียวกันของปี 2554 ซึ่งตลาดแรงงานไทยไม่มีปัจจัยพิเศษเข้ามากระทบดังเช่นในปี 2555 ที่อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากวิกฤตน้ำท่วม
• นอกจากนี้ คงต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการในหลายๆ ธุรกิจได้มีการเตรียมการเพื่อปรับตัวต่อต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น อาทิ
– การลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่ช่วยลดการใช้แรงงานคน ซึ่งอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระยะนี้ ก็อาจช่วยให้ต้นทุนในการซื้ออุปกรณ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถูกลงด้วย
– การพัฒนาระบบการทำงานหรือทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้กระบวนการทางธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน แรงงานบางส่วนก็อาจยอมรับกับเงื่อนไขการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป (เช่น สวัสดิการ และค่าจ้างทำงานล่วงเวลา) เพื่อรักษาตำแหน่งงานไว้
– การวางแผนบริหารจัดการด้านต้นทุน โดยหันไปลดต้นทุนด้านอื่นๆ เพื่อชดเชยกับค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่เพิ่มขึ้น
การปรับตัวของธุรกิจดังกล่าว น่าจะมีส่วนช่วยให้ความต้องการแรงงานเพื่อนำไปสร้างผลผลิตต่อหน่วยในระบบเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มลดลง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2556 จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 (ค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7) ซึ่งถ้าหากทั้งปี 2556 จำนวนผู้มีงานทำยังคงเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.2 ดังกล่าว ขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 4.8 ตามการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (ค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เติบโตร้อยละ 4.3) จะทำให้ผลิตภาพแรงงานไทยในปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลิตภาพหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2556 อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องยอมรับว่า อาจยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนแรงงานได้ทั้งหมด (ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 32 ในปี 2556) ซึ่งก็ยังเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการยังต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานต่อเนื่องต่อไปอีก
• สถานการณ์ตลาดแรงงานในระยะข้างหน้า…ยังอ่อนไหวต่อหลายปัจจัยกดดัน แม้ ณ เวลานี้ ภาพรวมของภาคการจ้างงานไทย จะยังไม่ปรากฎสัญญาณของผลกระทบที่น่ากังวลใจอย่างชัดเจนนัก แต่คงต้องยอมรับว่า การยืนระดับของต้นทุนค่าจ้างจะยังคงเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการที่ต้องเตรียมรับมือ ไปพร้อมๆ กับหลายปัจจัยกดดัน อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างรวดเร็วเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่เป็นประเทศคู่แข่ง ตลอดจนการทยอยปรับตัวขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ/เชื้อเพลิงบางประเภท ซึ่งอาจส่งผลทำให้บรรยากาศการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2556 มีความอ่อนไหวมากขึ้น ทั้งนี้ แรงกดดันดังกล่าว นอกจากจะมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีรายได้หลักมาจากตลาดต่างประเทศ และธุรกิจที่ต้องรับมือกับสภาพการแข่งขันที่เข้มข้นจากคู่แข่ง รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่อาจไม่สามารถแบกรับสถานการณ์ที่ผันผวนของหลายปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องเป็นเวลานานแล้ว ยังอาจมีผลทางอ้อมให้แรงงานบางกลุ่มมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง และ/หรือเผชิญความยากลำบากในการหางานทำอีกด้วย
โดยสรุป แม้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จะมีการทยอยปรับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่มาเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ อาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีข้อมูลตัวเลขที่ปรากฏให้เห็นถึงผลกระทบในทางลบอย่างชัดเจนนัก เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากภาวะการขาดแคลนแรงงานในหลายๆ สาขาการผลิต/บริการ ยังช่วยดูดซับกำลังแรงงานใหม่ และแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไว้ได้บ้างบางส่วน
กระนั้น ผลของกระบวนการปรับตัวของธุรกิจอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าที่จะเห็นผลกระทบที่แท้จริง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ธุรกิจเผชิญแรงบีบคั้นอื่นๆ อีกหลายด้าน โดยในระยะสั้น ความซบเซาของเศรษฐกิจคู่ค้า ความผันผวนของค่าเงินบาท และแรงกดดันด้านต้นทุน อาจทำให้ผู้ประกอบการในหลายๆ อุตสาหกรรม (โดยเฉพาะ SMEs ในภาคการส่งออก) ยังคงต้องรับมือกับแนวโน้มที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นในระยะข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการว่างงานของไทยในปี 2556 ยังคงมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7-0.9) จากร้อยละ 0.7 ในปี 2555
สำหรับในระยะต่อไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ภาคแรงงานไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันของภาคธุรกิจ โดยแรงงานคงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ควรต้องอบรม/ฝึกฝนบุคลากรของตนให้มีทักษะความชำนาญเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ภาครัฐบาลก็คงต้องดำเนินบทบาทในการยกระดับปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อคุณภาพแรงงาน กำหนดทิศทางการผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและทิศทางการพัฒนาประเทศ ลดการพึ่งพาแรงงานทักษะระดับล่าง แก้ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานแรงงานในตลาด ตลอดจนเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะผู้ใช้แรงงานเพื่อยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ รวมทั้งต้องพัฒนาแนวทางการคุ้มครองและสวัสดิการแรงงานให้เป็นมาตรฐานสากลและมีความเท่าเทียมกัน เพื่อให้ภาคแรงงานไทยมีความแข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ต่อไป