การส่งออกเดือนพ.ค.2556 หดตัว 5.25% ทั้งปี 2556 อาจขยายตัวเพียง 4.0%

การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.2556 สะท้อนภาพความอ่อนแอของสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน ซึ่งขณะนี้เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนพ.ค. พลิกกลับมาหดตัวลงอีกครั้งในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 5.25 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่า จะหดตัวลงร้อยละ 4.35) เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.89 (YoY) อนึ่ง การส่งออกที่ไม่นับรวมทองคำ หดตัวลงร้อยละ 6.0 (YoY) ในเดือนพ.ค. พลิกจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 (YoY) ในเดือนเม.ย.

การส่งออกไทยเดือนพ.ค.2556…กลับมาหดตัวมากกว่าที่คาดอีกครั้ง

ภาพรวมการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.2556 พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 5.25 (YoY) โดยมีมูลค่าส่งออก 19,830 ล้านดอลลาร์ฯ ตามการหดตัวของมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน ที่หดตัวร้อยละ 16.31 YoY ตามสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่หดตัวร้อยละ 7.63 YoY และร้อยละ 6.89 YoY จากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 18.60 (YoY) ในเดือนพ.ค. (เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 8.29 YoY ในเดือนเม.ย.) นำโดย การส่งออกข้าว ยางพารา กุ้ง ไก่ และน้ำตาล ที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ 0.15 (YoY) เป็นผลมาจากมูลค่าส่งออกในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก รวมทั้งเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สามารถรักษาอัตราการขยายตัวไว้ได้

ด้านการนำเข้าในเดือนพ.ค. มีมูลค่า 22,135 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงร้อยละ 2.14 (YoY) (เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 8.91 YoY ในเดือนเม.ย.) ตามการหดตัวลงของการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ที่ร้อยละ 1.90 (YoY) และร้อยละ 7.12 (YoY) ตามลำดับ ทั้งนี้ ตัวเลขตามฐานศุลกากร ไทยบันทึกยอดขาดดุลการค้าต่อเนื่องที่ 2,304 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค. จากที่ขาดดุล 4,141 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเม.ย.

แนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลัง : ทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังไม่แน่นอน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน (ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกสูงเป็นอันดับ 1 ที่ร้อยละ 11.7 ของการส่งออกรวมของไทย) ที่ลากยาวกว่าที่หลายฝ่ายได้ประเมินไว้นั้น มีผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย ทำให้หากเศรษฐกิจจีนยังคงมีภาพที่ซบเซาต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังแล้ว สินค้าส่งออกหลายรายการของไทยก็อาจต้องเผชิญกับภาวะที่ยากลำบากมากขึ้น ขณะที่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะยังคงมีแรงกดดันต่อเนื่องต่อไป โดยจากการวิเคราะห์สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังจีน 20 อันดับแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กว่าครึ่งของสินค้าทั้งหมดที่มีจีนเป็นตลาดหลักอันดับหนึ่ง เป็นสินค้าในกลุ่มเกษตรและวัตถุดิบขั้นกลาง ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมากกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลุ่มสินค้าเกษตรเป็นกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสัญญาณที่อ่อนแอของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะการส่งออกยางพารา ที่เดิมก็ประสบปัญหาสต็อกยางพาราของจีนที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ขณะที่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งนั้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบบ้างจากความซบเซาต่อเนื่องของอุปสงค์ในจีน แต่เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าที่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานและเป็นกลุ่มสินค้าอาหาร จึงน่าจะทำให้ผลกระทบอยู่ในระดับที่รุนแรงน้อยกว่า

ส่วนข้าวนั้น แม้ว่าข้าวไทยจะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในจีน แต่จากการที่จีนเป็นตลาดส่งออกข้าวหลักของไทยในแถบเอเชียและเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ทำให้ภาพรวมของการส่งออกข้าวของไทย อาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประกอบภาพเข้ากับการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (แม้ว่าราคาขายข้าวไทยในตลาดโลกจะมีแนวโน้มลดลง หลังมีการปรับลดราคารับจำนำข้าวขาวความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ลง) และปริมาณสต็อกข้าวในโลกที่เพิ่มขึ้นมากตามผลผลิตของประเทศคู่แข่งสำคัญทั้งอินเดียและเวียดนาม

• ส่วนกลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นกลาง อาทิ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากความซบเซาในภาคอุตสาหกรรมของจีนเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดรถยนต์จีนซึ่งเริ่มมีสัญญาณชะลอลง ขณะที่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมทั้งแผงวงจรไฟฟ้า ที่เดิมก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจีนไปยังประเทศเอเชียอื่นอยู่แล้ว ก็อาจเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีท่ามกลางสัญญาณการชะลอตัวของภาคการผลิตในจีน

โดยสรุป การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.2556 ที่หดตัวลงอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ (โดยเฉพาะจีน) มากขึ้น ประกอบกับการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญบางรายการ ก็ยังคงเผชิญความยากลำบากในการฟื้นตัวตลอดช่วงครึ่งแรกของปี

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่ครึ่งหลังของปี 2556 นั้น แม้เงินบาทที่กลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาคมากขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการส่งออกของไทยลงไปบ้าง แต่ปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตที่ยังคงมีผลต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตของสินค้าบางประเภท ผนวกกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน (ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็คงส่งผลกระทบต่อการค้าในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพของไทย ให้ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน) น่าจะส่งผลทำให้การฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังล่าช้ากว่าที่คาดไว้เดิม ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในปี 2556 ลงมาที่ร้อยละ 4.0 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 7.0 ซึ่งอาจส่งผลทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเผชิญความเสี่ยงที่จะพลิกกลับมาบันทึกยอดขาดดุล หลังจากที่เกินดุลต่อเนื่องตลอดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

โดยในช่วงครึ่งปีหลัง สินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ รวมไปถึงกลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์ น่าจะยังสามารถประคองมูลค่าการส่งออกให้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีจากผลของการลงทุนสาธารณูปโภคในญี่ปุ่นและเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV เช่นเดียวกับสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปยังประเทศอาเซียนที่มีการขยายฐานการผลิตของค่ายรถใหญ่ อาทิ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเมื่อรวมกับอุปสงค์รถยนต์นั่งในตลาดหลักและตลาดศักยภาพ ทั้ง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการลดสัดส่วนการส่งออกเพื่อเร่งตอบสนองต่อความต้องการในประเทศที่เร่งตัวสูงจากผลของมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ก็น่าจะช่วยให้สินค้าหมวดนี้ยังสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวได้

อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปหลายประเภท อาจต้องเผชิญกับสภาวะที่ยากลำบากมากขึ้น อาทิ ข้าว ที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา น้ำตาลที่ประสบปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงเนื่องจากสต็อกคู่แข่งในตลาดโลกที่ค่อนข้างมาก ขณะที่ ยางพารา ก็ประสบปัญหาสต็อกคู่ค้าสำคัญที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งที่ประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต ซึ่งภาวะดังกล่าว อาจส่งผลต่อเนื่องมายังภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556