สัญญาณการใช้จ่ายภายในประเทศที่อาจจะแผ่วลงตามการทยอยหมดผลของปัจจัยหนุนพิเศษดังเช่นในปีก่อน และสถานการณ์ที่ท้าทายของการฟื้นตัวในภาคการส่งออกและภาคการผลิต ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะโน้มชะลอลงตลอดทั้งครึ่งแรกของปี 2556 โดยจีดีพีอาจขยายตัวในระดับประมาณร้อยละ 5.3 (YoY) ในช่วงไตรมาส 1/2556 ก่อนจะชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.3 ในช่วงไตรมาสที่ 2/2556
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุด
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนมี.ค. 2556 สะท้อนภาพการหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า (MoM) ของภาวะการใช้จ่ายในประเทศหลายตัว ยกเว้น ปริมาณจำหน่ายยานยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง ที่น่าจะได้รับอานิสงส์ตามการส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อค้างจอง และกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และการนำเข้าเครื่องจักร/อุปกรณ์ และสินค้าทุนอื่นๆ ขณะที่ การขยายตัวของสินเชื่อชะลอลงทั้งในส่วนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังและเข้มงวดกับการให้สินเชื่อมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม กลับมาปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (MoM) ในเดือนมี.ค. 2556 ซึ่งแม้อาจสะท้อนภาพที่ดีกว่าการใช้จ่ายในประเทศ แต่กระนั้น ยังคงต้องติดตามความต่อเนื่องของสัญญาณการขยายตัว เนื่องจากเส้นทางการฟื้นตัวในช่วงเริ่มแรกของภาคการส่งออกและการผลิตของอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศเป็นตลาดหลักนั้น ยังอาจไม่ราบรื่นมากนัก ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจคู่ค้า และหลายตัวแปรความเสี่ยงที่อาจส่งผลกดดันต่อบรรยากาศการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการหลายกลุ่ม
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งแรกปี 2556
ภาพรวมของทิศทางเศรษฐกิจไทย…สะท้อนภาวะการชะลอตัวกลับมาสู่ระดับปกติ หลังจากแรงกระตุ้นที่เป็นปัจจัยเร่งการเติบโตมาตลอดช่วงปีก่อนหน้าเริ่มทยอยสิ้นสุดลง (เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการบูรณะความเสียหายจากอุทกภัย) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การฟื้นตัวที่ยังไม่สมบูรณ์ของสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เมื่อประกอบเข้ากับสภาพการแข่งขันที่กดดันจากประเทศคู่แข่ง การใช้เวลาในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ตลอดจนประเด็นเรื่องค่าเงินบาท ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกดดันต่อทิศทางการส่งออกในระยะข้างหน้า (หลังจากขยายตัวเพียงร้อยละ 4.5 YoY ในไตรมาส 1/2556) ส่วนในด้านอุปสงค์ภายในประเทศ น่าจะสะท้อนภาพของแรงส่งที่แผ่วลง (การส่งมอบรถยนต์ตามโครงการรถคันแรกน่าจะทยอยลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปี) ขณะที่ เม็ดเงินลงทุนของภาครัฐ ในส่วนที่นอกเหนือไปจากการเบิกจ่ายตามงบประมาณ อาจต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะสามารถเริ่มผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้จริง
จากเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนที่มีการรายงานออกมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/2556 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 5.3 (YoY) ชะลอลงจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 18.9 (YoY) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องมาที่ร้อยละ 4.3 (YoY) ในไตรมาส 2/2556 ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ทิศทางค่าเงินบาท ภัยแล้ง และภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่ยังอาจทยอยเพิ่มสูงขึ้น