ตลาดเครื่องปรับอากาศปี’56 …อาจโตถึงร้อยละ 21 ตามการเติบโตของคอนโดมิเนียม และสภาพอากาศร้อน

เมื่อย้อนกลับไปปี 2555 ที่ผ่านมายอดขายเครื่องปรับอากาศในประเทศมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแรงซื้อเครื่องปรับอากาศเพื่อทดแทนเครื่องที่ชำรุดจากผลกระทบน้ำท่วมในปี 2554 อากาศที่ร้อนขึ้น การขยายตัวของที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดมีเนียมในเขตหัวเมืองใหญ่ มาตรการบ้านหลังแรกของรัฐบาล ส่งผลให้ตลาดเครื่องปรับอากาศโดยรวมของปี 2555 มีมูลค่า 21,213 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 31.5 และมีจำนวนยอดขายเครื่องปรับอากาศประมาณ 1.3 ล้านเครื่อง ขยายตัวร้อยละ 27.2

สำหรับแนวโน้มโดยรวมในปี 2556 นั้น น่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนหลากหลาย เช่น การเติบโตของคอนโดมิเนียมที่น่าจะขยายตัวต่อเนื่อง และอากาศร้อนที่มาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา กระแสการประหยัดพลังงานซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวก่อนหน้า เป็นผลให้แนวโน้มเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์มีสัดส่วนการจำหน่ายสูงขึ้น การออกโปรโมชั่นทางการตลาดของผู้ผลิตเพื่อจูงใจผู้บริโภค เป็นต้น จะเห็นได้จากยอดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ 2 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 248,161 เครื่อง ขยายตัวร้อยละ 21.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

เครื่องปรับอากาศปี 2556…แนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มโดยรวมในปี 2556 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศปี 2556 นี้ น่าจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้

แนวโน้มการเติบโตของที่อยู่อาศัยต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า
แนวโน้มที่อยู่อาศัยปี 2556 คาดว่า จะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2555 โดยที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล น่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่แล้วในระดับ 100,000 ยูนิต นอกจากนี้ สำหรับที่อยู่อาศัยตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เช่น อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา เป็นต้น ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวอย่างคึกคัก คาดว่า จำนวนห้องชุดสร้างเสร็จทั่วประเทศในปี 2556 จะมีประมาณ 80,000-85,000 หน่วย เพิ่มขึ้นเทียบกับปี 2555 ที่มี 74,100 หน่วย ซึ่งทำให้ความต้องการเครื่องปรับอากาศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

แนวโน้มสภาพอากาศร้อนขึ้นที่มาเร็วกว่าปกติ
จากข้อมูลกรมอุตนิยมวิทยา อุณหภูมิสูงสุดของเดือนมีนาคมปีนี้ซึ่งเป็นต้นฤดูร้อนได้ทำสถิติสูงสุดในรอบหลายสิบปีของช่วงเวลาเดียวกันในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น กรุงเทพฯ อุณหภูมิทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 40.1 องศาเซลเซียส สูงสุดในรอบ 62 ปี เป็นต้น ในขณะที่ อุณหภูมิก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึงกลางเดือนเมษายน แสดงถึงสภาพอากาศที่ร้อนจัดของฤดูร้อนปีนี้ที่มาเร็วกว่าปกติ ทำให้ยอดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศขยายตัวสูงในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็มีแนวโน้มจะซื้อเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น แม้ว่าหลายๆครัวเรือนจะมีเครื่องปรับอากาศแล้วก็ตาม ส่งผลให้ตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศมีความคึกคักขึ้นอย่างมาก หลายๆตัวแทนจำหน่ายมีปัญหาช่างติดตั้งไม่เพียงพอกับความต้องการเครื่องปรับอากาศในช่วงฤดูร้อนนี้

กำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างจังหวัดสูงขึ้น
กำลังซื้อในต่างจังหวัดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากหลายๆปัจจัย โดยเฉพาะการขยายตัวของธุรกิจทั้งภาคการผลิตและบริการสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของการค้าชายแดนที่ขยายตัวสูง โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดชายแดนพม่า ลาว และกัมพูชา อีกทั้งการลงทุนและนโยบายเพิ่มรายได้ประชาชนของภาครัฐจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ประชาชนในต่างจังหวัดมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะทำให้ยอดขายในต่างจังหวัดเติบโตสูง เนื่องจากจำนวนเครื่องปรับอากาศต่อครัวเรือนมีอัตราที่ต่ำในต่างจังหวัด เมื่อเทียบกับตลาดในกรุงเทพและปริมณฑล จึงมีช่องว่างที่จะขยายตัวได้อีกมาก

การขยายตัวของช่องทางการจัดจำหน่าย
เนื่องจากการขยายตัวของที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะดิสเคาน์สโตร์และห้างสรรพสินค้ามีการลงทุนออกไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งในปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนสาขาดิสเคาส์สโตร์จะขยายตัวถึงร้อยละ 8-10 และห้างสรรพสินค้าจะขยายตัวถึงร้อยละ 10-13 ทำให้ช่องทางการจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศน่าจะขยายตัวไปด้วยกับช่องทางดังกล่าว ทั้งนี้ อีกช่องทางหนึ่งที่น่าจับตามองคือ ช่องทางขายตรง (Direct sales) ซึ่งกำลังได้รับการตอบรับที่ดีในลูกค้าต่างจังหวัด ซึ่งใช้กลยุทธ์การขายเข้าถึงลูกค้าแต่ละรายถึงที่บ้านและมีโปรโมชั่นเงินผ่อน นอกจากนี้ การเปิด 3G ความนิยมสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของผู้บริโภค ยังทำให้การซื้อเครื่องปรับอากาศผ่านค้าปลีกออนไลน์มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

การแข่งขันกระตุ้นตลาดโดยค่ายหลักอย่างญี่ปุ่น เกาหลี และจีน
จากอุณหภูมิที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ตลาดเครื่องปรับอากาศมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น เป็นแรงดึงดูดให้เครื่องปรับอากาศแบรนด์จีนชั้นนำ เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อรุกตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเจาะตลาด ด้วยการใช้กลยุทธ์ด้านราคา เช่น ราคาเครื่องปรับอากาศขนาด 9000 BTU/ชั่วโมง แบรนด์จีนประมาณ 11,000 บาท ซึ่งมีราคาต่ำกว่าแบรนด์ญี่ปุ่นอยู่ราวร้อยละ 20 และต่ำกว่าแบรนด์เกาหลีอยู่ราวร้อยละ 10 เป็นต้น และยังเพิ่มระยะเวลาการรับประกันที่ยาวนานขึ้น ทำให้แบรนด์ดังอย่างญี่ปุ่นและเกาหลี ต้องปรับตัวโดยเพิ่มความหลากหลายของรุ่นสินค้าเพื่อจับกลุ่มตลาดแตกต่างกันไป พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ การออกแคมเปญกระตุ้นการซื้อ เช่น ระบบผ่อนศูนย์เปอร์เซ็นต์ การจ่ายค่าไฟฟ้าให้เดือนแรก เป็นต้น ตลอดจนการตอกย้ำผู้บริโภคถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด

นอกเหนือจากปัจจัยสนับสนุนต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น การขยายตัวของตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศปี 2556 ยังคงต้องจับตามองปัจจัยท้าทายจากแรงกดดันของหนี้ภาคครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากภาระการผ่อนชำระรถยนต์คันแรกและบ้านหลังแรกที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากปีก่อนหน้า รวมถึงราคาสินค้าต่างๆที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งปัจจัยค่าครองชีพและภาระหนี้ของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอาจมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้อาจมีการชะลอการซื้อเครื่องปรับอากาศออกไป

จากแนวโน้มและปัจจัยสำคัญต่างๆดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของมูลค่าเครื่องปรับอากาศในประเทศปี 2556 จะมีมูลค่าประมาณ 24,230-25,700 ล้านบาท หรือมีมูลค่าขยายตัวประมาณร้อยละ 14.2-21.1 และมีปริมาณการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ 1.5-1.6 ล้านเครื่อง หรือขยายตัวร้อยละ 10.7-17.4 อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวดังกล่าว ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัวร้อยละ 27.2 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงในปี 2555 ซึ่งเป็นผลจากแรงหนุนที่สำคัญ เช่น การซื้อเพื่อทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วมปี 2554 มาตรการบ้านหลังแรกของรัฐบาล เป็นต้น

แนวโน้มตลาดที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบกระแสผู้บริโภค

จากสภาพการแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรงในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตต้องมีการพัฒนาเครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกเหนือจากเรื่องความเย็น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด เพิ่มยอดขาย และพยายามตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่กระแสการประหยัดพลังงานและการใส่ใจต่อสุขภาพกำลังเป็นปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคในยุคนี้ให้ความสำคัญ ในด้านการประหยัดพลังงาน เครื่องปรับอากาศที่ใช้เทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ กำลังมีสัดส่วนการจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้มีการใช้นานแล้วในประเทศญี่ปุ่น และกลายเป็นกฎข้อบังคับ สำหรับการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศในญี่ปุ่นจะต้องเป็นระบบอินเวอร์เตอร์เท่านั้น สำหรับประเทศไทยเอง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์สัญชาติไทยขึ้น และอีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจ คือ ระบบป้องกันเชื้อโรค ซึ่งทาง สวทช. ก็ได้มีการวิจัยพัฒนาแผ่นกรองอากาศมัลติฟังก์ชั่น (iGUARD nano) ที่มีจุดเด่นในการฆ่าเชื้อโรคในระดับนาโน อีกทั้งยังสามารถตัดเป็นขนาดที่ต้องการได้ (iGUARD nano flexi) นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีเทคโนโลยีด้านอื่นที่น่าสนใจ คือ ความสะดวกในการใช้งาน เช่น การสั่งงานเปิด-ปิด ปรับอุณหภูมิทางสมาร์ทโฟนได้แม้ไม่อยู่บ้าน เป็นต้น เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศอาจเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตสินค้าเครื่องปรับอากาศสัญชาติไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ การพัฒนาสินค้าดังกล่าวนอกเหนือจากสามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ตัวสินค้าอีกด้วย