ส่องค้าปลีกเวียดนาม … โดดเด่นรับ AEC โอกาสของผู้ประกอบการค้าปลีกไทย

หลังจากที่ “เวียดนาม” ได้ยกเลิกข้อห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุนในสาขาค้าปลีกและจัดจำหน่าย โดยให้ถือหุ้นได้ในสัดส่วนร้อยละ 100 เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ประกอบกับเวียดนามเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูง จากจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน อีกทั้งกำลังซื้อของคนเวียดนามที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ทำให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนไทย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเข้าลงทุนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม ยังคงต้องมีการพิจารณาปัจจัยหลายๆ มิติ โดยเฉพาะอุปสรรคและความท้าทายทั้งในด้านของกฎระเบียบ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่อาจจะยังไม่พร้อม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

ค้าปลีกเวียดนามยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก … โอกาสของผู้ประกอบการไทย

แม้ว่าเวียดนามจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และการขาดดุลทางการค้า แต่ถึงกระนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า เวียดนามยังคงเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เน้นจับตลาดผู้บริโภคในประเทศ อย่างธุรกิจค้าปลีกที่นับว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีโอกาสในการเติบโตสูง โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 ค้าปลีกเวียดนามมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 13.3 (YoY) ซึ่งไม่แตกต่างมากนักจากภาพการเติบโตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามขยายตัวเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19.5 หรือมีมูลค่าตลาดกว่า 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่า จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการเปิดเสรี AEC โดยปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ค้าปลีกเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และน่าลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทย มีดังนี้

• จำนวนประชากร และการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ด้วยตลาดเวียดนามที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน และเป็นประชากรวัยหนุ่มสาวกว่าร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ประกอบกับการขยายตัวของความเป็นเมืองที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนเวียดนามที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกเวียดนามให้เติบโตขึ้น

• รายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 10.9 (2010-2015) หรืออยู่ที่ประมาณ 1,965 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ภายในปี 2015 สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของคนเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถึงแม้ว่าสัดส่วนของค่าใช้จ่ายจะยังคงเป็นอาหารและเครื่องดื่ม แต่การหันมารับประทานอาหารนอกบ้าน การใส่ใจในเรื่องของสุขภาพก็มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน กลุ่มวัยรุ่นชาวเวียดนามก็หันมานิยมซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในหมวดความงามและสุขภาพ รวมไปถึงสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่รวมเรียกกันว่าสินค้าในหมวด Non-grocery

• สัดส่วนของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ต่อประชากรเมืองยังมีไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับบางประเทศในอาเซียน แม้ว่าคนเวียดนามยังคงมีพฤติกรรมการใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม แต่เชื่อว่า ภายหลังจากการเปิดเสรี AEC สัดส่วนของผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไปน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของคนเวียดนามที่เปลี่ยนแปลงไป โอกาสที่จะหันมาใช้จ่ายผ่านร้านค้าปลีก Modern Trade ก็น่าจะมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จำนวนร้านค้าปลีก สมัยใหม่ของเวียดนามต่อประชากรเมืองยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับจำนวนร้านค้าปลีกในบางประเทศอย่างไทย ซึ่งมียอดค้าปลีกต่อประชากรต่อปีในระดับที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น เวียดนามจึงเป็นประเทศที่ยังมีโอกาสในการขยายการลงทุนธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

การแข่งขันที่รุนแรง กฎระเบียบ/ข้อจำกัดในการลงทุน … ความท้าทายของผู้ประกอบการไทย

ความโดดเด่นของตลาดค้าปลีกเวียดนาม นำมาซึ่งแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนไทยสนใจเข้าไปขยายการลงทุนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม คงต้องเผชิญการแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกต่างชาติขนาดใหญ่จากหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซียที่ได้เข้าไปจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามแล้ว และมีแผนขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จาก การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในหมวด ธุรกิจขายปลีกขายส่งในเวียดนามปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวกว่าร้อยละ 55 (YoY) ในขณะเดียวกันแม้ว่าเวียดนามจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ในสัดส่วนร้อยละ 100 แต่ก็ยังมีกฎระเบียบหรือข้อจำกัดในการลงทุน ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา อาทิ การทำธุรกิจจัดจำหน่าย หรือเปิดร้านค้าปลีก จะต้องทำการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐของเวียดนาม หรือถ้าจะมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากทางการเวียดนามก่อน เป็นต้น

จับมือพันธมิตรท้องถิ่น ปรับ Model ธุรกิจให้เหมาะสมกับทำเลและกลุ่มเป้าหมาย … สิ่งสำคัญในการเจาะตลาดค้าปลีกเวียดนาม

แม้ว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เหมาะสมในการขยายการลงทุนธุรกิจค้าปลีก แต่จากอุปสรรคโดยเฉพาะด้านกฎระเบียบข้างต้น ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในลักษณะของการออกไปตั้งร้านค้าปลีกในต่างประเทศนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเวียดนาม เนื่องจากยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ และยิ่งถ้าเป็นนักลงทุนต่างชาติด้วยแล้ว การเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือความรู้ความเชี่ยวชาญในโครงสร้างของธุรกิจค้าปลีกในแต่ละประเทศ อาจจะเสียเปรียบผู้ประกอบการท้องถิ่น หรือต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาทำความเข้าใจตลาดนานพอสมควร ดังนั้น การแสวงหา “พันธมิตร” ทางการค้ากับผู้ประกอบการท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำตลาด น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ โดยไทยอาจจะอาศัยความชำนาญในระบบโครงสร้างของธุรกิจ รวมถึงความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีมากกว่า เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ น่าจะทำให้การทำธุรกิจง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนการดำเนินการในระยะแรก และลดความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจได้

สำหรับรูปแบบการเข้าไปลงทุนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะเริ่มต้นผู้ประกอบการอาจจะศึกษาและทดลองตลาดโดยใช้รูปแบบการจัดตั้งร้านค้าปลีกในลักษณะสเปเชียลตี้สโตร์ (Specialty Store) อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้าง หรือร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ซึ่งใช้ขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่นัก อีกทั้งยังเหมาะสมกับกำลังซื้อในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของคนที่มีรายได้ปานกลางได้ดี โดยผู้ประกอบการจะต้องเจาะตลาดในบางพื้นที่ที่มีศักยภาพ